วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิเคราะห์ Top Down / Bottom Up

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

วิเคราะห์ทฤษฎีนโยบายสาธารณะ  (Top Down / Bottom Up)
 
ประเด็น
การบริหารจากบนลงล่าง
(Top Down)
การบริหารจากล่างขึ้นบน
(Bottom UP)
กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญ
ชนชั้นปกครอง ได้แก่ กษัตริย์
นักการเมือง ข้าราชการ และนักวิชาการ
ปัจเจกบุคคล ประชาชน
มวลชน (Mass)
องค์ประกอบ
ชนชั้นนำ
ข้าราชการ/ผู้ปฏิบัติ
ประชาชน / มวลชน
ประชาชน / มวลชน
ข้าราชการ/ผู้ปฏิบัติ
ชนชั้นนำ
ทิศทางการบริหาร
บนลงล่าง
จากชนชั้นปกครองไปสู่ประชาชนระดับล่าง
ล่างขึ้นบน
จากประชาชนไปสู่ชนชั้นปกครอง
การตอบสนองความต้องการของประชาชน /สังคม
ตอบสนองความต้องการของผู้นำ
และชนชั้นปกครอง
ตอบสนองความต้องการที่แท้จริง
จากประชาชน
เทคนิควิธีการบริหาร
4 Cs (Command Control Coordinate Communication)
การมีส่วนร่วม การตรวจสอบ
การให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)
การติดต่อสื่อสาร
อำนาจ
การรวมอำนาจ (Centralization)
ประชาชนถูกครอบงำ (Dominate)
จากชนชั้นปกครอง / ฝ่ายบริหาร
การกระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น
(Decentralization)
แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ทฤษฎีดั้งเดิม (Classical Theory)
ทฤษฎี X -Douglas McGregor
ระบบราชการ- Max Weber
One best way – Frederick W. Taylor
POCCC- Henry Fayol
POSDCORB – Gulick & Urwick
ทฤษฎียุคพฤติกรรมศาสตร์
ทฤษฎี Y-Douglas McGregor
Communitarianism - Karl Popper
Communication – Jurgen Habermas
ทางเลือกสาธารณะ (Public Choice)
ประชาพิจารณ์ (Public Opinion /
Public Hearing)
ตัวแบบที่เกี่ยวข้อง
ตัวแบบผู้นำ (Elite Model)
ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model)
ตัวแบบกลุ่มผลประโยชน์
(Interest Group)
ระบอบการปกครอง
สมบูรณาญาสิทธิราชย์
(ศักดินา /พ่อปกครองลูก) สังคมนิยม
ประชาธิปไตย / รัฐธรรมนูญ
การสื่อสาร
แบบทางเดียว / Downward
แบบสองทาง / Upward


วิพากษ์ทฤษฎีนโยบายสาธารณะ  (Top Down / Bottom Up)
หากพิจารณาองค์ประกอบหลักของ Top Down และ Bottom Up จะพบว่าเหมือนกัน คือ ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำ ข้าราชการ /เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ต่างกันตรงที่ทิศทาง (direction) ของอำนาจการบริหาร / การติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะเห็นได้ว่า Top Down ฐานอำนาจอยู่ที่กลุ่มผู้นำ (บน) ขณะที่ Bottom Up ฐานอำนาจอยู่ที่ประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ หรือ มวลชน (ล่าง) ดังภาพ
ภาพ : ทิศทางการบริหาร /การสื่อสารบนลงล่าง (Top Down) และล่างขึ้นบน (Bottom Up)
ที่มา : Web Technology, 2002

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร / การสื่อสารทั้ง 2 แบบ (Top Down / Bottom Up) เป็นไปในลักษณะคู่ตรงข้าม เช่น Top Down จะเกี่ยวข้องกับการรวมอำนาจ (Centralization) ดังจะเห็นได้จากรูปแบบการปกครองสมัยก่อน อาทิ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ระบบ   ศักดินา (Feudal System)  เทวสมมติ (Divine Rights)  และสังคมนิยม (Communism) ซึ่งสะท้อนผ่าน  ตัวแบบผู้นำ (elite model) ตัวแบบสถาบัน (institutional model) ซึ่งการบริหารลักษณะนี้ทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้นำเป็นสำคัญ ขณะที่ Bottom Up จะเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ (Decentralization) อาทิ การปกครองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งการบริหารลักษณะนี้เน้นที่การตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
หากพิจารณาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องพบว่า Top Down สัมพันธ์กับแนวคิดทฤษฎียุคดั้งเดิม (Classical Theory) เช่น ทฤษฎีระบบราชการของ Max Weber  ทฤษฎีการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ของ Frederick W. Taylor หลักการบริหาร POCCC (โดยเฉพาะ Command และ Control) ของ Henri Fayol และหลักการบริหาร POSDCORB ของ Gulick & Urwick  และทฤษฎี X ของ Douglas McGregor  ขณะที่ Bottom Up จะเกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฎีในยุคหลังจากนั้น โดยเฉพาะวิธีการศึกษายุคพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Approach) ซึ่งต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของนักปกครอง และนายจ้างจากทฤษฎีดั้งเดิม โดยหันมาเน้นที่ “คน” มากขึ้น มิได้มองคนเหมือนเครื่องจักรอีกต่อไป สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีของ Elton Mayo  Douglas McGregor (ทฤษฎี Y) ทางเลือกสาธารณะ (public choice) และ        ตัวแบบกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group)
ทั้งนี้ การบริหาร /การสื่อสารแบบ Top Down มีเทคนิควิธีการที่สำคัญ “4 Cs” ได้แก่ การสั่งการ(Command) การประสานงาน (Coordination) การติดต่อสื่อสาร (Communication) และการควบคุม (Control) ขณะที่ Bottom Up เน้นที่การมีส่วนร่วม (participation) การตรวจสอบ (checking) การให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) และการติดต่อสื่อสาร (communication) ของประชาชน/มวลชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง (empowerment)
สำหรับความพลวัตของการบริหาร / การสื่อสารจากบนลงล่าง (Top Down) พบว่ามีความโดดเด่นในอดีต / ยุคดั้งเดิม ซึ่งในปัจจุบันแม้จะลดทอนบทบาทและอำนาจการบริหารบางส่วนจากกลุ่มผู้นำลงไปบ้าง แต่ยังคงปรากฏการบริหารลักษณะนี้ในทุกประเทศและทุกระบบการปกครอง ขณะที่การบริหาร /การสื่อสารจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) พบว่าในอดีตไม่โดดเด่น เพราะประชาชนถูกครอบงำอำนาจ (Dominate) จากชนชั้นปกครอง แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเบ่งบานของระบอบประชาธิปไตยทำให้การบริหารลักษณะนี้โดดเด่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแม้เวลาและสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปแต่การบริหารและการสื่อสารทั้ง 2 ลักษณะ(Top Down / Bottom Up) ยังคงมีการนำมาใช้ให้เห็นควบคู่กันเสมอ
----------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :การวิเคราะห์และวิพากษ์ชิ้นนี้ส่วนหนึ่งในบทเรียนรายวิชาประเด็นนโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล วิเคราะห์และวิพากษ์โดย ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

น้องใหม่...ที่ใครๆ ก็อยากรับ

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
มติชนรายวัน 29 มิถุนายน 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11068

ทุกภาคการศึกษาแรกของแต่ละปีการศึกษา จะมีบรรดาน้องใหม่ (ที่ไม่แน่ใจว่าร้ายบริสุทธิ์หรือไม่) ทยอยตบเท้ากันเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ (ทั้งที่ตนเองใฝ่ฝัน ผู้ปกครองใฝ่ฝัน และที่ไม่ได้ใฝ่ฝัน) ซึ่งเป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ...ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ไม่เพียงแต่น้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น น้องใหม่ที่อื่นๆ เช่น ที่ทำงาน ที่บ้าน (ลูก/หลานคนใหม่) ก็มีคนให้ความสำคัญ (ภาษาบ้านเราเรียกว่า "เห่อ") ไม่แพ้กัน
หลายคนเรียกนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ว่า "Freshy" ความจริงแล้วภาษาอังกฤษมิได้ใช้คำนี้ ดังนั้น เพื่อความกระจ่างผู้เขียนจึงสอบถามจากเพื่อนต่างชาติซึ่งได้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้คำเรียกนักศึกษาแต่ละชั้นปี ดังนี้
น.ศ.ชั้นปีที่ 1 "Freshman" หรือ “First Year Student”
น.ศ.ชั้นปีที่ 2 "Sophomore"
น.ศ.ชั้นปีที่ 3 "Junior"
น.ศ.ชั้นปีที่ 4 "Senior"
มาถึงตรงนี้นักศึกษาบางคนที่เรียนแบบใช้โควต้าเวลาอย่างคุ้มค่า 5-8 ปี ก็อยากมีชื่อเรียกเท่ๆ กับเขาบ้างแต่น่าเสียดายที่มิได้มีการบัญญัติศัพท์ของรุ่นพี่กลุ่มนี้เอาไว้
การรับน้องใหม่เป็นประเพณีอันดีงามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รุ่นพี่-รุ่นน้องได้ทำความรู้จัก/สนิทสนม ซึ่งอาจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในอนาคต เนื่องจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวนไม่น้อยมาจากต่างที่ต่างถิ่น บางคนมาแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่รู้จักใครมาก่อนจึงอาจเกิดปัญหาในการปรับตัวช่วงแรกๆ ได้ หากมีรุ่นพี่ที่ดีคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือยามน้องมีปัญหาก็จะสามารถบรรเทาความทุกข์ร้อนของน้องใหม่ไปได้บ้าง
หรือบางสาขา/บางคณะ จะมีระบบ "พี่รหัส-น้องรหัส" (เลข 3 ตัวท้ายของรหัสนักศึกษาที่เหมือนกัน) รุ่นพี่บางคนรักและห่วงใยน้องมากเป็นพิเศษถึงกับโอนมรดก (หนังสือ/Sheets) ให้น้องรหัสต่อๆ กันมาแบบทายาทอสูรก็มี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของประเพณีการรับน้องเกิดขึ้นซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Welcome first year students"
เว็บไซต์นักเรียนนายร้อยตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงระบบรับน้อง หรือ S-O-T-U-S ที่ใช้ในปัจจุบันว่าเกิดขึ้นจากระบบอาวุโสในโรงเรียนนายร้อย Sand Hurst (โรงเรียนกินนอนของอังกฤษ) ซึ่งฝึกคนเพื่อไปปกครองอาณานิคมต่างๆ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณปี 1850 (158 ปีมาแล้ว) ต่อมาโรงเรียนทหารของสหรัฐอเมริกาจึงนำมาพัฒนาเป็นระบบโซตัสที่เข้มข้นขึ้น จนระบบดังกล่าวได้แพร่หลายไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้ประเทศไทย
โซตัส (SOTUS) มาจากตัวอักษรนำ 5 คำในภาษาอังกฤษ คือ ระบบหนึ่งของการฝึกนักศึกษา พบในสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาบางแห่ง ปกติแล้วจะนำมาใช้ในช่วงการจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการฝึกวิชาชีพ เช่น คณะวิศวะ สถาปัตย์ และเทคโน (บรรดาเด็กช่างทั้งหลาย) เป็นต้น  ซึ่งวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ได้อธิบายความหมายของอักษรทั้ง 5 ตัว ไว้ดังนี้
S ------> Seniority การเคารพผู้อาวุโส
O ------> Order การปฏิบัติตามระเบียบวินัย
T ------> Tradition การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี
U ------> Unity การเป็นหนึ่งเดียว
S ------> Spirit การฝึกจิตใจ
วิธีการรับน้องในปัจจุบันมักเลียนแบบหรือนำระบบโซตัสมาใช้ ซึ่งความเข้มข้นของแต่ละแห่งจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม และโอกาสที่จะเอื้ออำนวย จะเห็นได้ว่านับวันพฤติกรรมการรับน้องจะยิ่งพิสดารมากขึ้น เช่น เอากล้วยให้น้องคาบและกินต่อๆ กันจนถึงคนสุดท้าย (5 คนขึ้นไป) เอาแมงลัก+กะปิ+น้ำแดง ผสมให้น้องดื่มจากนั้นละเลงบนศีรษะน้องอย่างสะใจ ให้ดื่มน้ำสปิริต (เลือด+โค้ก+ปัสสาวะ+...) ยิ่งกว่านั้นยังบังคับให้ดื่มเหล้า/แก้ผ้าวิ่งลงทะเล เอาส้อมจี้ไฟนาบที่ตัวรุ่นน้อง ตลอดจนวิธีการ "ทิ้งดิ่ง" (มัดมือและเท้าให้น้องยืนบนเก้าอี้แล้วดิ่งลงสู่พื้น) จนน้องจุกไปตามๆ กัน เป็นต้น
วิธีการรับน้องเหล่านี้นำมาซึ่งความสูญเสียหลายประการ เช่น สภาพจิตใจ สภาพร่างกาย หรือแม้แต่ถึงขั้นสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อกันเลยก็มี (ดูแล้วยิ่งกว่าการออกรบในศึกสงครามไทย-พม่าสมัยอดีตเสียอีก)
การกระทำดังกล่าวของรุ่นพี่ทำให้หลายคน (โดยเฉพาะรุ่นน้องที่ถูกต้อนรับแบบพิสดาร) อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร หรือทำเพื่อให้เกิดความสะใจ หรือจะเป็นช่วงเอาคืน คำถาม-คำตอบ (แบบเดาส่ง) เหล่านี้วนเวียนในสมองของรุ่นน้องที่ถูกต้องรับอย่างสาหัส...(บอกได้เลยว่าผู้เขียนก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกัน คงต้องรบกวนคนอ่านช่วยหาคำตอบนี้ร่วมกัน...)
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการรับน้องแบบแปลกๆ หรือการทารุณน้องคงจะไม่เกิดขึ้น เพียงแต่รุ่นพี่ใช้หลักพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) หรือจะเป็นการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ลองนึกดูว่าถ้าเราโดนแบบนี้บ้างจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้กำลังสะท้อนสภาพสังคมไทยให้เห็นโดยที่เราไม่รู้ตัว ในเมื่อระดับปัญญาชนยังแสดงพฤติกรรมอันน่าดูถูกได้ถึงเพียงนี้ อนาคตประเทศชาติของเราจะเป็นอย่างไร...คงต้องฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนไปคิดเป็นการบ้านอย่างจริงจังเสียทีว่า...เราจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร...

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ครั้งหนึ่งในชีวิต...ถ้าฉันเป็นอธิการบดี ตอน 1

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
มติชนรายวัน 19 ตุลาคม 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11180
"ถ้าฉันมีสิบหน้า อย่างทศกัณฐ์ สิบหน้านั้นฉันจะหันมายิ้มให้เธอ" คนทั่วไปมักชอบพบปะพูดคุยกับคนที่ยิ้มแย้มอัธยาศัยดีไม่น่าจะมีใครที่ชอบคนหน้าตาบึ้งตึง เหมือนโกรธใครมาเป็นสิบปี ถ้าฉันเป็นอธิการบดี...ฉันจะยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน (ถ้าเป็นการประกวดนางงามก็เปรียบได้กับตำแหน่งนางงามมิตรภาพ) พร้อมที่จะพูดคุย และรับฟังความคิดเห็นของคนทุกกลุ่ม ทุกชั้น ทุกระดับ โดยเฉพาะการเป็นผู้ฟังที่ดี...บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินมาว่าเรารู้สึกประทับใจคนนั้นคนนี้จังเลย...เพราะเขาคือผู้ฟังที่ดี มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็รับฟังและให้คำปรึกษาอย่างดี
ถ้าฉันเป็นอธิการบดีฉันจะเป็นผู้รับฟังและเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือต้องการปรึกษาปัญหา ...อาจจะไม่ต้องรอให้คนที่มีปัญหาเดินมาหา (เพราะคนทั่วไปเขารู้เร็วมาก) แต่ฉันจะเดินเข้าไปหาเขาเองแล้วถามว่า "มีอะไรให้ช่วยไหม" หรือ May I help you?
อธิการบดี คือ ตำแหน่งที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่ฝันได้ไกลแล้วสามารถไปถึงจุดนั้น...สมัยเป็นเด็กจะมีคนมาถามบ่อย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ (ที่ไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้าน) ลุงๆ ป้าๆ มักถามด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า "โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรจ๊ะ"เด็กก็มักตอบไปตามที่ตนเองสนอกสนใจ เช่น หนูอยากเป็นทหารนั่งบนรถถังที่คันใหญ่ๆ หนูจะเป็นพยาบาลคอยดูแลคนไข้ หนูจะเป็นตำรวจเป็นผู้หมวดจับผู้ร้าย แล้วผู้ใหญ่ทั้งหลายก็บอกว่า "ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร อยากทำสิ่งใดขอให้สมดังใจได้เป็นดังหวัง แต่มีอีกอย่างสำคัญ...เหนือสิ่งใดนั้นคือเป็นคนดี" เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอธิการบดี..ฉันจะเป็นคนดี
เด็กๆ มักอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำโน่นทำนี่ (รวมถึงหนี้) ให้พวกเขา แน่นอนว่าท่านคงไม่สามารถทำตามใจลูกทุกคนได้ทั้งหมด เพราะแต่ละคนช่างเอาแต่ใจ นานาจิตตัง แม้ว่าจะเป็นฝาแฝด หรือเลี้ยงดูมาด้วยกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน แต่ความคิดความอ่าน นิสัยใจคอ ลูกแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จึงเป็นภาระแก่พ่อแม่ว่าท่านจะบริหารจัดการส่วนแบ่ง หรือผลประโยชน์ให้กับลูกๆให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร โดยที่ลูกแต่ละคนจะไม่รู้สึกน้อยใจว่าทำไมพี่ได้ น้องไม่ได้ ทำไมเพื่อนข้างบ้านได้น้องไม่ได้ ดังนั้นช่วงที่มีขนมหวานและเค้กแสนอร่อยจึงสร้างความลำบากใจให้กับผู้เป็นพ่อแม่ยิ่งนัก
ถ้าฉันเป็นอธิการบดี...ฉันจะรักทุกคนเท่ากัน ให้ความยุติธรรมกับทุกคน และแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ให้เกิดความพอใจกับทุกคน ทุกฝ่ายไม่ทำให้เกิดความน้อยใจของใครคนใดคนหนึ่ง ด้วยหลักธรรมาภิบาล (สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ นิติธรรม และมีส่วนร่วม) ฉันจะทำให้ได้...ฉันไม่สัญญา แต่ฉันจะทำให้ทุกคนดู
แล้วถ้าลองมองย้อนกลับมาดูตัวเองบ้าง ...ว่าสิ่งที่ฉันอยากได้โน่น อยากได้นี่ ฉันได้ทำอะไรให้พ่อแม่บ้าง ได้ช่วยพี่ทำงานบ้านบ้างรึปล่าว ได้ทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้าง ...ครั้งหนึ่งสมัยเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเคยอ่านข้อความที่ปิดไว้ตามเสาใต้อาคารเรียน...ในข้อความเขียนว่า "อย่าถามว่าโรงเรียนให้อะไรกับคุณ...แต่จงถามว่าคุณได้ให้อะไรกับโรงเรียนบ้าง" แล้วข้อความนั้นก็ได้จดจำในสมองเล็กๆ โดยที่ไม่คิดอะไร จนวันหนึ่งก็เข้าใจความหมายของมัน และคิดว่ายังไม่สายที่จะทำตามข้อความนั้น...
ถ้าฉันเป็นอธิการบดี...ฉันจะทำอะไรเพื่อมหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะถามว่ามหาวิทยาลัยนี้จะให้อะไรกับฉันได้บ้าง หรือฉันจะได้อะไรจากมหาวิทยาลัยนี้บ้างโดยยึดตามพระราชปณิธานของพระบรมราชชนก (พระราชบิดา) ที่ว่า "ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัว เป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่งลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง หากท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"
ผู้เขียนเคยได้ยินหลายคนพูดกันว่าชอบผู้นำที่มีบุคลิกพูดจริงทำจริง ไม่รีรอ รวดเร็ว กระชับ ฉับไว ตรงประเด็น (สโลแกนเหมือนนักข่าว) เวลาประชุมก็ไม่เยิ่นเย้อ ได้เนื้อหาสาระ ไม่ต้องประชุมหลายรอบ (เสียเวลาทำมาหากิน) อะไรทำนองนั้น ก็เลยมาชั่งน้ำหนักดู (ไม่ใช่น้ำหนักผู้เขียน)...แล้วก็นึกในใจว่า ถ้าเป็นอธิการบดี...จะเป็นแบบนี้
อธิการบดี หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า President of University คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นคนที่ใหญ่ที่สุด มีอำนาจสั่งการกิจการทุกอย่าง เรียกว่างานทุกอย่างล้วนต้องผ่านมือ ผ่านตา ของท่านผู้นี้...เพราะฉะนั้นอธิการบดีจึงเป็นตำแหน่งที่ทุกคนให้ความไว้วางใจ และเกรงใจ จะอยู่ให้เป็นที่พึ่งและพักพิงได้ของทุกคนในมหาวิทยาลัย เหมือนร่มโพธิ์ร่มไทร ที่ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง ร้อนมาจากที่ไหนก็จะได้รับความร่มเย็นกลับไปเสมอ
ถ้าฉันเป็นอธิการบดี...ฉันจะเป็นแบบนี้




เพราะ..ผูกพัน

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

สวัสดี มิตรรักแฟนเพลง
    รายการยิ้มๆยามค่ำคืน กลับมาพบกับคุณผู้ฟังอีกแล้ว วันนี้ฝนตกหนักพอสมควร ระหว่างที่ดีเจจัดรายการจึงมีเสียงฝนฟ้า ประกอบด้วย แถมยังมีเสียงอึ่งอ่าง และจั๊กจั่นร้องกันระงม ....บรรยากาศช่างดีจริงๆ
    (ดีเจเปิดเพลง...เพราะผูกพันของสมิทธิ์&เชนทร์  เพลงบรรเลงมาเรื่อยจนถึงท่อนที่ร้องว่า "ในความผูกพัน  นั้นเจ็บปวด แค่คิดถึงกัน ก็ทรมาน  สักวันเธออาจจะเข้าใจ เธออาจจะรู้ใจ ในสิ่งที่ฉันเป็นอยู่  สักวันเธอขาดคนรักไป เธออาจจะได้รู้แล้วเธอจะเข้าใจ....เป็นอย่างดี)
    ดีเจยิ้มพูดว่า เพลงนี้ขอมอบให้นักศึกษาฝึกงานที่โปรแกรม รปศ. เขาชื่อ "สมศักดิ์" เป็นบุคคลที่ใครๆก็รู้จักเขาดี เพราะเขาคือมือวางอันดับ 1 ของโปรแกรม (สมศักดิ์คิด : แน่ล่ะ ก็มีตรูอยู่คนเดียวในโปรแกรมนี่นา อัตราส่วนของการขอความช่วยเหลือ อาจารย์ 8 คน : นศ.ฝึกงาน 1 คน) งานก็เลยเข้าเลยครับพี่น้อง  วันแรกทีเราเจอกัน  อมยิ้มไม่รู้หรอกนะว่าเขาคือใคร ถามไปถามมา  อ้อ...นศ.ฝึกงาน  วันแรกสมศักดิ์เลยเจอดีเข้าให้  เพราะจำได้ว่าเป็นวันที่โปรแกรมมีการจัดห้องทำงานครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีก็ว่าได้  ทั้งยก ทั้งขน ทั้งเก็บ ทั้งปัด กวาด เช็ด และถู  เล่นเอาสมศักดิ์จำไปอีกนาน
   แน่ะ แน่ะ แล้วก็ไม่เข็ด วันรุ่งขึ้นก็มาอีก สมศักดิ์เป็นนศ.ที่หน้าตาไม่ค่อยดี ไม่เคยได้ยินใครชมเรื่องหน้าตาของเขาให้ได้ยิน มีแต่บอกว่าสมศักดิ์แต่งกายดี กริยามารยาทเรียบร้อย  ใช้ง่าย ใช้คล่อง เขาจะมีรอยยิ้มกับหนวดเล็กๆที่มุมปากเสมอ บางครั้งสมศักดิ์ทั้งโดนแซว  จิก กัด หยอกล้อ จากอาจารย์ในโปรแกรม สมศักดิ์ก็ไม่โกรธ มีแต่หยิบสมุดโน้ตขึ้นมาจดเรื่องราว(บ้าๆบอๆของอ.ในโปรแกรมเอาไว้) รอวันเอาคืน (ไม่ใช่ ไม่ใช่)
   4 เดือนแล้วสินะ ที่เราได้พบกัน... ที่ทำงานอื่น อาจจะมีนศ.ฝึกงานหลายคน แต่ที่นี่เทอมที่ผ่านมามีสมศักดิ์คนเดียวที่อยู่ทน อยู่นาน เหมือนสีทนได้ มีบางครั้งที่แอบแว่บไปแว่บมาบ้าง เป็นครั้งคราวตามประสาติดเพื่อน ลืมเล่าไปว่าความจริงยังมีนศ.ฝึกงานอีกคนแต่เขาคือ "ผู้ล่องหน" ฉายาของเขาที่อ.ทุกคนในโปรแกรมรู้ดี แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สมศักดิ์เขาไปเที่ยวเล่นสักพักเขาก็กลับมา  กลับมาพร้อมกล้วยทอดที่อ.นิว(ปุณยวีร์)ฝากซื้อ  นี่ก็เป็นอีกคนที่เขียนชื่อลำบากมาก อมยิ้มพยายามเขียนชื่อหลายครั้ง แต่จำไม่ได้สักที เพราะอมยิ้มมีจุดอ่อนอยู่ 2 ประการ จากการวิเคราะห์โดยใช้ SWOT Analysis พบว่า 1 คือ จำชื่อคนได้ยากมาก 2 โง่เรื่องทิศทาง  ดังนั้น ใครที่ชื่อแปลก เขียนยากๆ อย่าหวังว่าอมยิ้มจะจำเสียให้ยาก ....มันปวดเฮดจนเกินไป พาลทำให้เป็นลม หน้ามืด ตาลาย วิงเวียนศีรษะ ทาถู ทาถู  แล้วก็หยิบยาหม่องตราถ้วยทองมาสูดดม (เป็นขวดเดียวกันกับที่พี่อบเคยนำไปทาถู ทาถูที่เท้าตอนเป็นตะคริว นั่นล่ะ ขวดเดียวกัน) ต้องชื่อไทยๆ เรียกง่ายๆอย่าง "สมศักดิ์"สิ  จำง่ายดี
        (ดีเจเปลี่ยนเพลง เป็นเพลงทีร้องว่า สมศักดิ์ สมหญิง สมชาย สมหมาย สมควาย  มีตั้งมากมาย ไม่ยอมเรียกกัน หรือว่า สมคบ สมคิด สมหวัง สมพิศ สมนิดๆ ก็ยังดี  สมพล ชื่อเท่ห์จะตายก็แล้วทำไม ไม่เรียกกันล่ะนี่  สมปอง สมลม สมเลิน สมภพ สมเพลิน เป็นหยังบ่เอินกันล่ะคุณพี่..อี้ อี้ อี้ อี้ ลูกคอเล็กน้อย) หลายคนได้ยินเพลงนี้ ไม่อยากตั้งชื่อลูกว่าสม กลัวจะไปโดนชื่อ "สมควาย" เข้า ได้ลงกินเนสบุคกันล่ะคราวนี้
        

         เจอน้องๆ อ.ที่มหาวิทยาลัยหลายคน บอกว่าเดี่ยวจะฝากของนั่น ฝากเอกสารโน่นนี่ไปให้ แล้วก็บอกว่าจะฝากนศ.ฝึกงานไป คนที่คุยด้วยงง  แน่ะทำเป็นงง แต่พอบอกว่าชื่อสมศักดิ์ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียววันว่า "อ๋อ สมศักดิ์" ซี้กัน รู้จัก หนิดหนม (อมยิ้มคิด..ไปหนิดหนมกันตอนไหนฝะเนี่ย) เลยกลายเป็นว่า ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ คณบดี ตึกโน่น ตึกนี้ ตั้งแต่คณะครุ ไปจนถึงลหุ รู้จักเขาหมด เหลือแต่ท่านอธิการบดีที่ยังไม่เคยได้ยินว่าท่านพูดถึงสมศักดิ์ในที่ประชุม...อืมเขาช่างเป็นบุคคลดังของวงการนศ.ฝึกงานเลยจริงๆ  สิ้นปีนี้ นิตยสาร Time  แพรว  สกุลไทย การ์ตูนไทยเล่ม 3 บาทหรือ แม้แต่คู่สร้างคู่สม ต่างจองตัวเขาไปถ่ายลงปกหลังหลายฉบับ

         อมยิ้มรีบเขียน ก่อนที่ความทรงจำเกี่ยวกับสมศักดิ์จะค่อยๆเลือนหายไป เหมือนเพื่อนๆ และใครอีกหลายคนที่เราอาจจะลืมกันไป เพราะไม่ได้ติดต่อกัน  เหลือแต่คนที่เราควรค่าแก่การจดจำไว้เท่านั้น ในยุคดิจิตอล การกำจัดเพื่อนขยะ (junk friend) ทำง่ายมาก เพียงแค่ click ขวา แล้วกด Delete หรือ ลากไฟล์ข้อมูลลงไปในถังขยะเลย แล้วก็ตามไป Delete อีกครั้งในถังขยะ แล้วก็กระทืบซ้ำด้วยรองเท้าคอมแบท 4-5 ที ต่อด้วยคำสั่ง emty recycle bin จนไม่เหลือซาก ท้ายที่สุดเพื่อนขยะก็จะตายไปจากความทรงจำของใครหลายคน....ดีเจเปิดเพลง ปราสาททราย ที่ร้องว่า "ไม่เหลืออะไรเลย แหลกสลายลงไปกับตา เหลือเพียงทรายที่ว่างเปล่า กับน้ำทะเลเท่านั้น ...ไม่เหลืออะไรเลย"          แต่สำหรับสมศักดิ์ คนนี้ อมยิ้มคิดว่าเขาจะไปยืนแอบอยู่ในรอยหยักเล็กๆ  รอยใดรอยหนึ่งของเนื้อสมองของอ.ทั้งหลายที่รู้จักเขา ...วันดีคืนดีเขาก็จะกลับมา  (ฉากจบแสดงภาพ Batman Return ตามด้วย The lord of the ลิง The return of the King...เขาจะกลับมา  เตรียมพบกับสมศักดิ์ภาค 5 ตอนจบ.....Coming soonnnnnnnnnnnn(ดีเจเปิดเพลงความทรงจำสีจางของปาล์มมี่ ที่ร้องว่า ไม่เรียกร้องให้กลับมา หรือว่าผลักใส หรืออะไรทั้งนั้น เก็บเธอไว้ในส่วนลึก ซ่อนอยู่อย่างนั้น รู้ว่ามันไม่ไปไหน)

          ...ก่อนปิดรายการ มีเสียงโทรศัพท์สยองโทรเข้ามา เขาคือสมศักดิ์นั่นเอง เจ้าของเรื่องเล่าในวันนี้ สมศักดิ์บอกว่าอยากฝากอะไรถึงแฟนเพลงรายการนี้สักเล็กน้อย อมยิ้มเลยให้ออกอากาศกันไปเลย คนฟังทั้งประเทศจะได้ได้ยินเสียงและรู้จักตัวจริงเสียงจริงของเขา  สมศักดิ์อ้ำอึ้ง หายไปพักใหญ่ เป็นไปได้ว่าสมศักดิ์อาจจะยืนคุยโทรศัพท์อยู่กลางทุ่งนา หรือกำลังหาสัญญาณโทรศัพท์ให้ชัดที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นบนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งในละแวกบ้าน แล้วสัญญาณก็ตัดกลับมาว่า สมศักดิ์พร้อมแล้วที่จะพูดกับแฟนเพลง  ทุกคนใจจดใจจ่อว่าสมศักดิ์จะฝากอะไรไว้ สักพักแล้วก็ได้ยินเสียงเหมือนตะโกนออกมาจากที่ไกลๆ ว่า
"ตรู......ฝึก.......งาน......เสร็จ.........แล้ว........โว้ยยยยยย) (เพลงหมดพอดี ดีเจเปลี่ยนเพลงเป็นฝากรอยเท้าของหนุ่ยอำพล ลำพูน)