วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

Public Administration never die

รปศ.ศาสตร์แห่งการบูรณาการ...ที่ไม่มีวันตาย
     (Public Administration never die)

ประทุมทิพย์  ทองเจริญ
รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration)  เป็นสาขาวิชาหนึ่งของรัฐศาสตร์ (Political Science)  เรียกสั้นๆว่า รปศ. เพราะชื่อเต็มยาว ที่สำคัญคนจำนวนไม่น้อยยังอ่านคำนี้แบบผิดๆถูกๆ รวมทั้งนักศึกษาน้องใหม่ที่เรียนในสาขานี้เองด้วยซ้ำ ศาสตร์นี้มีบิดา 2 คน  คนแรก คือ  วูด โรวิลสัน (Woodrow Wilson) บิดารัฐประศาสนศาสตร์ อเมริกา  ส่วนอีกคนหนึ่ง คือ มักซ์ เวบเบอร์ (Max Weber)(อ่านว่ามักซ์เพราะเป็นภาษาเยอรมัน)บิดารัฐประศาสนศาสตร์ ยุโรป และเยอรมัน

          รัฐประศาสนศาสตร์  หรือ รปศ. คือ ศาสตร์ว่าด้วยการบริหารจัดการงานของรัฐ ให้บรรลุเป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้กิจการงานต่างๆของบ้านเมืองดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เป็นปกติ และประชาชนอยู่ดี มีสุข  แต่ในความเป็นจริง ศาสตร์ของ รปศ.ยังสามารถนำไปใช้บริหารจัดการงานภาคเอกชน และธุรกิจส่วนตัวได้อีกด้วย  ปัจจุบันจึงพบว่ามีคนหลายอาชีพให้ความสนใจที่จะศึกษาศาสตร์นี้มากขึ้น  เช่น หมอ   วิศวะ  พยาบาล  ครู  ตำรวจ  ทหาร เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสอดแทรก และประยุกต์ใช้ในงาน  รวมถึงในชีวิตประจำวันแทบทั้งสิ้น  เช่น  การบริหารตน บริหารคน และบริหารงาน  ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทุกคนจะต้องรู้จักและบริหาร 3 สิ่งนี้ให้เป็น
มีคำถามจากหลายคนเกี่ยวกับคำว่า การบริหารหรือ Administration และ การจัดการหรือ Management   เดิมทีเรามักนิยมใช้คำว่าการบริหารในแวดวงราชการ   ส่วนคำว่าการจัดการมักนิยมใช้ในแวดวงธุรกิจเอกชน  แต่เนื่องจากสองคำนี้ มีความคล้ายคลึงกัน และมีความเชื่อมโยงกันในศาสตร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป  คนจึงมักเรียกปะปนกัน  ต่อมาหลายคนจึงเรียกรวมกันไปเลยว่า การบริหารจัดการ เพื่อให้ใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน  เหมือนคำว่า ครู กับ อาจารย์ ซึ่งปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ก็นิยมเรียกรวมกันไปเลยว่า ครูอาจารย์ หรือ คำว่า นิสิต กับ นักศึกษา ซึ่งในปัจจุบันเรียกรวมกันว่า นิสิตนักศึกษา เป็นต้น  ประเด็นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นความพลวัตของภาษา
ด้วยความจำเป็นที่หลายสาขาอาชีพล้วนต้องใช้ความรู้ในศาสตร์นี้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน  จึงทำให้มีผู้ที่สนใจศึกษาสาขาวิชา รปศ.มากขึ้น ทั้งนักศึกษาภาคปกติ และภาค กศ.บท. (บางแห่งเรียกว่า กศ.บป.)
กศ.บท. หมายถึง การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรประจำท้องถิ่น
กศ.บป. หมายถึง การศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ
ซึ่งทั้ง 2 คำนี้  มีความหมายครอบคลุมถึงนักศึกษาที่มิได้เรียนในวัน เวลาปกติ จันทร์-ศุกร์  กล่าวคือ จะศึกษาในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือไม่ก็ วันจันทร์-ศุกร์ นอกเวลาราชการ
จากความนิยมของคนทั่วไปที่สนใจศึกษาศาสตร์นี้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ คนนอกศาสตร์มองว่ารปศ.ขาดเอกลักษณ์  ใครจะมาเรียนก็ได้  รับหมด ไม่จำกัดจำนวน   ไม่จำกัดวุฒิ  จนบางครั้งถึงขั้นมีคนพูดให้ได้ยินว่า  ถ้าไปลงเรียนอะไรแล้วเขาไม่รับให้มาเรียน รปศ....รับประกันว่าจะได้เรียนแน่นอน คำพูดนี้ได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนที่เรียน รปศ.อย่างยิ่ง...
ประเด็นนี้ หากมองจากคนในศาสตร์ มีคำอธิบายว่า รปศ.คือ ศาสตร์แห่งการบูรณาการ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Interdisciplinaryกล่าวคือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับศาสตร์อื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์  มนุษยศาสตร์ กฎหมาย  สังคมศาสตร์  ภูมิศาสตร์  ประชากรศาสตร์  ภาษาศาสตร์ ซึ่งในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ เราคงต้องยอมรับว่า การบริหารจัดการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนทุกคน  ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ  ด้วยเหตุนี้ รปศ.จึงเปิดรับผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะศึกษาศาสตร์นี้อย่างกว้างขวาง  ดังนั้น หากใครมองว่ารปศ.ขาดเอกลักษณ์  ด้วยเหตุผลข้างต้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ก็อาจมีมุมมองที่สะท้อนกลับไปว่า การขาดเอกลักษณ์...คือเอกลักษณ์ของ รปศ.
แม้ว่าในแต่ละปีการศึกษา หลายมหาวิทยาลัยจะเปิดรับนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนในสาขาวิชา รปศ.เป็นจำนวนมาก จนบางคนมองว่าเป็นการเน้นที่ปริมาณมากเกินไป  ตามมาด้วยคำถามถึงเชิงคุณภาพว่า การเรียนการสอนได้คุณภาพหรือไม่ อย่างไร  ผู้เขียนในฐานะนัก รปศ.คนหนึ่ง มองว่า รปศ.คือศาสตร์หนึ่งที่มีความเข้มขลังไม่ต่างจากศาสตร์อื่นทั่วไป  เพราะมีรากฐานมาจาก แนวคิด ทฤษฎี ตลอดจนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง  เพราะ รปศ. เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์  ดังนั้นเรื่องคุณภาพในตัวของศาสตร์คงไม่ต้องพูดถึง มาพิจารณาที่ตัวบุคคล คือ อาจารย์  และผู้เรียนดีกว่า ว่ามีคุณภาพ และได้มาตรฐานหรือไม่ อย่างไร
ครูอาจารย์ที่จะเข้ามาทำหน้าที่สอนในระดับอุดมศึกษานั้น เป็นที่ยอมรับจากทุกวงการว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณภาพ  เก่ง และมีความรอบรู้เชิงลึกในศาสตร์นั้นๆ และต้องผ่านการสอบคัดเลือกหลายกระบวนการกว่าจะได้ก้าวเข้าสู่อาชีพอันทรงเกียรตินี้   ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่าสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างปริมาณอาจารย์กับปริมาณนักศึกษาอยู่ที่เท่าไหร่  อาจารย์ 1 คน  ต่อจำนวนนักศึกษากี่คน  จึงจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผล   อาจารย์ 1 คน ต่อ นักศึกษา  40-50 คน เหมือนกับโรงเรียนในระดับประถมศึกษา หรือ มัธยมศึกษา  ซึ่งควรจะมากกว่า หรือ น้อยกว่านั้น...
จากประสบการณ์การสอนในสาขาวิชานี้ ผู้เขียนมีคำตอบต่อประเด็นคุณภาพของนักศึกษาว่า ปัจจุบันนโยบายระดับประเทศส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจจะศึกษา ใครอยากเรียนต้องได้เรียน ไม่มีการปิดกั้นหนทางแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง  สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งที่ให้โอกาสทางการศึกษากับคนในท้องถิ่น ได้มีการศึกษาที่ดี ในมหาวิทยาลัยที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ด้วยเป้าหมายดังกล่าว บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากทุกสาขาวิชาจึงได้รับการประกันคุณภาพการศึกษาจากสถาบันการศึกษาแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นผู้รอบรู้ของชุมชน และสังคม 
ตรงนี้หากสังเกตให้ดีจะพิจารณาเห็นว่า จำนวนที่รับเข้าศึกษากับจำนวนบัณฑิตในแต่ละสาขาวิชามีความต่างกันพอสมควร  อย่างที่เคยได้ยินอาจารย์บางคนพูดกับนักศึกษาเพื่อเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาตั้งใจเรียนว่า  เราไม่คัดเข้า...แต่เราจะคัดออกกล่าวคือ นักศึกษาจะต้องเรียนได้ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่มหาวิทยาลัยกำหนด  จึงจะมีโอกาสได้สำเร็จการศึกษาและได้ใช้คำว่า บัณฑิต  ดังนั้น  คุณภาพจึงขึ้นอยู่กับตัวของนักศึกษาเองด้วยเช่นกัน..
มีคำถามยอดนิยมจากว่าที่นักศึกษา รปศ.และผู้ปกครอง สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ ซึ่งมักจะถามว่าเรียน รปศ. จบแล้วจะไปทำอาชีพอะไรได้บ้างคำตอบ คือ ทำไม่ได้ทุกอาชีพ แต่ทำได้ทุกหน่วยงาน   กล่าวคือ อาชีพ คือ วิชาชีพเฉพาะ ที่จะต้องเรียนจบในศาสตร์นั้นๆโดยเฉพาะ  เช่น  แพทย์  วิศวกร  พยาบาล  สถาปนิก  นักกฎหมาย  เป็นต้น ซึ่งตามหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือ จะทำธุรกิจส่วนตัว ก็สามารถนำความรู้ทางศาสตร์ รปศ.ไปใช้ได้ทั้งสิ้น  โดยมากจะเข้าไปทำงานในตำแหน่ง  นักวิเคราะห์นโยบายและแผน  เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป  ปลัด และเจ้าหน้าที่ตามหน่วยงานราชการ รวมถึงองค์กรเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ  เป็นต้น 
ส่วนผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ บุคคลหลากหลายอาชีพ ก็สามารถนำความรู้ไปใช้กับการ บริหารตนเอง บริหารคน และบริหารงาน ในหน่วยงานที่สังกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าคน ซึ่งนอกจากจะต้องบริหารตนเองให้ได้แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการบริหารงาน และบริหารคนให้ดีอีกด้วย  โดยเฉพาะการบริหารคน ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง  ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าการบริหารคนเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย  เพราะจิตใจคนยากแท้หยั่งถึง รวมถึงมีตัวแปรต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้น จึงต้องเรียนศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเพื่อนำไปปรับใช้กับสิ่งเหล่านี้   
สัญลักษณ์ของ รปศ. คือ สิงห์  หมายถึง ผู้ปกครองดั่งราชสีห์ผู้เป็นจ้าวแห่งป่า ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ก็ใช้สิงห์เป็นสัญลักษณ์ อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่แห่งการปกครอง สาขาวิชารปศ.โดยมากจะเป็นภาควิชา หรือ โปรแกรม ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบางแห่งก็อาจจะอยู่ในคณะวิทยาการจัดการ เช่น ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ สาขาวิชา รปศ.จะสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  แม้ว่าจะใช้สิงห์เป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน แต่จะต่างกันตรงสีประจำคณะ หรือ สถาบัน ดังนี้


สถาบันการศึกษา
สัญลักษณ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
สิงห์ดำ
ม.ธรรมศาสตร์
สิงห์แดง
ม.เกษตรศาสตร์
สิงห์เขียว
ม.เชียงใหม่
สิงห์ขาว
ม.สงขลานรินทร์
สิงห์น้ำเงิน
ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
สิงห์เงิน
ม.รามคำแหง
สิงห์ทอง
ม.แม่โจ้
สิงห์ไพร
ม.นเรศวร
สิงห์ม่วง
ม.อุบลราชธานี
สิงห์แสด
ม.ราชภัฏสวนดุสิต
สิงห์ฟ้า
ม.ราชภัฏสวนสุนันทา
สิงห์พระนาง
ม.บูรพา
สิงห์เทา-ทอง
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
สิงห์เขียว-ทอง
ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย
สิงห์ส้ม


















 



ลักษณะเด่นของ รปศ.คือ ความรอบรู้ในเรื่องราวต่างๆ ทั้งเหตุบ้านการเมือง และความเป็นไปของโลก  ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบริหารจัดการจะเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน  ดังนั้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ที่ดีจึงควรรอบรู้ ข่าวสาร และเหตุการณ์ต่างๆอย่างทันท่วงที เพื่อจะได้มีข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี และทันการณ์   โดยเฉพาะการปรับตัว  ผู้เขียนมองว่าแม้แต่สิ่งมีชีวิต ยังมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์และมีชีวิตอยู่ได้  เช่น  ยีราฟ  ตะบองเพชร ตลอดจน การเปลี่ยนสีของสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด เชื่อมโยงมาถึงความรู้ หรือ ศาสตร์ในปัจจุบันก็เช่นกัน ล้วนมีการปรับตัวเพื่อให้ความรู้ในศาสตร์นั้นๆมีการถ่ายทอด และดำรงอยู่ โดยเฉพาะในยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร หรือ โลกาภิวัตน์ (Globalization)อย่างทุกวันนี้  ความรู้และงานวิจัยใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา  หากศาสตร์ใดไม่มีการปรับตัวให้มีความทันสมัยก็อาจเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาและอาจถึงจุดจบในไม่ช้า   

เคยมีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า รปศ. เปรียบเสมือนสีเทา คือ สีที่เป็นส่วนผสมระหว่าง ดำ กับ ขาว  ถ้าเป็นในศาสตร์ของจีนก็อาจเปรียบได้กับ หยิน-หยาง ซึ่งแม้จะมีความต่างกัน แต่อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ รปศ.ยังมีเครือข่ายที่กว้างขวาง เนื่องจากมีผู้คนจากหลากหลายอาชีพที่เข้ามาศึกษาในศาสตร์นี้ บิณฑิตรุ่นแล้วรุ่นเล่าจากทุกสถาบันซึ่งเสมือนพี่-น้องสิงห์  แม้จะต่างสถาบัน ต่างสี  แต่เรามีอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ทำเพื่อประโยชน์สุขของคนในสังคม และประเทศ ทั้งงานด้านการปกครองส่วนกลาง  ได้แก่ กระทรวง และกรม   ส่วนภูมิภาค  ได้แก่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และ จังหวัด  และส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  องค์การบริหารส่วนตำบล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล  ตลอดจน  ชาวสิงห์ที่ทำงานในภาคเอกชนก็ตาม  ล้วนเป็นเครือข่ายและพันธมิตรที่ดีต่อกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน และมักจะมีการสังสรรค์พบปะในงานเลี้ยงรุ่นเป็นประจำ หลายกลุ่มอาชีพอยากมีเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่  เข้มแข็ง และกลมเกลียวแบบชาวสิงห์บ้าง แต่เครือข่ายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สร้างไม่ง่ายนัก 
ดังนั้น ตรงจุดนี้จึงเป็นความโดดเด่นและอาจเป็นแรงดึงดูดให้ชาวสิงห์มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ...ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าอนาคตศาสตร์ดังกล่าวก็จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป 
ตราบใดที่ยังมีการบริหารจัดการอยู่บนโลก  ตราบเท่าที่ยังมีระบบราชการ และตราบเท่าที่ยังมีการขยายตัวขององค์กรปกครองส่วนต่างๆ ตราบนั้น...รปศ.ก็จะยังคงอยู่ เพราะ รปศ. คือ ศาสตร์แห่งการบูรณาการ....ที่ไม่มีวันตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น