วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หินก้อนนั้นน่ะก้อนไหน

เคยอ่านเจอ และล่าสุดได้ฟังคลิปที่คุณฌอน พูด ซึ่งก็คือเรื่องเดียวกัน สาระสำคัญของเรื่อง คือ...

ของสิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ขึ้นกับคนที่มอง คนที่ตัดสิน รวมถึงสถานที่ที่มันปรากฏอยู่

หินก้อนหนึ่ง ดูว่าน่าจะมีค่า มีราคา ถ้าอยู่ในตลาด ค่าของมันก็จะประมาณหนึ่ง เช่น คนอาจจะให้ราคา 200 บาท

หินก้อนเดียวกัน ถ้าเอาไปวางในพิพิธภัณฑ์ คนมองอาจประเมินค่าว่ามันเป็นของเก่าแก่ โบราณ หายาก คนนั้นอาจประเมินค่าของมันสูงถึง 200000 บาท

หินก้อนเดียวกัน ถ้าเอาไปวางในร้านเพชร ถ้ามันได้รับการเจียระไน มันอาจมีมูลค่าสูงมาก คนจึงประเมินค่าหินก่อนนี้ 2 ล้านบาท

หินก้อนเดียวกัน ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างคนมอง ต่างสถานที่ ถูกตีความ และให้ความหมายให้คุณค่าต่างกัน

ฉันฟังเรื่องนี้ คิดเชื่อมโยงได้หลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งอาจหมายถึง "คน" ที่เป็น Talent ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ฉันเคยได้ยินมาว่า สิ่งหนึ่งที่จะรักษาคนลักษณะ Talent เอาไว้ได้ผู้นำจะต้อง 1) มีความยุติธรรม 2) มีความสามารถ และ 3) มีคุณธรรม

ถ้าองค์กรวางคนลักษณะ Talent ไว้ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา องค์กรจะพัฒนาไปไกลมาก

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ฟองสบู่ลดโลกร้อน

หลายวันก่อน ขับรถกลับจากทำภารกิจสำคัญ ขณะจอดไฟแดงแถว central มีรถคันนึง ป้ายทะเบียน กทม. จู่ ๆ ก็ลงกระจก (ราว 10 cm.) ดิฉันจอดใกล้ ๆ เลยมองอย่างใจจดใจจ่อว่ารถคันนั้นจะทำอะไร...สักพัก มีลูกโป่งน้ำ ลูกเล็ก ลูกใหญ่ ลูกกลาง ลอยละล่องออกมาจากทางด้านคนขับ แสดงว่าคนขับเป็นคนเป่าลูกโป่งเล็ก ๆ เหล่านั้น มันลอยผ่านทางด้านข้างรถฉัน สายตาของรถที่ติดไฟแดงมองตามลูกโป่งไป...บรรยากาศที่ร้อนระอุช่วงเกือบ 3 โมง ลดอุณหภูมิลงทันที แล้วรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของฉันก็ดังออกมาสะเทือนรถทันที ช่างน่ารักอะไรปานนั้น...ฉันขอบคุณคนขับท่านนั้นที่ช่วยสร้างสีสันในชีวิตช่วงรถติดไฟแดงอันแสนน่าเบื่อ ทำให้กลายเป็นช่วงเวลาที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งนัก...คนขับคันนั้นเป่าลูกโป่งออกมาไม่นาน (ราว ๆ 10 ลูก) เขาก็รีบปิดกระจก...นึกถึงประโยคนี้ขึ้นมาเลย #มาทำให้อยากแล้วจากไป 555

ที่สุดของที่สุด

คมธรรมประจำวัน by ท่าน ว.วชิรเมธี
1.คนที่จริงใจที่สุด...จะคบเพื่อนน้อยที่สุด
2.คนที่ฉลาดที่สุด...จะอวดฉลาดน้อยที่สุด
3.คนที่เก่งที่สุด...จะหวงวิชาน้อยที่สุด
4.คนที่ใจกว้างที่สุด...จะทำดีเอาหน้าน้อยที่สุด
5.คนที่เห็นค่าตัวเองที่สุด...จะเรียกร้องน้อยที่สุด
6.คนที่ผลงานดีที่สุด...จะวิจารณ์น้อยที่สุด
7.คนที่พัฒนาเร็วที่สุด...จะ ego น้อยที่สุด
8.คนที่เป็นอิสระที่สุด...จะแคร์คนอื่นน้อยที่สุด
9.คนที่รวยที่สุด...จะโอ้อวดน้อยที่สุด
10.คนที่มีความสุขที่สุด...จะใช้ชีวิตยุ่งยากน้อยที่สุด

ผู้หญิง...อย่าหยุดสวย

ฟังรายการสนทนาเกี่ยวกับความงาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของรพ.แห่งหนึ่งออกรายการให้ความรู้แก่บรรดาคนรักสวยรักงาม ข้อมูลใหม่ที่ฉันเพิ่งทราบ คือ ปริมาณของครีมกันแดดที่เหมาะสมและถูกต้องเท่ากับ 1 ช้อนชา ที่ผ่านมา หลายคนเป็นฝ้าเพราะอาจทาในปริมาณที่น้อยเกินไปจึงไม่สามารถปกป้องได้ คุณหมอบอกว่าถ้าทำงานอยู่แต่ใน office SPF 30 เอาอยู่ค่ะ แต่ถ้าต้องออกกลางแจ้ง ควรใช้ SPF สูงกว่านั้นยิ่งสูงยิ่งดี คุณหมอบอกว่าควรเลือกที่กัน UVA ได้ด้วย คนมักเข้าใจผิดว่าใช้เครื่องสำอางตัวนั้น 30 ตัวนี้ 15 ตัวนี้ 20 แล้วมันจะไปผสมกันเองแล้วเพิ่มค่า SPF ขึ้นมา อันนั้นคิดผิดนะคะ ต้องเลือกที่มีค่า SPF เหมาะสมเลยจ้า ทิ้งท้ายเกี่ยวกับครีมกันแดด คุณหมอคนสวยบอกว่า กลางคืนไม่ต้องใช้กันแดดนะคะ ไม่ต้องใช้เครื่องสำอางที่มี SPF เพราะมันจะสิ้นเปลืองและหนักหน้าเปล่า ๆ เขาจึงผลิตแยกกันเป็นตัวกลางวัน (Day cream) กับ กลางคืน (Night cream) ยังงัยละจ้าทุกคน

พระอนุรุทธะ #1

เมื่อวานฟังธรรมะจากพระไตรปิฎก แสดงธรรมโดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านเล่าเรื่อง บุรพกรรมของพระอนุรุทธะผู้เลิศด้วยทิพยจักขุญาณ ท่านเล่าว่า...

ชาติหนึ่งพระอนุรุทธเคยเกิดเป็นคนธรรมดา ยากจนเข็ญใจ เป็นข้าทาสรับใช้ในบ้านของเศรษฐีผู้ใจบุญท่านหนึ่งนามว่า “อันนภาระ”

วันหนึ่ง “อันนภาระ” ออกไปทำงาน ภรรยาได้คดข้าวไปให้ เป็นอาหารของคนยากจนที่ไม่ได้มีอะไรวิเศษนัก หวังเพียงให้สามีมีกำลังพอที่จะใช้แรงงานทำการงานของบ่าวผู้รับใช้นายตามแต่นายจะสั่งให้ทำอะไร โดยมากก็จะเป็นงานแบกหาม และงานใช้กำลังกายเสียส่วนใหญ่

วันนั้นเอง ขณะที่ “อันนภาระ” ออกไปทำงาน ระหว่างทางก็ไปพบกับพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านหนึ่ง พระองค์ทรงวินิจฉัยแล้วว่าจะมาโปรดบุรุษเข็ญใจผู้นี้ จึงออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วเหาะมายังป่าที่ “อันนภาระ” ทำงาน

“อันนภาระ” พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็อดที่จะตื้นตันใจไม่ได้ จึงคิดว่าเป็นโชคดีของเราแล้วที่พบพระองค์ ในชาตินี้ไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสดีแบบนี้อีกหรือไม่ จึงได้นำห่อข้าวที่ภรรยาเตรียมให้ไว้กินขณะอยู่ในป่า ใส่บาตรถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า โดยที่ไม่คิดเลยว่าตนเองจะอดตายในป่าเพราะได้ถวายอาหารไปจนหมดสิ้น  ขณะใส่บาตรก็ได้อธิษฐานในใจว่า ชาตินี้ข้าพเจ้ายากจนเข็ญใจยิ่งนัก ไม่มีเงินทอง ทรัพย์สินใด ๆ เลย แร้นแค้นฝืดเคืองยิ่งนัก นับจากนี้ขอให้ข้าพเจ้าจงอย่าพบเจอกับคำว่า "ไม่มี" อีกเลยในทุกภพทุกชาติ

พระอนุรุทธะ #2

สิ้นคำอธิษฐานของ "อันนภาระ" พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้กระทำอนุโมทนาว่า “ขอความปรารถนาของท่านจงเป็นอย่างนั้นเถิด ท่านผู้มีบุญมาก” แล้วท่านก็หลีกไป และด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้านี้เอง จึงส่งผลให้บุญเกิดขึ้นทันทีในภพชาติปัจจุบัน

เทวดาที่ประจำบ้านเศรษฐีก็กล่าวคำอนุโมทนาสาธุดังออกมาจนท่านเศรษฐีได้ยิน ท่านเศรษฐีผู้เป็นนายสงสัยว่าอันนภาระทำบุญใดหนอที่ทำให้เทวดาทั้งหลายกล่าวคำสาธุการออกมา เราผู้เป็นเศรษฐี ทำบุญมามากมายแต่ไม่เคยได้ยินเทวดาเปล่งวาจาสาธุการออกมาเลย จำต้องไปสอบถามบ่าวผู้นี้ให้รู้ความ

เศรษฐีจึงเรียกอันนภาระมาสอบถาม อันนะภาระเล่าไปตามความจริง แล้วเศรษฐีก็คิดว่าจะขอบุญทั้งหมดจากอันนะภาระมาเป็นของตน โดยจะมอบเงินทองทรัพย์สินให้เป็นการตอบแทน เศรษฐียื่นข้อเสนอให้เท่าใด อันนะภาระก็ปฏิเสธทุกครั้งแม้ว่าจะเป็นจำนวนมหาศาลก็ตาม

อันนภาระด้วยความที่เป็นบ่าว จึงตอบแก่ท่านเศรษฐีไปว่า ข้าทำบุญไปแล้วด้วยทุกอย่างที่ข้ามี ข้าตั้งใจถวายแด่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าไม่สามารถยกบุญนี้ทั้งหมดให้แก่ท่านได้ เศรษฐีจึงเสนอว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงแบ่งบุญของท่านส่วนหนึ่งให้กับเราเถิด

อันนภาระได้ยินก็เกิดความสงสัยจึงกล่าวกับเศรษฐีว่า อันนี้ข้าไม่มีความรู้ว่าให้ท่านได้หรือไม่ ข้าขอไปสอบถามพระปัจเจกพุทธเจ้าก่อน ท่านคงยังเดินไปไม่ไกลนัก ทราบความอย่างไรแล้วข้าจะมาบอก

พระอนุรุทธะ #3

ด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีญาณหยั่งรู้กาลเบื้องหน้าทราบว่าภายหลังการใส่บาตรของอันนภาระแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ท่านจึงรีรออยู่ในป่าละแวกนั้น มิได้เหาะกลับไปยังทีพำนักเดิมของท่านตามปกติวิสัย

อันนภาระเดินตามมาท้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้เรียนถามท่านไปว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เศรษฐีผู้เป็นนายของข้าพระองค์มีความปรารถนาบุญส่วนหนึ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าทำโดยการใส่บาตรแก่พระองค์ไปเมื่อสักครู่ ข้าพระองค์สามารถแบ่งบุญส่วนหนึ่งให้แก่ท่านเศรษฐีได้หรือไม่พระพุทธเจ้าข้า"

พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอันนภาระ ท่านเคยเห็นแสงจากไต้หรือตะเกียงใช่หรือไม่ เมื่อมีคนเอาคบมาจุดต่อ ๆ กันไป คนแล้วคนเล่า ไต้/ตะเกียงนั้นยังสว่างดีอยู่หรือไม่" อันนภาระตอบไปว่า ยังสว่างพระพุทธเจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงตรัสต่อว่า บุญที่ท่านทำแก่เราในวันนี้ก็เช่นกัน ดุจแสงสว่างจากไต้/ตะเกียงที่โชติช่วง แม้จะมีคนมาขอแบ่งบุญ หรือ ท่านจะยกบุญส่วนนี้ให้กับผู้ใดก็ตาม บุญนั้นก็ยังคงอยู่กับท่านเช่นเดิมมิได้ลดลงเลย หากแต่บุญส่วนหนึ่งที่ท่านแบ่งให้กับผู้อื่นต่อ ๆ ไปนั้น ผู้ที่รับบุญนั้นจากท่านก็จะไปทำบุญทำกุศลต่อ ทำความสว่างกับจิตใจ ทำความดีงามแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นไม่จบสิ้นเช่นกัน จึงเสมือนแสงสว่างที่ค่อย ๆ สว่าง แผ่กว้างออกไปนั่นเอง"

ได้ยินดังนั้น อันนภาระผู้มีความจงรักภักดีต่อนาย จึงรีบกลับไปบอกท่านเศรษฐีด้วยความยินดี