วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

“วงการบันเทิง” โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม


 
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

 
ปัจจุบัน วงการบันเทิงเป็นสิ่งที่คนในสังคมอยากเข้าไปสัมผัส ทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ให้ความสนใจกับวงการนี้เป็นพิเศษ จนทำให้ความฝันของเยาวชนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน อาชีพยอดนิยมของเยาวชน ได้แก่ แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักธุรกิจ ทนายความ ครู เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลับพบว่า อาชีพในวงการบันเทิง ได้รับความนิยมจากเยาวชนมาเป็นลำดับต้นๆ ทั้งๆที่เมื่อก่อนอาชีพนี้ถูกคนในสังคมมองว่าเป็น อาชีพเต้นกินรำกิน และผู้ใหญ่ไม่สนับสนุนให้ทำ....เหตุใดค่านิยมเหล่านี้จึงเปลี่ยนไป

วงการบันเทิง หรือ ที่หลายคนเรียกว่า วงการมายา ประกอบด้วยหลากหลายอาชีพ ได้แก่ ดารา นักแสดง นักร้อง นักเต้น พิธีกร ตลก หรืออาจรวมถึงผู้ประกาศข่าวด้วย หลายคนยอมรับว่าวงการนี้มีความน่าสนใจเพราะได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในสังคม เอื้อต่อการทำธุรกิจของตนเอง ได้แต่งตัวสวย-หล่อ เป็นต้น นอกจากนี้ รายได้ก็เป็นอีกปัจจัยที่เชิญชวนให้เยาวชนสนใจที่จะเข้าไปในวงการนี้มากขึ้น เช่น รายได้จากการออกรายการเกมโชว์ 1 รายการ หรือ 1 เทปที่ออกอากาศ (On Air) ที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือ ไม่เกิน 1 วัน อาจะเป็นตัวเลขหลักหมื่น หากเปรียบเทียบกับมนุษย์เงินเดือนอาชีพอื่นซึ่งจะต้องทำงานทั้งเดือนกว่าจะได้รับเงินจำนวนนี้ หรืออาจจะน้อยกว่า

นักวิชาการในสังคมอดห่วงไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากเยาวชนสนใจที่จะประกอบอาชีพนี้มากขึ้น หรือ ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล ตลอดจนอาชีพอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าอาชีพในวงการบันเทิงรายได้ดีกว่า...คนในสังคมคงต้องร่วมกันตอบคำถามนี้ เพราะขณะนี้บางสาขาวิชาชีพก็ขาดแคลนมากอยู่แล้ว เช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น น่าเสียดายที่พบว่าคนในสาขาวิชาชีพขาดแคลนหลายรายเลือกที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว...อาชีพในวงการบันเทิงมีอิทธิพลต่อเยาวชนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก จนอาจกล่าวได้ว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเยาวชนถูกหล่อหลอมมาจากคนในวงการบันเทิงมากกว่าบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองของพวกเขาเสียอีก โดยเฉพาะเยาวชนที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมเพื่อความโก้เก๋ ทันสมัย และเพื่อให้เข้าสังคมกับเพื่อนในกลุ่มได้

ตัวอย่างพฤติกรรมที่เยาวชนเลียนแบบ เช่น ใช้ของแบรนด์เนม (ติดยี่ห้อ) ใช้เงินฟุ่มเฟือย ประเมินค่าบุคคลด้วยวัตถุสิ่งของ หรือที่เรียกว่าพวกวัตถุนิยม ซึ่งจะคบค้าสมาคมกับคนที่เป็นแบบเดียวกัน มีของใช้ส่วนตัวราคาแพง หรือ ยี่ห้อเดียวกัน มีรถยนต์ราคาแพงพอๆกัน เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น พฤติกรรมการแสดงออก เช่น ท่าทาง กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกาย ของเยาวชนรุ่นใหม่ก็เป็นผลมาจากการเสพ /บริโภค หรือ เลียนแบบพฤติกรรมของคนในวงการบันเทิงเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้ถูกมองผ่านมุมมองสองด้าน ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากคนในสังคม ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่สังคมควรมีจุดยืนที่ชัดเจน ตลอดจนช่วยกันชี้แนะว่าอันนี้เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก 60 กว่าล้านคน ประชากรมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก (จาก 276 ประเทศ) การขาดมาตรฐานที่ชัดเจน เป็นธรรม หรือ แม้กระทั่งกฎหมายที่ล้าหลังตามยุคสมัยไม่ทัน ทำให้การปกครอง ควบคุม ดูแลคนจำนวนมากเหล่านี้เป็นไปอย่างลำบาก

ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงเสนอความคิดเห็นว่าควรเริ่มที่ต้นเหตุ หรือ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงผลลัพธ์ ย่อมดีกว่ามาตามแก้ไขปัญหาภายหลัง ตัวอย่างเช่น รายการโทรทัศน์ รวมถึงละครในบ้านเรา ก่อนเริ่มรายการจะมีคำแนะนำและชี้แนะว่ารายการนี้ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชนตั้งแต่อายุเท่าไหร่เป็นต้นไป ผู้ใหญ่ควรให้คำชี้แนะ ...ในทางปฏิบัติมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เปิดดูรายการนี้ทั้งๆที่ไม่เหมาะสมกับพวกเขา และไม่มีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ ซึ่งอาจจะเนื่องจากผู้ใหญ่ทำงานนอกบ้าน หรือไม่มีเวลามานั่งดูรายการโทรทัศน์ร่วมกับเด็กๆในบ้าน ประเด็นนี้ จึงเท่ากับว่าเตือนไปก็เปล่าประโยชน์ บางคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการทำไปแบบขอไปที ไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่าคนในปัจจุบันเขาใช้ชีวิต และมีความเป็นอยู่อย่างไร จึงเท่ากับว่าเรากำลังปล่อยให้เยาวชนที่ยังไม่มีวิจารณญาณในบางเรื่องได้เสพ / บริโภคข้อมูลข่าวสารแบบผิดๆ ถูกๆ ด้วยตัวของเขาเอง ด้วยการอ้างถึงสิ่งที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม

ดังนั้น แนวทางแก้ไขประเด็นนี้ จากการพูดคุยกับผู้ปกครอง และผู้ใหญ่หลายคนได้ข้อเสนอแนะว่า ผู้ผลิตสื่อรายการโทรทัศน์และละครควรมีความรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มการผลิต ว่าสิ่งที่นำเสนอไปเมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ผลที่ตามมาจะออกมาในรูปแบบใด คำถามที่ย้อนกลับไปยังผู้จัด / ผู้ผลิตรายการ คือ เหตุใดจึงไม่ผลิตรายการที่คนทุกเภท ทุกวัย สามารถดูได้ ทำนอง เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี รายการใดไม่เข้าข่ายดังกล่าว เช่น เด็กดูไม่ได้ ผู้ใหญ่ดูแล้วล่อแหลม เป็นอันตรายต่อสังคม หรือ สื่อไปในทางที่ใช้ความรุนแรงมากเกินไป (เกินความเป็นจริง) ก็ตัดออกไป หรือปรับแก้ไขบทให้เหมาะสม น่าจะเป็นการดีกว่าคำเตือน / คำชี้แนะดังกล่าว เพราะหลายคนทราบดีว่าผู้ปกครอง และผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้รับชมร่วมกับเยาวชนตลอดเวลา

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการผลิตรายการ หรือละครบางรายการ ไม่คำนึงถึงผู้ชม ไม่ต่างจากการการขายสุรา /ยาสูบ ซึ่งทั้งๆที่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีต่อคนในสังคมและเยาวชน แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังทำ / ผลิต ซึ่งจะด้วยเหตุผล หรือข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายผลร้ายที่ตามมาย่อมเกิดกับเยาวชนและคนในสังคมอยู่ดีตัวอย่างพฤติกรรมหรือสิ่งที่สะท้อนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในสายตาคนชมรายการ พบว่า นักแสดง นักร้องแต่งกายวาบหวิว (จนน่าตกใจ) ทำให้ผู้ชมลุ้นว่าการแสดงจะตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือ อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำในลักษณะเสื้อผ้าหลุด / ขาดออกจากกัน หรือเห็นในสิ่งที่ไม่ควรจะเห็น ... แม้กระทั่งการใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาไทย ซึ่งพบว่ามีหลายรายการที่ผู้ประกาศ / ผู้รายงานพูดภาษาไทยไม่ชัด ร ล คำควบกล้ำ ทำให้ผู้ชมรู้สึกหงุดหงิดและขัดใจกับสิ่งที่ได้ฟัง จนกระทั่งไม่สามารถจับใจความได้ว่าเป็นการรายงานเรื่องอะไร เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร เพราะผู้ชมคอยจับผิดผู้ประกาศนั่นเอง

มาถึงละครกันบ้าง ละครไทยทุกวันนี้ เท่าที่ผู้เขียนได้รับฟังคำวิจารณ์จากผู้ชมพบว่า เนื้อเรื่องจะเน้นให้ตัวละครหลักรวยมาก ใช้ชีวิตหรูหรา ใช้เงินฟุ่มเฟือย เอาแต่ใจ นึกจะทำอะไรใครก็ได้ ไม่รู้จักแม้กระทั้งตัวเองว่าเป็นลูกของใคร นึกจะตบก็ตบ นึกจะฆ่าแกงใครที่ขัดขวางตนเองก็ฆ่าเหมือนผักปลา ด้วยวิธีต่างๆนานา บ้างก็ใส่ยาพิษ ยิงกันเลือดพล่าน โดนยิงหลายนัดแต่ยังวิ่งคล่องแคล่ว วันที่โดนยิงด้านขวา แต่เมื่อไปทำแผลที่โรงพยาบาลกลับเป็นด้านซ้าย ส่วนคนพิการวันนี้เป๋ข้างขวาวันต่อมาเป๋ข้างซ้าย โดยเฉพาะละครย้อนยุคที่มีการทำการบ้าน (ศึกษา)มาอย่างดีเกี่ยวกับความเหมาะสมของเสื้อผ้าหน้า แต่มาตกม้าตายที่สีผมของนางเอกกับนางร้ายที่ไม่ได้เข้ากับยุคสมัยนั้นๆ แม้กระทั่ง นางเอกกับนางร้ายซึ่งมีนิสัยต่างกันราวฟ้ากับดิน อย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่ในโลก

 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสนิยม ถ่ายหวิว รับลมร้อน ทั้งๆที่บางช่วงถ่ายตอนหน้าหนาว ของดารา นักแสดงทั้งหญิง-ชาย นางเอก-นางร้าย ถ้าเขาจ้างให้ถ่ายเป็นอันรับปาก รวมถึงคนในวงการบันเทิงที่กำลังมาแรงในขณะนั้นไม่ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะสวย-หล่อหรือไม่ ขอให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเองและกระแสมาแรงเป็นอันต้องโดนทาบทามให้มาถ่ายหวิวด้วยค่าตัวหลักแสนเลยก็มี ด้วยค่าตัวในการถ่ายทำที่สูงลิบลิ่ว ประกอบกับใช้เวลาในการถ่ายทำไม่นานนัก ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีคนมาจ้างพวกเขาบ้างเขาก็ยอมทำ ดีกว่าต้องทนทำงานตลอดชีวิตกว่าจะได้จับเงินแสน เงินล้าน หรือไม่ก็ไม่มีโอกาสได้จับเลยก็มี ซึ่งคงต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้อย่างที่กล่าวมา เพราะการทำงานในลักษณะนี้ จะต้องอาศัยความสามารถ ความพยายาม ความอดทน และจุดขาย เป็นสำคัญว่าจะขายใคร ลงทุนถ่ายทำไปแล้วจะมีกระแสตอบรับอย่างไร

ก่อนหน้านี้ มีผู้ใหญ่หลายคนออกมาวิจารณ์/ตักเตือน พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนในวงการบันเทิงบางคนผ่านสื่อ ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนกลับไปว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำ ความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน ใครเป็นคนกำหนด หรือชี้ขาดว่าอะไรคือความเหมาะสม อะไรที่เรียกว่าไม่เหมาะสม ตราบใดที่ไม่เป็นการกระทำผิดกฎหมาย พวกเขาจึงสามารถกระทำได้ หลังจากนั้นกระแสการออกมาตักเตือนของผู้ใหญ่ที่หวังดีเหล่านั้นก็ค่อยๆเงียบหายไป เหมือนที่ใครหลายคนในสังคมเป็นอยู่ในขณะนี้ คือ เงียบๆ เฉยๆ ทำตัวเนียนๆไว้ แล้วจะดีเอง ใครที่ออกมาวิจารณ์ เสนอความคิดเห็นถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีก็อาจถึงขั้นดับอนาคตของตนเองเลยด้วยซ้ำ ....

มาถึงตรงนี้ จึงมีคำถามว่า เราจะปล่อยให้สังคมดำเนินต่อไปอย่างเช่นที่เป็นอยู่ขณะนี้ หรือจะช่วยกัน...ผู้เขียนมองว่าคนในสังคมสามารถให้ข้อเสนอแนะ ติติง ห้ามปราม และทักท้วง ในทางสร้างสรรค์ได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน แก้ไข / ปรับปรุง / พัฒนา ไปในทางที่ดีและเหมาะสมต่อไป เราควรช่วยกันเป็นกระจกสะท้อนภาพของสังคมเหล่านี้ออกมาให้คนในสังคมได้รับรู้ และรับผิดชอบร่วมกัน ....สุดท้ายการรับชม / บริโภครายการโทรทัศน์ ละคร หรือ สื่อบันเทิงต่างๆ ล้วนต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในการรับชมของผู้ชม /ผู้บริโภคเป็นสำคัญ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น