วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การศึกษาสร้างคนคนสร้างชาติ

ช่วงวัยอนุบาลถึงม.ต้น คือ วัยค้นคว้าอิสระ ซุกซน เรียนรู้โลกกว้าง เกรดเป็นเพียงสะท้อนความรับผิดชอบของเด็กระดับหนึ่งเท่านั้น มิได้ใช้ทำอะไรได้อย่างจริงจัง เวลาสมัครงานสมัครทุนไม่เคยมีคนสอบถามเกรดสมัยอนุบาล ประถม และ ม.ต้น สักราย...แต่ทำไมบ้านเราจึงให้เด็กแข่งขันกันมาก เรียน เรียน เรียน สาระมากมาย "ความรู้ท่วมหัว" แล้วเอาตัวรอดรึเปล่า? กระทั่งเด็ก ๆ แทบไม่มีพท.ว่างในสมองสำหรับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการกันเลย

ช่วง 15 ปีแรกจึงจำเป็นที่พ่อแม่ควรจะเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาว่ามีแววทางไหนเพื่อส่งเสริมให้เขาไปถูกทาง เช่น ถ้าลูกชอบตีกอล์ฟ และทำได้ดีก็อาจจะส่งไปเรียนกับโปรดัง ๆ เก่ง ๆ หรือฝากตัวเป็นศิษย์ของไทเกอร์วู๊ดไปเลย ถ้าลูกเก่งศิลปะก็พาไปฝากตัวกับอ.เฉลิมชัย เป็นต้น เพราะปลายทางของการศึกษา คือ การได้ทำงานที่เขารัก เขาถนัด เขาชอบ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ปกครองและโรงเรียนจะต้องช่วยกันวางแผนจัดการศึกษาอย่างถูกทิศทาง

เวลามีจำกัดอย่าให้เด็กเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จัดการวัดแววเด็ก ๆ เป็นช่วง ๆ ก็ไม่เลวนะคะ...ฟินด์แลนด์ยังกล้าเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่ล่าสุด ไม่มีวิชาบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งอาจเหมาะกับบริบทของเขาที่พัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่ประเทศไทยก็ควรทบทวนการจัดการเรียนการสอนเช่นกันว่าที่เป็นอยู่ ณ วันนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เพียงใด

ตัวอย่างในประเทศไทย การเรียนการสอนของ โรงเรียนสัตยาไส ภายใต้ระบบคิดและแนวทางการบริหารการศึกษาโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำเนินการมาแล้ว 17 ปี เน้นการเรียนที่เด็กมีความสุข มีสติ มีสมาธิในการเรียน เป็นตัวอย่างการเรียนการสอนแนวใหม่ที่น่าสนใจ สามารถเป็นต้นแบบได้เลย มีโรงเรียน 57 แห่ง จาก 35 ประเทศ นำแนวคิดและระบบการศึกษาแบบโรงเรียนสัตยาไสไปเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนของเขาเช่นกัน ล่าสุดขยายไป 50 ประเทศแล้ว

เหล่านี้คือตัวอย่างของความพยายามฉีกกฎเดิม ๆ ที่ขังความคิดและจินตนาการของเด็ก ๆ มาตลอด ถึงเวลาแล้วที่เขาควรมีอิสระทางความคิดและสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างเต็มที่ ฉันยังคงเชื่อในคำพูดของ A.Einstein ว่า "Imagination is more important than knowledge" จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ #มาช่วยออกแบบการศึกษาของชาติกันเถอะค่ะ

รูปแบบการปกครองของผู้นำ

รูปแบบการปกครองของผู้นำ ผู้ปกครองบ้านเมือง และนักปกครองทั่วไป อาจแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
#อัตตาธิปไตย ความคิดของผู้นำเป็นใหญ่ ตัดสินใจเพียงเพราะความคิด ความเชื่อของผู้นำเป็นสำคัญ
#โลกาธิปไตย ตัดสินใจตามสถานการณ์ของโลก บางครั้งอาจมีอคติเพียงเพราะเชื่อตามกระแส ฝั่งไหนมีชัยเหนือกว่าก็เลือกยืนข้างฝั่งนั้น
#ธรรมาธิปไตย ผู้นำที่ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณธรรมนำทางในการตัดสินใจ
**สรุปความจากธรรมะ ท่าน ว.วชิรเมธี**

มหา'ลัยเหมืองแร่ ...มหาวิทยาลัยชีวิต#1

งานเขียนดีเด่นของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534 จังหวัดนครปฐม เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์จริงของหนุ่มวิศวะ จุฬาฯ ที่ถูก retire ปี 2 จากรั้วมหาวิทยาลัย...แต่ชีวิตของเขานอกรั้วเพิ่งเริ่มต้น เขาไปทำงานในเหมืองแร่ ได้เรียนรู้อะไรมากมาย มากกว่าประสบการณ์และความรู้ในห้องเรียน เพราะโลกแห่งความจริงช่างกว้างใหญ่และมีอะไรให้เรียนรู้ น่าค้นคว้า ชวนติดตาม กระทั่งงานเขียนเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์โดย GMM ปี 2548 ทำให้อาจินต์ วัย 77 ปี หวนมาพบกับไข่ วัย 73 ปีอีกครา ความทรงจำของพวกเขาที่เหมืองแร่ แม้จะเกิดขึ้นมานานหลายสิบปี แต่สำหรับเขา...เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน...เหมืองแร่ จึงเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตของอาจินต์ ที่เสี้ยวหนึ่งในชีวิตของเขาถูกบันทึกไว้ที่นั่น **Sometimes the highest learning must be found in the ground beneath your feet.**
.......................................................
ยิ้ม ทองเจริญ :)

ก้านกล้วย ตอน หน้าที่พลเมือง

วันหยุดยาว มีโอกาสดูภาพยนตร์หลายเรื่อง ตั้งใจว่าจะดูวันละ 1 เรื่อง สำหรับวันนี้ในหัวมี 2 ตัวเลือก คือ zootopia กับ ก้านกล้วย 2 ตัดสินใจเลือกดูก้านกล้วยเพราะเคยดูภาคแรกในโรงภาพยนตร์มาแล้ว แล้วก็ไม่ผิดหวัง

ก้านกล้วยเป็นการ์ตูน animation ฝีมือคนไทยที่ไปเรียนด้านนี้จากสหรัฐฯ ทีมงานภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสได้ร่วมงานกับนักสร้างภาพยนตร์ลักษณะนี้ของต่างประเทศหลายเรื่อง กระทั่ง "กันตนา" ได้ทาบทามพวกเขามาร่วมงานกัน เพื่อสร้างผลงานอันทรงคุณค่าและเผยชีวประวัติช้างทรงของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินอโยธยา ทำให้ภาพยนตร์ "ก้านกล้วย" ได้ปรากฏสู่สายตาผู้ชมอย่างมีสีสัน สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ ราวกับพวกเขามีชีวิตจริง

ต่อจากภาคแรก ก้านกล้วยเข้ามาเป็นทหารรับใช้พระองค์ดำอย่างเต็มตัว มียศเป็นเจ้าพระยาปราบหงสา    ก้านกล้วยมีภรรยาแล้ว คือ ชบาแก้ว ช้างสีชมพูหน้าตาจิ้มลิ้มสะสวยทัดดอกลีลาวดีสีขาวบนหูตลอดเวลา ขนตางอน ขี้อาย เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ทั้งสองครองรักกัน กระทั่งก้านกล้วยรับใช้ราชการในงานศึกทุกเมื่อเชื่อวัน จนลืมให้เวลากับคนรัก ชบาแก้วอยู่บ้านอย่างว้าเหว่จึงตัดสินใจหนีออกมาเพื่อไปคลอดลูกต่างเมือง ก้านกล้วยตามมาทันได้ทัดทานเอาไว้ แต่ก็มีทหารมาตามให้ไปทำหน้าที่ มารดาของก้านกล้วยจึงอาสาตามไปดูแลชบาแก้วให้ เพื่อมิให้ก้านกล้วยเป็นห่วงและต้องละทิ้งหน้าที่ของลูกผู้ชายที่ต้องรับใช้บ้านเมือง

ชบาแก้วมีลูกแฝด ชื่อต้นอ้อ กับ กอแก้ว ทั้งสองเป็นเด็กน่ารักซุกซนมีเพื่อนช้างหลายตัวเป็นเพื่อนเล่น แต่ละวันผ่านไปอย่างสนุกสนาน กระทั่งวันหนึ่งทหารหงสาบุกเข้ามาจับตัวชาวบ้านไปเป็นแรงงานเพิ่ม ชบาแก้วและเด็ก ๆ จึงหนีตาย ในที่สุดคุณยายก็ต้องจากพวกเด็ก ๆ ไปเพราะเสี่ยงชีวิตช่วยเด็ก ๆ ไว้

ก้านกล้วยทราบความทั้งหมดจึงทนดูต่อไปไม่ได้ จึงตัดสินใจเลือกระหว่างภารกิจบ้านเมืองกับครอบครัวที่กำลังจะตายกันหมด และแล้วก้านกล้วยก็เลือกครอบครัว ยอมทำผิดต่อหน้าที่ทหาร จึงได้ออกเดินทางไปช่วยครอบครัวในเมืองหงสาตามลำพัง

เรื่องราวดำเนินไปอย่างเข้มข้น กองทัพของพระองค์ดำก็เคลื่อนทัพมาปักหลักอยู่แถบประตูเมืองหงสาเช่นกัน ก้านกล้วยช่วยครอบครัวไว้ได้อย่างทุลักทุเล เขาจึงตัดสินใจเข้าไปมอบตัวกับทางการเพื่อรับโทษที่หนีกองทัพในยามศึกสงคราม ซึ่งตามกฏต้องโทษประหารสถานเดียว แต่ด้วยบุญบารมีที่ก้านกล้วยและพระองค์ดำมีต่อกัน จึงทำให้มีเหตุการณ์สำคัญที่ก้านกล้วยได้ช่วยชีวิตพระองค์ดำให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารเอกหงสาไว้ได้อีกครา ก้านกล้วยจึงได้รับการปูนบำเหน็จและคืนยศให้เป็นเจ้าพระยาปราบหงสาดังเดิม

☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆
ยิ้ม ทองเจริญ :)

ถุงเท้านักเรียน

สมัยก่อนถุงเท้านักเรียนมีสีขาวล้วน (ทั้งด้านบนและล่าง) ตอนใส่น่ะไม่มีปัญหาหรอก แต่ซักสิคะ..ซักยากมากเพราะด้านล่างที่เป็นสีขาวจะกลายเป็นสีดำชนิดที่ว่าต้องแช่น้ำยาซักผ้าขาวกันทั้งคืน ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหานี้ ผู้ผลิตจึงพร้อมใจกันผลิตถุงเท้าที่ด้านบนมีสีขาว (ถูกระเบียบ) แต่ด้านล่างมีสีดำ/เทาเข้มแทน  กรณีศึกษานี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ แก้ปัญหาได้ตรงจุด หรือ ภาษาพูดของนักวิชาการที่เรียกว่า "เกาถูกที่คัน" นั่นเอง ฉันจึงเทียบเคียงว่า ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองมองเห็นปัญหาแล้วเอาไปขบคิดแก้ไข ไม่ว่าปัญหาเล็ก หรือ ใหญ่ ล้วนมีความสำคัญกับประชาชน บางทีผู้ใหญ่อาจมองว่าเป็นปัญหาเล็ก แต่กับประชาชนตัวเล็กๆ มันอาจเป็นปัญหาใหญ่ของเขาก็ได้ ดังเช่น ถุงเท้านักเรียน

มหา'ลัยเหมืองแร่_มหาวิทยาลัยชีวิต#2

ดูภาพยนตร์เรื่อง มหา'ลัย เหมืองแร่เมื่อหลายวันก่อน ฉากหนึ่งที่สะเทือนใจ คือ ชาวบ้าน (ดูเหมือนเป็นคนป่า คนพื้นเมือง) มาแจ้งว่าเพื่อนของเขาถูกมีดฟัน ได้รับบาดเจ็บ เลือดไหลไม่หยุด จึงรีบวิ่งมาหา "อาโก" เถ้าแก่ร้านโชห่วย ประจำหมู่บ้าน มาถึงก็รายงานปัญหา แล้วก็บอกว่าเขาไม่มีเงินหรอกแต่ได้ยากลับไปแล้วจะเอาของป่าที่เขาหาได้มาแลก

อาโกก็ตกลง แล้วรีบไปรื้อค้นยาสามัญประจำบ้านที่พอจะรักษาอาการเบื้องต้นที่ว่ามา ไปเจอยาแดงฝุ่นเขรอะอยู่กล่องหนึ่ง อาโกรีบปัดฝุ่น แล้วก็มีรอยยิ้มเล็ก ๆ ผุดขึ้นมา คิดในใจว่าคงพอรักษาได้ ทางฝั่งอาจินต์ หนุ่มวิศวะ ที่เข้ามาทำงานในเหมืองแร่ ที่อยู่ในเหตุการณ์ทนดูไม่ได้ จึงเอ่ยปากกับอาโกว่า "นี่แน่ะอาโก...ผมว่ายาแดงนั่นมันหมดอายุแล้วนะ อย่าให้เขาไปเลย" อาโกสวนกลับว่า "ลื้อไม่รู้อาราย...ในป่าในเขาแบบนี้ มีแค่นี้ก็หรูแล้วล่ะ ให้มันเอาไปรักษาก่อน" แล้วอาโกก็ส่งกล่องยาแดงให้ไปทั้งกล่อง (ราว 10 ขวด)

วันรุ่งขึ้น คนป่ารีบมาหาอาโกตั้งแต่เช้า พร้อมกับเอาของป่าที่หาได้มาเป็นค่ายาตามสัญญา เขามีสีหน้าระรื่น แจ่มใส อาโกจึงถามว่า เลือดหยุดไหลมั้ย มันหายดีรึยัง คนป่าตอบว่า เลือดหยุดแล้ว ขวดแรกใช้ล้างแผล ส่วนขวดที่เหลือก็กินเข้าไป เลือดหยุดเลย อาโก และ อาจินต์ ฟังแล้วถึงกับอึ้งในคำตอบที่ได้รับ...อาจินต์หันไปมองหน้าอาโก แล้วพูดว่า "กินยาแดงเข้าไปเนี่ยนะ" แล้วคนป่าก็รีบออกไปด้วยท่าทางร่าเริง หารู้ไม่ว่ากลับไปบ้านเขาอาจเจอชะตากรรมอีกแบบ

พอคนป่าคล้อยหลังไป ภาพตัดมาที่อาโกกำลังนั่งยอง ๆ ในมือถือธูปกำใหญ่ หันหน้าไปทางเจ้าที่เจ้าทางที่แขวนไว้ข้างฝาบ้าน พร้อมกับนั่งอธิษฐานอะไรบางอย่าง อาจินต์เดินเข้ามาหาแล้วถามว่า "ขออะไรล่ะอาโก" อาโกหันมามองหน้าอาจินต์ด้วยสีหน้า และแววตาเศร้าสร้อย พร้อมพูดขึ้นมาว่า "เขาเอาไปกิน...ฉันได้แต่ภาวนาว่ายาแดงที่เขากินเข้าไปมันจะหมดอายุ ไม่ทำอันตรายเขา"  อาจินต์มองหน้าอาโกด้วยสีหน้าและแววตาที่ซาบซึ้งใจมาก เพราะตลอดเวลาในสายตาของเขา อาโก คือ พ่อค้าหน้าเลือดคนหนึ่ง

**กรณีศึกษานี้ ทำนองเดียวกับ กรมอุตุฯ ที่เล่าเมื่อวันก่อน เพราะในหมู่บ้านกันดารแห่งนี้ ไม่มีหมอ ไม่มีสถานีอนามัย ห่างไกลความเจริญ แค่มียาแดงก็ถือว่าร้านอาโกเจ๋งมากแล้ว แต่ยาแดงเจ้ากรรม กลับเป็นยาที่หมดอายุเพราะพวกเขาอยู่ไกลปืนเที่ยง แม้แต่ยาดี ๆ ที่จะมาใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นยังหาลำบาก...ชีวิตของคนป่า คนบนเขา ไม่มีโอกาสเลือกมากนัก...ยาแดงหมดอายุจึงดีที่สุดแล้ว...เท่าที่เขามี

♧♧♧♧♧♧♧♧♧♧♧♧♧♧
ยิ้ม ทองเจริญ :)

Zootopia-Utopia

Zootopia เมืองแห่งความสันติสุขของบรรดาสัตว์ต่างสายพันธุ์ ไม่มีการแบ่งแยก ระหว่างผู้ล่า และ เหยื่อ ทุกตัวอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ นางเอกของเรื่อง คือ กระต่ายสาวที่มีความฝันว่าจะเป็นตำรวจตั้งแต่วัยเด็ก แต่ก็ถูกสบประมาทมาโดยตลอดว่า เธอควรกลับไปปลูกแครอทตามบรรพบุรุษจะดีกว่า เพราะในประวัติศาสตร์ กระต่ายไม่เคยได้เป็นตำรวจ แม้แต่พ่อกับแม่ของเธอเองก็บอกสิ่งนี้กับเธอเช่นกัน

กระต่ายสาวผู้มีความมุ่งมั่น และไม่เคยยอมแพ้ ได้สมัครเข้าไปเรียนกระทั่งสอบได้เป็นตำรวจด้วยคะแนนอันดับหนึ่ง เธอถูกส่งไปประจำการที่เมือง zootopia เมืองที่บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ต่างก็ปรารถนาที่จะไปอาศัยที่นั่น เมืองในฝันของทุกคน

พอไปถึง กระต่ายสาวก็ได้รับการต้อนรับจากผู้บังคับบัญชาด้วยการหมางเมิน เย็นชาเพราะเธอเป็นแค่กระต่ายจะทำอะไรได้ จึงให้เธอไปเขียนใบสั่ง ขณะที่คนอื่น ๆ ได้ทำคดีสำคัญ คือ คดีที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถูกลักพาตัวนับสิบตัว

กระต่ายสาวไม่ลดละความพยายามทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กระทั่งโชคชะตาชักนำเธอไปทำคดีสัตว์หาย 1 ราย ซึ่งคดีนี้โยงใยไปถึงสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่หายไปก่อนหน้านี้ กระต่ายสาวกับสุนัขจิ้งจอกเพื่อนซี้ จึงทำคดีนี้สำเร็จ โดยเธอไปพบพวกเขาถูกขังในห้องทดลองแห่งหนึ่ง กระทั่งสามารถนำสัตว์ที่หายไปกลับมาได้ทุกตัว และพบว่านายกฯ ของเมืองนั้นเป็นผู้บงการเรื่องทั้งหมด

เรื่องมิได้จบเพียงแค่นั้น เพราะกระต่ายสาวได้ให้สัมภาษณ์ที่ผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริง จึงกลับกลายเป็นว่าเมืองที่เคยสงบสุข กลับถูกแบ่งแยก ประชากร 90% ของเมืองซึ่งเป็นกลุ่มเหยื่อต่างหวาดกลัว ประชากรผู้ล่าที่มีเพียงแค่ 10% ด้วยเกรงว่าอย่างไรเสีย ผู้ล่ายังคงเป็นผู้ล่าอยู่วันยังค่ำ สัญชาตญาณนักล่ายังคงแฝงฝังในตัวผู้ล่าของเมืองนี้ ทำให้ทั้งเมืองตกอยู่ในความหวาดกลัว แปลกแยกต่อกัน กระต่ายสาวรู้สึกผิดจึงลาออกจากการเป็นตำรวจ กลับไปบ้านเกิดช่วยพ่อแม่ทำสวนแครอท

เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เมื่อวันหนึ่งขณะกระต่ายสาวกำลังยืนขายแครอทหน้าร้าน ก็พบกับเพื่อนเก่าที่เป็นอดีตนักล่า แต่บัดนี้เขากลายมาเป็นพ่อค้าทำขนมขาย ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป เขายังเปิดเผยความลับอย่างหนึ่งในวัยเยาว์ คือ ดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดความคุ้มคลั่งได้ เป็นดอกไม้ต้องห้าม ต้องใช้อย่างระมัดระวัง กระต่ายสาวฉุกคิดขึ้นมาได้ จึงกลับไปเมือง zootopia เพื่อไขปริศนาเรื่องราวทั้งหมด ที่ว่า...

สารพิษในดอกไม้ชนิดนี้ ถูกนำมาใช้ทดลองกับสัตว์นักล่าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมานานแล้ว ให้ดึงสัญชาตญาณนักล่าออกมา เมื่อได้รับสารพิษจากดอกไม้ชนิดนี้จะเกิดความคุ้มคลั่ง วัตถุประสงค์ของผู้บงการ คือ เพื่อกำจัดสัตว์นักล่า 10% ออกไปจากเมืองนี้ให้หมดสิ้น เพราะตลอดเวลาสัตว์ที่อยู่ในฐานะเหยื่อ ถูกกดขี่ ข่มเหง และได้รับการต้อนรับในฐานะพลเมืองชั้น 2 แม้ว่าจะมีจำนวนมากถึง 90% ของประชากรทั้งหมดก็ตาม  สิ่งนี้จึงเป็นชนวนให้เกิดเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งผู้บงการตัวจริง คือ เลขาสาวของท่านนายกฯ คนก่อน ที่บัดนี้เธอขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เสียเอง

เรื่องนี้จึงสะท้อนสังคมในอุดมคติอย่าง Utopia ที่มนุษย์วาดฝันขึ้นมา ซึ่งในโลกของสัตว์ก็ปรารถนาที่จะอยู่กันอย่างสงบสุข ท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์เช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสะท้อนภาพ "พหุสังคม" ที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ ส่วนจะสามารถเดินไปถึงเมืองที่วาดฝันไว้อย่าง Utopia และ Zootopia ได้หรือไม่...คงต้องปล่อยให้เป็น "หน้าที่พลเมือง" ที่จะช่วยกันสร้างสังคมอย่างที่ว่า...ด้วยมือของทุกคน

ปมของเรื่องที่น่าสนใจ คือ นักล่า (predators) กลายสถานะมาเป็นเหยื่อ (victims) ขณะที่เหยื่อกลายสถานะมาเป็นผู้ล่าบ้าง
◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇◇
ยิ้ม ทองเจริญ :)