วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การศึกษาสร้างคนคนสร้างชาติ

ช่วงวัยอนุบาลถึงม.ต้น คือ วัยค้นคว้าอิสระ ซุกซน เรียนรู้โลกกว้าง เกรดเป็นเพียงสะท้อนความรับผิดชอบของเด็กระดับหนึ่งเท่านั้น มิได้ใช้ทำอะไรได้อย่างจริงจัง เวลาสมัครงานสมัครทุนไม่เคยมีคนสอบถามเกรดสมัยอนุบาล ประถม และ ม.ต้น สักราย...แต่ทำไมบ้านเราจึงให้เด็กแข่งขันกันมาก เรียน เรียน เรียน สาระมากมาย "ความรู้ท่วมหัว" แล้วเอาตัวรอดรึเปล่า? กระทั่งเด็ก ๆ แทบไม่มีพท.ว่างในสมองสำหรับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการกันเลย

ช่วง 15 ปีแรกจึงจำเป็นที่พ่อแม่ควรจะเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาว่ามีแววทางไหนเพื่อส่งเสริมให้เขาไปถูกทาง เช่น ถ้าลูกชอบตีกอล์ฟ และทำได้ดีก็อาจจะส่งไปเรียนกับโปรดัง ๆ เก่ง ๆ หรือฝากตัวเป็นศิษย์ของไทเกอร์วู๊ดไปเลย ถ้าลูกเก่งศิลปะก็พาไปฝากตัวกับอ.เฉลิมชัย เป็นต้น เพราะปลายทางของการศึกษา คือ การได้ทำงานที่เขารัก เขาถนัด เขาชอบ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ปกครองและโรงเรียนจะต้องช่วยกันวางแผนจัดการศึกษาอย่างถูกทิศทาง

เวลามีจำกัดอย่าให้เด็กเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จัดการวัดแววเด็ก ๆ เป็นช่วง ๆ ก็ไม่เลวนะคะ...ฟินด์แลนด์ยังกล้าเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่ล่าสุด ไม่มีวิชาบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งอาจเหมาะกับบริบทของเขาที่พัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่ประเทศไทยก็ควรทบทวนการจัดการเรียนการสอนเช่นกันว่าที่เป็นอยู่ ณ วันนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เพียงใด

ตัวอย่างในประเทศไทย การเรียนการสอนของ โรงเรียนสัตยาไส ภายใต้ระบบคิดและแนวทางการบริหารการศึกษาโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำเนินการมาแล้ว 17 ปี เน้นการเรียนที่เด็กมีความสุข มีสติ มีสมาธิในการเรียน เป็นตัวอย่างการเรียนการสอนแนวใหม่ที่น่าสนใจ สามารถเป็นต้นแบบได้เลย มีโรงเรียน 57 แห่ง จาก 35 ประเทศ นำแนวคิดและระบบการศึกษาแบบโรงเรียนสัตยาไสไปเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนของเขาเช่นกัน ล่าสุดขยายไป 50 ประเทศแล้ว

เหล่านี้คือตัวอย่างของความพยายามฉีกกฎเดิม ๆ ที่ขังความคิดและจินตนาการของเด็ก ๆ มาตลอด ถึงเวลาแล้วที่เขาควรมีอิสระทางความคิดและสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างเต็มที่ ฉันยังคงเชื่อในคำพูดของ A.Einstein ว่า "Imagination is more important than knowledge" จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ #มาช่วยออกแบบการศึกษาของชาติกันเถอะค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น