วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

Public Administration never die

รปศ.ศาสตร์แห่งการบูรณาการ...ที่ไม่มีวันตาย
     (Public Administration never die)

ประทุมทิพย์  ทองเจริญ
รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration)  เป็นสาขาวิชาหนึ่งของรัฐศาสตร์ (Political Science)  เรียกสั้นๆว่า รปศ. เพราะชื่อเต็มยาว ที่สำคัญคนจำนวนไม่น้อยยังอ่านคำนี้แบบผิดๆถูกๆ รวมทั้งนักศึกษาน้องใหม่ที่เรียนในสาขานี้เองด้วยซ้ำ ศาสตร์นี้มีบิดา 2 คน  คนแรก คือ  วูด โรวิลสัน (Woodrow Wilson) บิดารัฐประศาสนศาสตร์ อเมริกา  ส่วนอีกคนหนึ่ง คือ มักซ์ เวบเบอร์ (Max Weber)(อ่านว่ามักซ์เพราะเป็นภาษาเยอรมัน)บิดารัฐประศาสนศาสตร์ ยุโรป และเยอรมัน

          รัฐประศาสนศาสตร์  หรือ รปศ. คือ ศาสตร์ว่าด้วยการบริหารจัดการงานของรัฐ ให้บรรลุเป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้กิจการงานต่างๆของบ้านเมืองดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เป็นปกติ และประชาชนอยู่ดี มีสุข  แต่ในความเป็นจริง ศาสตร์ของ รปศ.ยังสามารถนำไปใช้บริหารจัดการงานภาคเอกชน และธุรกิจส่วนตัวได้อีกด้วย  ปัจจุบันจึงพบว่ามีคนหลายอาชีพให้ความสนใจที่จะศึกษาศาสตร์นี้มากขึ้น  เช่น หมอ   วิศวะ  พยาบาล  ครู  ตำรวจ  ทหาร เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสอดแทรก และประยุกต์ใช้ในงาน  รวมถึงในชีวิตประจำวันแทบทั้งสิ้น  เช่น  การบริหารตน บริหารคน และบริหารงาน  ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทุกคนจะต้องรู้จักและบริหาร 3 สิ่งนี้ให้เป็น
มีคำถามจากหลายคนเกี่ยวกับคำว่า การบริหารหรือ Administration และ การจัดการหรือ Management   เดิมทีเรามักนิยมใช้คำว่าการบริหารในแวดวงราชการ   ส่วนคำว่าการจัดการมักนิยมใช้ในแวดวงธุรกิจเอกชน  แต่เนื่องจากสองคำนี้ มีความคล้ายคลึงกัน และมีความเชื่อมโยงกันในศาสตร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป  คนจึงมักเรียกปะปนกัน  ต่อมาหลายคนจึงเรียกรวมกันไปเลยว่า การบริหารจัดการ เพื่อให้ใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน  เหมือนคำว่า ครู กับ อาจารย์ ซึ่งปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ก็นิยมเรียกรวมกันไปเลยว่า ครูอาจารย์ หรือ คำว่า นิสิต กับ นักศึกษา ซึ่งในปัจจุบันเรียกรวมกันว่า นิสิตนักศึกษา เป็นต้น  ประเด็นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นความพลวัตของภาษา
ด้วยความจำเป็นที่หลายสาขาอาชีพล้วนต้องใช้ความรู้ในศาสตร์นี้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน  จึงทำให้มีผู้ที่สนใจศึกษาสาขาวิชา รปศ.มากขึ้น ทั้งนักศึกษาภาคปกติ และภาค กศ.บท. (บางแห่งเรียกว่า กศ.บป.)
กศ.บท. หมายถึง การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรประจำท้องถิ่น
กศ.บป. หมายถึง การศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ
ซึ่งทั้ง 2 คำนี้  มีความหมายครอบคลุมถึงนักศึกษาที่มิได้เรียนในวัน เวลาปกติ จันทร์-ศุกร์  กล่าวคือ จะศึกษาในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือไม่ก็ วันจันทร์-ศุกร์ นอกเวลาราชการ
จากความนิยมของคนทั่วไปที่สนใจศึกษาศาสตร์นี้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ คนนอกศาสตร์มองว่ารปศ.ขาดเอกลักษณ์  ใครจะมาเรียนก็ได้  รับหมด ไม่จำกัดจำนวน   ไม่จำกัดวุฒิ  จนบางครั้งถึงขั้นมีคนพูดให้ได้ยินว่า  ถ้าไปลงเรียนอะไรแล้วเขาไม่รับให้มาเรียน รปศ....รับประกันว่าจะได้เรียนแน่นอน คำพูดนี้ได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนที่เรียน รปศ.อย่างยิ่ง...
ประเด็นนี้ หากมองจากคนในศาสตร์ มีคำอธิบายว่า รปศ.คือ ศาสตร์แห่งการบูรณาการ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Interdisciplinaryกล่าวคือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับศาสตร์อื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์  มนุษยศาสตร์ กฎหมาย  สังคมศาสตร์  ภูมิศาสตร์  ประชากรศาสตร์  ภาษาศาสตร์ ซึ่งในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ เราคงต้องยอมรับว่า การบริหารจัดการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนทุกคน  ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ  ด้วยเหตุนี้ รปศ.จึงเปิดรับผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะศึกษาศาสตร์นี้อย่างกว้างขวาง  ดังนั้น หากใครมองว่ารปศ.ขาดเอกลักษณ์  ด้วยเหตุผลข้างต้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ก็อาจมีมุมมองที่สะท้อนกลับไปว่า การขาดเอกลักษณ์...คือเอกลักษณ์ของ รปศ.
แม้ว่าในแต่ละปีการศึกษา หลายมหาวิทยาลัยจะเปิดรับนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนในสาขาวิชา รปศ.เป็นจำนวนมาก จนบางคนมองว่าเป็นการเน้นที่ปริมาณมากเกินไป  ตามมาด้วยคำถามถึงเชิงคุณภาพว่า การเรียนการสอนได้คุณภาพหรือไม่ อย่างไร  ผู้เขียนในฐานะนัก รปศ.คนหนึ่ง มองว่า รปศ.คือศาสตร์หนึ่งที่มีความเข้มขลังไม่ต่างจากศาสตร์อื่นทั่วไป  เพราะมีรากฐานมาจาก แนวคิด ทฤษฎี ตลอดจนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง  เพราะ รปศ. เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์  ดังนั้นเรื่องคุณภาพในตัวของศาสตร์คงไม่ต้องพูดถึง มาพิจารณาที่ตัวบุคคล คือ อาจารย์  และผู้เรียนดีกว่า ว่ามีคุณภาพ และได้มาตรฐานหรือไม่ อย่างไร
ครูอาจารย์ที่จะเข้ามาทำหน้าที่สอนในระดับอุดมศึกษานั้น เป็นที่ยอมรับจากทุกวงการว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณภาพ  เก่ง และมีความรอบรู้เชิงลึกในศาสตร์นั้นๆ และต้องผ่านการสอบคัดเลือกหลายกระบวนการกว่าจะได้ก้าวเข้าสู่อาชีพอันทรงเกียรตินี้   ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่าสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างปริมาณอาจารย์กับปริมาณนักศึกษาอยู่ที่เท่าไหร่  อาจารย์ 1 คน  ต่อจำนวนนักศึกษากี่คน  จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผล   อาจารย์ 1 คน ต่อ นักศึกษา  40-50 คน เหมือนกับโรงเรียนในระดับประถมศึกษา หรือ มัธยมศึกษา  ซึ่งควรจะมากกว่า หรือ น้อยกว่านั้น...
จากประสบการณ์การสอนในสาขาวิชานี้ ผู้เขียนมีคำตอบต่อประเด็นคุณภาพของนักศึกษาว่า ปัจจุบันนโยบายระดับประเทศส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจจะศึกษา ใครอยากเรียนต้องได้เรียน ไม่มีการปิดกั้นหนทางแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง  สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งที่ให้โอกาสทางการศึกษากับคนในท้องถิ่น ได้มีการศึกษาที่ดี ในมหาวิทยาลัยที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ด้วยเป้าหมายดังกล่าว บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากทุกสาขาวิชาจึงได้รับการประกันคุณภาพการศึกษาจากสถาบันการศึกษาแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้รอบรู้ของชุมชน และสังคม 
ตรงนี้หากสังเกตให้ดีจะพิจารณาเห็นว่า จำนวนที่รับเข้าศึกษากับจำนวนบัณฑิตในแต่ละสาขาวิชามีความต่างกันพอสมควร  อย่างที่เคยได้ยินอาจารย์บางคนพูดกับนักศึกษาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาตั้งใจเรียนว่า  เราไม่คัดเข้า...แต่เราจะคัดออกกล่าวคือ นักศึกษาจะต้องเรียนได้ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่มหาวิทยาลัยกำหนด  จึงจะมีโอกาสได้สำเร็จการศึกษาและได้ใช้คำว่า บัณฑิต  ดังนั้น  คุณภาพจึงขึ้นอยู่กับตัวของนักศึกษาเองด้วยเช่นกัน..
มีคำถามยอดนิยมจากว่าที่นักศึกษา รปศ.และผู้ปกครอง สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ ซึ่งมักจะถามว่าเรียน รปศ. จบแล้วจะไปทำอาชีพอะไรได้บ้างคำตอบ คือ ทำไม่ได้ทุกอาชีพ แต่ทำได้ทุกหน่วยงาน   กล่าวคือ อาชีพ คือ วิชาชีพเฉพาะ ที่จะต้องเรียนจบในศาสตร์นั้นๆโดยเฉพาะ  เช่น  แพทย์  วิศวกร  พยาบาล  สถาปนิก  นักกฎหมาย  เป็นต้น ซึ่งตามหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือ จะทำธุรกิจส่วนตัว ก็สามารถนำความรู้ทางศาสตร์ รปศ.ไปใช้ได้ทั้งสิ้น  โดยมากจะเข้าไปทำงานในตำแหน่ง  นักวิเคราะห์นโยบายและแผน  เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป  ปลัด และเจ้าหน้าที่ตามหน่วยงานราชการ รวมถึงองค์กรเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ  เป็นต้น 
ส่วนผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ บุคคลหลากหลายอาชีพ ก็สามารถนำความรู้ไปใช้กับการ บริหารตนเอง บริหารคน และบริหารงาน ในหน่วยงานที่สังกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าคน ซึ่งนอกจากจะต้องบริหารตนเองให้ได้แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการบริหารงาน และบริหารคนให้ดีอีกด้วย  โดยเฉพาะการบริหารคน ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง  ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าการบริหารคนเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย  เพราะจิตใจคนยากแท้หยั่งถึง รวมถึงมีตัวแปรต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้น จึงต้องเรียนศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเพื่อนำไปปรับใช้กับสิ่งเหล่านี้   
สัญลักษณ์ของ รปศ. คือ สิงห์  หมายถึง ผู้ปกครองดั่งราชสีห์ผู้เป็นจ้าวแห่งป่า ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ก็ใช้สิงห์เป็นสัญลักษณ์ อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่แห่งการปกครอง สาขาวิชารปศ.โดยมากจะเป็นภาควิชา หรือ โปรแกรม ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบางแห่งก็อาจจะอยู่ในคณะวิทยาการจัดการ เช่น ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ สาขาวิชา รปศ.จะสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  แม้ว่าจะใช้สิงห์เป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน แต่จะต่างกันตรงสีประจำคณะ หรือ สถาบัน ดังนี้


สถาบันการศึกษา
สัญลักษณ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
สิงห์ดำ
ม.ธรรมศาสตร์
สิงห์แดง
ม.เกษตรศาสตร์
สิงห์เขียว
ม.เชียงใหม่
สิงห์ขาว
ม.สงขลานรินทร์
สิงห์น้ำเงิน
ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
สิงห์เงิน
ม.รามคำแหง
สิงห์ทอง
ม.แม่โจ้
สิงห์ไพร
ม.นเรศวร
สิงห์ม่วง
ม.อุบลราชธานี
สิงห์แสด
ม.ราชภัฏสวนดุสิต
สิงห์ฟ้า
ม.ราชภัฏสวนสุนันทา
สิงห์พระนาง
ม.บูรพา
สิงห์เทา-ทอง
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
สิงห์เขียว-ทอง
ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย
สิงห์ส้ม


















 



ลักษณะเด่นของ รปศ.คือ ความรอบรู้ในเรื่องราวต่างๆ ทั้งเหตุบ้านการเมือง และความเป็นไปของโลก  ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบริหารจัดการจะเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน  ดังนั้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ที่ดีจึงควรรอบรู้ ข่าวสาร และเหตุการณ์ต่างๆอย่างทันท่วงที เพื่อจะได้มีข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และทันการณ์   โดยเฉพาะการปรับตัว  ผู้เขียนมองว่าแม้แต่สิ่งมีชีวิต ยังมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์และมีชีวิตอยู่ได้  เช่น  ยีราฟ  ตะบองเพชร ตลอดจน การเปลี่ยนสีของสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด เชื่อมโยงมาถึงความรู้ หรือ ศาสตร์ในปัจจุบันก็เช่นกัน ล้วนมีการปรับตัวเพื่อให้ความรู้ในศาสตร์นั้นๆมีการถ่ายทอด และดำรงอยู่ โดยเฉพาะในยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร หรือ โลกาภิวัตน์ (Globalization)อย่างทุกวันนี้  ความรู้และงานวิจัยใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา  หากศาสตร์ใดไม่มีการปรับตัวให้มีความทันสมัยก็อาจเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาและอาจถึงจุดจบในไม่ช้า   

เคยมีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า รปศ. เปรียบเสมือนสีเทา คือ สีที่เป็นส่วนผสมระหว่าง ดำ กับ ขาว  ถ้าเป็นในศาสตร์ของจีนก็อาจเปรียบได้กับ หยิน-หยาง ซึ่งแม้จะมีความต่างกัน แต่อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ รปศ.ยังมีเครือข่ายที่กว้างขวาง เนื่องจากมีผู้คนจากหลากหลายอาชีพที่เข้ามาศึกษาในศาสตร์นี้ บิณฑิตรุ่นแล้วรุ่นเล่าจากทุกสถาบันซึ่งเสมือนพี่-น้องสิงห์  แม้จะต่างสถาบัน ต่างสี  แต่เรามีอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ทำเพื่อประโยชน์สุขของคนในสังคม และประเทศ ทั้งงานด้านการปกครองส่วนกลาง  ได้แก่ กระทรวง และกรม   ส่วนภูมิภาค  ได้แก่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และ จังหวัด  และส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  องค์การบริหารส่วนตำบล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล  ตลอดจน  ชาวสิงห์ที่ทำงานในภาคเอกชนก็ตาม  ล้วนเป็นเครือข่ายและพันธมิตรที่ดีต่อกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน และมักจะมีการสังสรรค์พบปะในงานเลี้ยงรุ่นเป็นประจำ หลายกลุ่มอาชีพอยากมีเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่  เข้มแข็ง และกลมเกลียวแบบชาวสิงห์บ้าง แต่เครือข่ายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สร้างไม่ง่ายนัก 
ดังนั้น ตรงจุดนี้จึงเป็นความโดดเด่นและอาจเป็นแรงดึงดูดให้ชาวสิงห์มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ...ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าอนาคตศาสตร์ดังกล่าวก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป 
ตราบใดที่ยังมีการบริหารจัดการอยู่บนโลก  ตราบเท่าที่ยังมีระบบราชการ และตราบเท่าที่ยังมีการขยายตัวขององค์กรปกครองส่วนต่างๆ ตราบนั้น...รปศ.ก็จะยังคงอยู่ เพราะ รปศ. คือ ศาสตร์แห่งการบูรณาการ....ที่ไม่มีวันตาย

Mother's day : An essay for moms

           Pratumtip Thongcharoen 
Yada Ratttanaarakkha : Editor


Everyone has mothers, who give birth. She loves her sons or daughters with pure love. Unfortunately, some mothers don’t live with them. Certainly, it makes these children lack of having warm from her. This is a different opportunity of children in the world.

Every 12 th August is Thai Mother's day, birthday of Her Majesty Queen Sirikit, who is not only the Queen but also the mother of Thais. Therefore, Thai government encourages to have several activities in order to celebrate this. First Thai mother’s day Ceremony was occurred in 19761 until recently. Particularly, people have known that main theme of this day motivates people have more awareness of mother's merit.
However, different countries have different mother’s day. For example, Mother’s day of United state of America and Japan is the second week in May, while France is the last week in May or the first week in June. Otherwise, Russia is 28th November, Indonesia is 22nd December. Especially, more than thirty countries let celebrate Mother’s day in May2. In addition, various flowers are important signs for Mother’s day in different countries. For instances, Jasmine is flowers which show pure love of mothers in Thai. While, Carnation is the sign of Mother’s day in America. Namely, if mothers are alive, children will decorate  their homes or doors with pink or red carnation. Otherwise, if their mother pass away, they will replaced it with white carnation.3
In children's eyes, their mothers are the most beautiful women. As same as in mother's eyes, they always see that her sons or daughters are most beautiful and handsome as well, this is love without any conditions. Some people said that homes having mothers will make children feel safe and warm. For example, in the morning, she has to wake up early to prepare things for her children and her husbands, instead continue sleeping. Most children said food prepared by their mothers is the most delicious food, any famous restaurants can not compare with her.
Moving on, there are many friends in our life, some friends are eat' s friends, while some friends are real friends. Some people said we needn't care all people. Particularly, people can touch and know that who are real friends when one has problems. Of course, you will not live alone on the planet if you have real friends. According to this mottothe friend in need is a friend in deed".  Even though, it is so difficult to find real friends, but in my opinion, people who are best friends and real friends are mothers.
However, even though mothers have a lot of burdens, both household tasks and office works but they never have leaved their children alone at home. They always play or teach them to do any things. For instance, when I was young, I can remember that first teacher was my mother. She often taught me write and read some books. Some times she always tell variety of fairy tales to my elder sisters and me. This is a beautiful pictures in my memories. Therefore, in my heart, she is not only my mother but also my friend, my teacher and every things in my life. 
Finally, I pay attention to write this essay for my mom in order to tell her that I love you. How about you?  For Mother’s day this year, Would you give some special things for your mom?  Particularly, mothers may wish everyday is mother's day.

References :

“วงการบันเทิง” โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม


 
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

 
ปัจจุบัน วงการบันเทิงเป็นสิ่งที่คนในสังคมอยากเข้าไปสัมผัส ทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ให้ความสนใจกับวงการนี้เป็นพิเศษ จนทำให้ความฝันของเยาวชนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน อาชีพยอดนิยมของเยาวชน ได้แก่ แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักธุรกิจ ทนายความ ครู เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลับพบว่า อาชีพในวงการบันเทิง ได้รับความนิยมจากเยาวชนมาเป็นลำดับต้นๆ ทั้งๆที่เมื่อก่อนอาชีพนี้ถูกคนในสังคมมองว่าเป็น อาชีพเต้นกินรำกิน และผู้ใหญ่ไม่สนับสนุนให้ทำ....เหตุใดค่านิยมเหล่านี้จึงเปลี่ยนไป

วงการบันเทิง หรือ ที่หลายคนเรียกว่า วงการมายา ประกอบด้วยหลากหลายอาชีพ ได้แก่ ดารา นักแสดง นักร้อง นักเต้น พิธีกร ตลก หรืออาจรวมถึงผู้ประกาศข่าวด้วย หลายคนยอมรับว่าวงการนี้มีความน่าสนใจเพราะได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในสังคม เอื้อต่อการทำธุรกิจของตนเอง ได้แต่งตัวสวย-หล่อ เป็นต้น นอกจากนี้ รายได้ก็เป็นอีกปัจจัยที่เชิญชวนให้เยาวชนสนใจที่จะเข้าไปในวงการนี้มากขึ้น เช่น รายได้จากการออกรายการเกมโชว์ 1 รายการ หรือ 1 เทปที่ออกอากาศ (On Air) ที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือ ไม่เกิน 1 วัน อาจะเป็นตัวเลขหลักหมื่น หากเปรียบเทียบกับมนุษย์เงินเดือนอาชีพอื่นซึ่งจะต้องทำงานทั้งเดือนกว่าจะได้รับเงินจำนวนนี้ หรืออาจจะน้อยกว่า

นักวิชาการในสังคมอดห่วงไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากเยาวชนสนใจที่จะประกอบอาชีพนี้มากขึ้น หรือ ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล ตลอดจนอาชีพอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าอาชีพในวงการบันเทิงรายได้ดีกว่า...คนในสังคมคงต้องร่วมกันตอบคำถามนี้ เพราะขณะนี้บางสาขาวิชาชีพก็ขาดแคลนมากอยู่แล้ว เช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น น่าเสียดายที่พบว่าคนในสาขาวิชาชีพขาดแคลนหลายรายเลือกที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว...อาชีพในวงการบันเทิงมีอิทธิพลต่อเยาวชนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก จนอาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเยาวชนถูกหล่อหลอมมาจากคนในวงการบันเทิงมากกว่าบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองของพวกเขาเสียอีก โดยเฉพาะเยาวชนที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมเพื่อความโก้เก๋ ทันสมัย และเพื่อให้เข้าสังคมกับเพื่อนในกลุ่มได้

ตัวอย่างพฤติกรรมที่เยาวชนเลียนแบบ เช่น ใช้ของแบรนด์เนม (ติดยี่ห้อ) ใช้เงินฟุ่มเฟือย ประเมินค่าบุคคลด้วยวัตถุสิ่งของ หรือที่เรียกว่าพวกวัตถุนิยม ซึ่งจะคบค้าสมาคมกับคนที่เป็นแบบเดียวกัน มีของใช้ส่วนตัวราคาแพง หรือ ยี่ห้อเดียวกัน มีรถยนต์ราคาแพงพอๆกัน เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น พฤติกรรมการแสดงออก เช่น ท่าทาง กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกาย ของเยาวชนรุ่นใหม่ก็เป็นผลมาจากการเสพ /บริโภค หรือ เลียนแบบพฤติกรรมของคนในวงการบันเทิงเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ถูกมองผ่านมุมมองสองด้าน ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากคนในสังคม ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่สังคมควรมีจุดยืนที่ชัดเจน ตลอดจนช่วยกันชี้แนะว่าอันนี้เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก 60 กว่าล้านคน ประชากรมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก (จาก 276 ประเทศ) การขาดมาตรฐานที่ชัดเจน เป็นธรรม หรือ แม้กระทั่งกฎหมายที่ล้าหลังตามยุคสมัยไม่ทัน ทำให้การปกครอง ควบคุม ดูแลคนจำนวนมากเหล่านี้เป็นไปอย่างลำบาก

ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงเสนอความคิดเห็นว่าควรเริ่มที่ต้นเหตุ หรือ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงผลลัพธ์ ย่อมดีกว่ามาตามแก้ไขปัญหาภายหลัง ตัวอย่างเช่น รายการโทรทัศน์ รวมถึงละครในบ้านเรา ก่อนเริ่มรายการจะมีคำแนะนำและชี้แนะว่ารายการนี้ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชนตั้งแต่อายุเท่าไหร่เป็นต้นไป ผู้ใหญ่ควรให้คำชี้แนะ ...ในทางปฏิบัติมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เปิดดูรายการนี้ทั้งๆที่ไม่เหมาะสมกับพวกเขา และไม่มีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ ซึ่งอาจจะเนื่องจากผู้ใหญ่ทำงานนอกบ้าน หรือไม่มีเวลามานั่งดูรายการโทรทัศน์ร่วมกับเด็กๆในบ้าน ประเด็นนี้ จึงเท่ากับว่าเตือนไปก็เปล่าประโยชน์ บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการทำไปแบบขอไปที ไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่าคนในปัจจุบันเขาใช้ชีวิต และมีความเป็นอยู่อย่างไร จึงเท่ากับว่าเรากำลังปล่อยให้เยาวชนที่ยังไม่มีวิจารณญาณในบางเรื่องได้เสพ / บริโภคข้อมูลข่าวสารแบบผิดๆ ถูกๆ ด้วยตัวของเขาเอง ด้วยการอ้างถึงสิ่งที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม

ดังนั้น แนวทางแก้ไขประเด็นนี้ จากการพูดคุยกับผู้ปกครอง และผู้ใหญ่หลายคนได้ข้อเสนอแนะว่า ผู้ผลิตสื่อรายการโทรทัศน์และละครควรมีความรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มการผลิต ว่าสิ่งที่นำเสนอไปเมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ผลที่ตามมาจะออกมาในรูปแบบใด คำถามที่ย้อนกลับไปยังผู้จัด / ผู้ผลิตรายการ คือ เหตุใดจึงไม่ผลิตรายการที่คนทุกเภท ทุกวัย สามารถดูได้ ทำนอง เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี รายการใดไม่เข้าข่ายดังกล่าว เช่น เด็กดูไม่ได้ ผู้ใหญ่ดูแล้วล่อแหลม เป็นอันตรายต่อสังคม หรือ สื่อไปในทางที่ใช้ความรุนแรงมากเกินไป (เกินความเป็นจริง) ก็ตัดออกไป หรือปรับแก้ไขบทให้เหมาะสม น่าจะเป็นการดีกว่าคำเตือน / คำชี้แนะดังกล่าว เพราะหลายคนทราบดีว่าผู้ปกครอง และผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้รับชมร่วมกับเยาวชนตลอดเวลา

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการผลิตรายการ หรือละครบางรายการ ไม่คำนึงถึงผู้ชม ไม่ต่างจากการการขายสุรา /ยาสูบ ซึ่งทั้งๆที่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีต่อคนในสังคมและเยาวชน แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังทำ / ผลิต ซึ่งจะด้วยเหตุผล หรือข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายผลร้ายที่ตามมาย่อมเกิดกับเยาวชนและคนในสังคมอยู่ดีตัวอย่างพฤติกรรมหรือสิ่งที่สะท้อนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในสายตาคนชมรายการ พบว่า นักแสดง นักร้องแต่งกายวาบหวิว (จนน่าตกใจ) ทำให้ผู้ชมลุ้นว่าการแสดงจะตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือ อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำในลักษณะเสื้อผ้าหลุด / ขาดออกจากกัน หรือเห็นในสิ่งที่ไม่ควรจะเห็น ... แม้กระทั่งการใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาไทย ซึ่งพบว่ามีหลายรายการที่ผู้ประกาศ / ผู้รายงานพูดภาษาไทยไม่ชัด ร ล คำควบกล้ำ ทำให้ผู้ชมรู้สึกหงุดหงิดและขัดใจกับสิ่งที่ได้ฟัง จนกระทั่งไม่สามารถจับใจความได้ว่าเป็นการรายงานเรื่องอะไร เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร เพราะผู้ชมคอยจับผิดผู้ประกาศนั่นเอง

มาถึงละครกันบ้าง ละครไทยทุกวันนี้ เท่าที่ผู้เขียนได้รับฟังคำวิจารณ์จากผู้ชมพบว่า เนื้อเรื่องจะเน้นให้ตัวละครหลักรวยมาก ใช้ชีวิตหรูหรา ใช้เงินฟุ่มเฟือย เอาแต่ใจ นึกจะทำอะไรใครก็ได้ ไม่รู้จักแม้กระทั้งตัวเองว่าเป็นลูกของใคร นึกจะตบก็ตบ นึกจะฆ่าแกงใครที่ขัดขวางตนเองก็ฆ่าเหมือนผักปลา ด้วยวิธีต่างๆนานา บ้างก็ใส่ยาพิษ ยิงกันเลือดพล่าน โดนยิงหลายนัดแต่ยังวิ่งคล่องแคล่ว วันที่โดนยิงด้านขวา แต่เมื่อไปทำแผลที่โรงพยาบาลกลับเป็นด้านซ้าย ส่วนคนพิการวันนี้เป๋ข้างขวาวันต่อมาเป๋ข้างซ้าย โดยเฉพาะละครย้อนยุคที่มีการทำการบ้าน (ศึกษา)มาอย่างดีเกี่ยวกับความเหมาะสมของเสื้อผ้าหน้า แต่มาตกม้าตายที่สีผมของนางเอกกับนางร้ายที่ไม่ได้เข้ากับยุคสมัยนั้นๆ แม้กระทั่ง นางเอกกับนางร้ายซึ่งมีนิสัยต่างกันราวฟ้ากับดิน อย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่ในโลก

 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสนิยม ถ่ายหวิว รับลมร้อน ทั้งๆที่บางช่วงถ่ายตอนหน้าหนาว ของดารา นักแสดงทั้งหญิง-ชาย นางเอก-นางร้าย ถ้าเขาจ้างให้ถ่ายเป็นอันรับปาก รวมถึงคนในวงการบันเทิงที่กำลังมาแรงในขณะนั้นไม่ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะสวย-หล่อหรือไม่ ขอให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเองและกระแสมาแรงเป็นอันต้องโดนทาบทามให้มาถ่ายหวิวด้วยค่าตัวหลักแสนเลยก็มี ด้วยค่าตัวในการถ่ายทำที่สูงลิบลิ่ว ประกอบกับใช้เวลาในการถ่ายทำไม่นานนัก ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีคนมาจ้างพวกเขาบ้างเขาก็ยอมทำ ดีกว่าต้องทนทำงานตลอดชีวิตกว่าจะได้จับเงินแสน เงินล้าน หรือไม่ก็ไม่มีโอกาสได้จับเลยก็มี ซึ่งคงต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้อย่างที่กล่าวมา เพราะการทำงานในลักษณะนี้ จะต้องอาศัยความสามารถ ความพยายาม ความอดทน และจุดขาย เป็นสำคัญว่าจะขายใคร ลงทุนถ่ายทำไปแล้วจะมีกระแสตอบรับอย่างไร

ก่อนหน้านี้ มีผู้ใหญ่หลายคนออกมาวิจารณ์/ตักเตือน พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนในวงการบันเทิงบางคนผ่านสื่อ ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนกลับไปว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำ ความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน ใครเป็นคนกำหนด หรือชี้ขาดว่าอะไรคือความเหมาะสม อะไรที่เรียกว่าไม่เหมาะสม ตราบใดที่ไม่เป็นการกระทำผิดกฎหมาย พวกเขาจึงสามารถกระทำได้ หลังจากนั้นกระแสการออกมาตักเตือนของผู้ใหญ่ที่หวังดีเหล่านั้นก็ค่อยๆเงียบหายไป เหมือนที่ใครหลายคนในสังคมเป็นอยู่ในขณะนี้ คือ เงียบๆ เฉยๆ ทำตัวเนียนๆไว้ แล้วจะดีเอง ใครที่ออกมาวิจารณ์ เสนอความคิดเห็นถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีก็อาจถึงขั้นดับอนาคตของตนเองเลยด้วยซ้ำ ....

มาถึงตรงนี้ จึงมีคำถามว่า เราจะปล่อยให้สังคมดำเนินต่อไปอย่างเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ หรือจะช่วยกัน...ผู้เขียนมองว่าคนในสังคมสามารถให้ข้อเสนอแนะ ติติง ห้ามปราม และทักท้วง ในทางสร้างสรรค์ได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน แก้ไข / ปรับปรุง / พัฒนา ไปในทางที่ดีและเหมาะสมต่อไป เราควรช่วยกันเป็นกระจกสะท้อนภาพของสังคมเหล่านี้ออกมาให้คนในสังคมได้รับรู้ และรับผิดชอบร่วมกัน ....สุดท้ายการรับชม / บริโภครายการโทรทัศน์ ละคร หรือ สื่อบันเทิงต่างๆ ล้วนต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในการรับชมของผู้ชม /ผู้บริโภคเป็นสำคัญ...


ภาษาอังกฤษ : ประตูสู่โลกกว้างทางการศึกษาระดับสากล (ตอนจบ)

ประทุมทิพย์  ทองเจริญ
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า  ทุกวันนี้ ใครเก่งภาษาอังกฤษถือว่าได้เปรียบมากในทุกวงการ สำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และทักษะภาษาอังกฤษในระดับดี ถึงดีมากเช่นกัน เพราะบุคคลเหล่านี้ เปรียบเสมือนสมองและคลังความรู้ที่จะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับชุมชน สังคม ประเทศ  และระดับนานาชาติให้เป็นที่ประจักษ์ในเบื้องหน้า
การศึกษาปริญญาเอกในประเทศส่วนใหญ่จะมีการวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนจะรับเข้าศึกษาต่อ ซึ่งพบว่าสถาบันการศึกษาบางแห่งมีการจัดสอบในลักษณะนี้ด้วยมาตรฐาน หรือ แบรนด์ของตนเอง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการสอบ CU-TEP  ม.ธรรมศาสตร์ จะมีการสอบ TU-GET  และ ม.สงขลานครินทร์ จะมีการสอบ PSU-GET เป็นต้น หรือบางแห่งก็ใช้ผลคะแนนสอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับอย่าง TOEFL และ IELTS  มาเป็นเกณฑ์  ต่อไปนี้ คือ ความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษซึ่งจะเน้นที่รูปแบบ  IELTS  และข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในต่างประเทศที่จะมาแบ่งปันกับชาว มรส. ดังนี้
ระบบการสอบ
มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกให้การยอมรับผลคะแนนภาษาอังกฤษ ๒ ระบบ คือ TOEFL(The Test of English as a Foreign Language) ค่ายของสหรัฐอเมริกา และ IELTS (The International English Language Testing System) ค่ายของอังกฤษ  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น  โดยระบบ IELTS จะแยกสอบเป็น 2 ประเภท คือ แบบทั่วไป (General)  และแบบวิชาการ (Academic) ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะนำผลการสอบไปใช้สำหรับสมัครเข้าศึกษาต่อจะต้องสอบในรูปแบบหลังเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เคยได้ยินผู้ที่ไปศึกษาต่อ ณ  ประเทศสหรัฐอเมริกาเล่าให้ฟังว่า สหรัฐอเมริกาจะเข้มงวดเรื่องกฎเกณฑ์มาก กล่าวคือ จะยอมรับเฉพาะผลการสอบ TOEFL เท่านั้น  แต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกายอมรับผลคะแนน IELTS มากขึ้น  นอกจากนี้ ยังต้องสอบวัดความรู้และทักษะอื่นๆด้วย เช่น การสอบวัดเชาวน์ปัญญาทั่วไป สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า GRE (Graduate Record Examination)  และ การสอบวัดความสามารถของผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจ หรือที่เรียกว่า GMAT (The Graduate Management Admission Test) ซึ่งค่าใช้จ่ายในการสอบ   แต่ละประเภทจะใกล้เคียงกัน ครั้งละประมาณ ๖,๕๐๐ ,๐๐๐ บาท (www.englishthailand.com) 
สนามสอบ  IELTS
สถาบันภาษาที่มีการจัดสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษระบบ IELTS ในประเทศไทย มี ๓ สถาบัน คือ IDP Education Service  British Council และ Cambridge แต่โดยมากคนไทยจะนิยมสอบกับ ๒ สถาบันแรกมากกว่าเพราะก่อตั้งมานานและเป็นที่รู้จักดี สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  แต่จะมีสาขา หรือ ศูนย์จัดการสอบและแนะแนวการศึกษาต่อตามเมืองใหญ่ๆของแต่ละภาคด้วย เช่น เชียงใหม่  หาดใหญ่  ขอนแก่น เป็นต้น  ซึ่งการสอบในต่างจังหวัดจะจัดขึ้น ๑ ครั้ง/เดือน หรือ เดือนเว้นเดือน แต่ในกรุงเทพมหานครมีการจัดสอบสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง  เช่น IDP จะมีการจัดสอบวันพฤหัสบดีในบางสัปดาห์ ณ สำนักงานใหญ่ด้วย 
ที่ผ่านมาศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับความไว้วางใจจาก IDP Education Service ให้เป็นสนามสอบ IELTS  มาแล้ว ๒ ครั้ง  มีทั้งคนภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้ความสนใจสมัครเต็มทุกรอบ  ล่าสุดเพิ่งจะมีการจัดสอบไปเมื่อวันเสาร์ที่  ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ณ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 
ค่าสมัครสอบ
ค่าสมัครสอบรวมค่าธรรมเนียม ประมาณ ๖,๕๐๐ บาท  หากใครอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น       ค่าเดินทาง  ค่าที่พัก เพิ่มขึ้นรวมแล้วประมาณ  ๑๐,๐๐๐ บาท / ครั้ง  ยิ่งกว่านั้น  อาจจะต้องอบรม หรือ ติวเข้มก่อนสอบ เพื่อให้ทราบเทคนิค วิธีการ และแนวทางในการทำข้อสอบแต่ละทักษะ  ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นบาท  ที่ผ่านมา รศ.สุณีย์  ล่องประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์  ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการของมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างต่อเนื่อง  โดยจัดให้มีการอบรมภาษาอังกฤษขั้นสูง  ระยะเวลา  ๓-๔ สัปดาห์ ให้แก่บุคลากรสายวิชาการเป็นประจำทุกปีการศึกษา   ซึ่งเคยจัดมาแล้ว    ๒ ครั้ง  ครั้งละประมาณ  ๒๐-๓๐ คน โดยมีเจ้าภาพ คือ กองการเจ้าหน้าที่ และ ศูนย์ภาษา เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมและประสานกับวิทยากรจาก IDP Education Service  ซึ่งมหาวิทยาลัยออกค่าใช้จ่ายในการอบรมให้ทั้งหมด  รวมถึงมีอาหารว่างสำหรับผู้เข้าอบรมและวิทยากรตลอดหลักสูตรด้วย  ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท (๑๕,๐๐๐ บาท /คน)   ล่าสุดกำลังจะมีการจัดอบรมภาษาอังกฤษขั้นสูงอีกครั้ง ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ นี้   ซึ่งรอบนี้มีอาจารย์จากคณะต่างๆสนใจสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมกว่า ๙๐ คน แต่จะมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกที่ได้คะแนนสูงสุดไม่เกิน ๒๐ คนเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้เข้ารับการอบรม  ใครจะเป็นผู้โชคดีในรอบนี้โปรดติดตาม  ส่วนที่เหลือจะจัดอบรมโดยศูนย์ภาษาต่อไป
จำนวนครั้งของการสอบ
ผู้ที่มีความประสงค์จะสอบสามารถสอบได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์  โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประมาณหนึ่งหมื่นบาทต้นๆ  การจะสมัครสอบที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงเงินเดือนกว่าครึ่ง หรือ เกือบทั้งเดือนหมดไปกับการสอบในครั้งนั้นไปแล้ว  ซึ่งบางคนอาจจะต้องขอทุน พม. (พ่อกับแม่)เพิ่มเติม ในส่วนนี้  ผู้บริหาร มรส.ชุดปัจจุบันได้มีนโยบายช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเหล่านี้แก่บุคลากรสายวิชาการที่สอบ IELTS ได้ระดับคะแนนรวม  ๕.๕ ขึ้นไป สามารถนำหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าสมัครสอบ เพื่อมาขอเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลังได้ครบทุกบาททุกสตางค์ ตามหลักเกณฑ์ในประกาศของมหาวิทยาลัย
ที่สำคัญใช่ว่าสอบครั้งเดียวจะผ่านแล้วผ่านเลย  จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถาบันการสอบเหล่านี้ พบว่าจำนวนครั้งของการสอบต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ ๕ ครั้งขึ้นไป  หรือบางคนนับสิบครั้ง(กว่าจะสอบผ่าน) เพราะนอกจากคะแนนรวม(Overall) แล้ว  ทุกทักษะ (ฟัง พูด อ่าน และ เขียน) จะต้องผ่านตามเกณฑ์ที่ระบุด้วย  ผลสอบแต่ละครั้งถ้าผ่านในระดับที่ผู้สอบพอใจสามารถเก็บผลคะแนนไปใช้สมัครเรียน สมัครเข้าอบรม หรือ ขอทุนทำกิจกรรมต่างๆกับมหาวิทยาลัย หรือ องค์กรต่างประเทศได้ภายในระยะเวลา ๒ ปี

ระดับคะแนนที่ยอมรับ
เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว ระดับผลคะแนน IELTS ที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศยอมรับให้เข้าศึกษาต่อ คือ ระดับผลคะแนนรวม ๕.๕  แต่ต่อมามีการปรับคะแนนจาก ๕.๕ เป็น ๖.๕ ทั่วโลก ยกเว้นสาขาวิชาภาษาอังกฤษจะต้องมีผลคะแนนรวม  ๗.๕ ขึ้นไป (จากคะแนนเต็ม ๙ ทุกทักษะ) การคำนวณคะแนนรวม มีที่มาจากการนำคะแนนแต่ละทักษะมารวมกันแล้วหาร ๔  เช่น  ฟัง (listening) ๕.๕  พูด (Speaking) ๕.๕  อ่าน (Reading) ๖.๐ และ เขียน (Writing) ๖.๐  คะแนนรวม เท่ากับ (๕.๕+๕.๕+๖.๐+๖.๐)/๔ = ๖.๐ เป็นต้น  โดยเฉพาะคะแนนทักษะการเขียน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาแบบเน้นการทำวิจัย (Research)
จำนวนที่รับ
การศึกษาระดับปริญญาเอกต่างประเทศ  ใช่ว่าใครจะเรียนก็เรียนได้เพราะแต่ละปีการศึกษา  สาขาวิชาต่างๆจะรับนักศึกษาปริญญาเอกเพียง ๕-๑๐ คนเท่านั้น  จากผู้สมัครหลายร้อยคน หรือ เกือบ ๑,๐๐๐ คนจากทั่วโลก สาเหตุที่รับจำนวนน้อย เพราะว่าเขาจะเน้นที่คุณภาพ ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ ที่สำคัญเมื่อบุคคลเหล่านี้สำเร็จการศึกษาไปแล้วชื่อมหาวิทยาลัยจะติดตัว ผู้นั้นไปตลอดชีวิต ดังนั้น จึงทำการคัดเลือกอย่างดีเพื่อรักษามาตรฐานชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย  ต่างจากปริญญาตรีและปริญญาโท  ซึ่งส่วนใหญ่จะรับเข้าศึกษาเกือบทั้งหมด เพราะที่นั่ง(จำนวนที่รับ) มีมากกว่าหลายเท่า
เกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก จะมีเกณฑ์การรับนักศึกษาปริญญาเอกเหมือนๆกัน โดยคุณสมบัติสำคัญที่ผู้สมัครจะต้องมีอย่างน้อย ๘ ประการ  ดังนี้
1.      ผลคะแนนภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่กำหนด
2.      ผลการเรียนระดับเกียรตินิยม (ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท)
3.      ถ้าสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีกับปริญญาโทคนละสาขาจะต้องเรียนปริญญาโทซ้ำอีก ๑ ใบเพื่อตอกย้ำความเข้มข้นทางวิชาการและทฤษฎีในศาสตร์นั้นๆ
4.      มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ระดับชาติ หรือ นานาชาติ  (หนังสือ ตำรา บทความ ผลงานวิชาการอื่นๆ)
5.      ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ เช่น ตำแหน่งทางวิชาการ 
6.      เป็นนักวิชาการ  กล่าวคือ  ถ้าผู้นั้นสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะต้องได้นำความรู้ไปใช้ หรือ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดคุณูปการกับสังคมและประเทศต่อไป
7.     หัวข้อ และ โครงร่างงานวิจัย (Proposal) จะต้องเป็นที่สนใจของอาจารย์ที่ปรึกษา (ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เรียกที่ปรึกษาว่า Supervisor  ขณะที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ เรียกที่ปรึกษาว่า  Advisor)
8.     ผู้สนับสนุนทุนการศึกษา(รัฐบาล นายจ้าง หรือ ครอบครัว) กล่าวคือ ถ้ามีสังกัดจะมีโอกาสที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศจะพิจารณารับเข้าศึกษาต่อมากกว่าผู้สมัครอิสระ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งของผู้เขียนซึ่งใช้เวลาในการเตรียมตัวสำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศเกือบ ๒ ปี  และกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อในเร็ววันนี้  ส่วนไปแล้วจะเป็นอย่างไร  ไปแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง หรือ จบปริญญาเอกแล้วดีอย่างไร คำถามเหล่านี้ ยังรอคอยคำตอบและคำชี้แนะจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมาแล้ว   ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันระหว่างชาว มรส. ต่อไป