วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

ภาษาอังกฤษ : ประตูสู่โลกกว้างทางการศึกษาระดับสากล (ตอนจบ)

ประทุมทิพย์  ทองเจริญ
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า  ทุกวันนี้ ใครเก่งภาษาอังกฤษถือว่าได้เปรียบมากในทุกวงการ สำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอกก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และทักษะภาษาอังกฤษในระดับดี ถึงดีมากเช่นกัน เพราะบุคคลเหล่านี้ เปรียบเสมือนสมองและคลังความรู้ที่จะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับชุมชน สังคม ประเทศ  และระดับนานาชาติให้เป็นที่ประจักษ์ในเบื้องหน้า
การศึกษาปริญญาเอกในประเทศส่วนใหญ่จะมีการวัดความรู้ภาษาอังกฤษก่อนจะรับเข้าศึกษาต่อ ซึ่งพบว่าสถาบันการศึกษาบางแห่งมีการจัดสอบในลักษณะนี้ด้วยมาตรฐาน หรือ แบรนด์ของตนเอง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการสอบ CU-TEP  ม.ธรรมศาสตร์ จะมีการสอบ TU-GET  และ ม.สงขลานครินทร์ จะมีการสอบ PSU-GET เป็นต้น หรือบางแห่งก็ใช้ผลคะแนนสอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับอย่าง TOEFL และ IELTS  มาเป็นเกณฑ์  ต่อไปนี้ คือ ความรู้และประสบการณ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษซึ่งจะเน้นที่รูปแบบ  IELTS  และข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในต่างประเทศที่จะมาแบ่งปันกับชาว มรส. ดังนี้
ระบบการสอบ
มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกให้การยอมรับผลคะแนนภาษาอังกฤษ ๒ ระบบ คือ TOEFL(The Test of English as a Foreign Language) ค่ายของสหรัฐอเมริกา และ IELTS (The International English Language Testing System) ค่ายของอังกฤษ  ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น  โดยระบบ IELTS จะแยกสอบเป็น 2 ประเภท คือ แบบทั่วไป (General)  และแบบวิชาการ (Academic) ซึ่งผู้ที่ประสงค์จะนำผลการสอบไปใช้สำหรับสมัครเข้าศึกษาต่อจะต้องสอบในรูปแบบหลังเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เคยได้ยินผู้ที่ไปศึกษาต่อ ณ  ประเทศสหรัฐอเมริกาเล่าให้ฟังว่า สหรัฐอเมริกาจะเข้มงวดเรื่องกฎเกณฑ์มาก กล่าวคือ จะยอมรับเฉพาะผลการสอบ TOEFL เท่านั้น  แต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกายอมรับผลคะแนน IELTS มากขึ้น  นอกจากนี้ ยังต้องสอบวัดความรู้และทักษะอื่นๆด้วย เช่น การสอบวัดเชาวน์ปัญญาทั่วไป สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า GRE (Graduate Record Examination)  และ การสอบวัดความสามารถของผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจ หรือที่เรียกว่า GMAT (The Graduate Management Admission Test) ซึ่งค่าใช้จ่ายในการสอบ   แต่ละประเภทจะใกล้เคียงกัน ครั้งละประมาณ ๖,๕๐๐ ,๐๐๐ บาท (www.englishthailand.com) 
สนามสอบ  IELTS
สถาบันภาษาที่มีการจัดสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษระบบ IELTS ในประเทศไทย มี ๓ สถาบัน คือ IDP Education Service  British Council และ Cambridge แต่โดยมากคนไทยจะนิยมสอบกับ ๒ สถาบันแรกมากกว่าเพราะก่อตั้งมานานและเป็นที่รู้จักดี สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  แต่จะมีสาขา หรือ ศูนย์จัดการสอบและแนะแนวการศึกษาต่อตามเมืองใหญ่ๆของแต่ละภาคด้วย เช่น เชียงใหม่  หาดใหญ่  ขอนแก่น เป็นต้น  ซึ่งการสอบในต่างจังหวัดจะจัดขึ้น ๑ ครั้ง/เดือน หรือ เดือนเว้นเดือน แต่ในกรุงเทพมหานครมีการจัดสอบสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง  เช่น IDP จะมีการจัดสอบวันพฤหัสบดีในบางสัปดาห์ ณ สำนักงานใหญ่ด้วย 
ที่ผ่านมาศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับความไว้วางใจจาก IDP Education Service ให้เป็นสนามสอบ IELTS  มาแล้ว ๒ ครั้ง  มีทั้งคนภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยให้ความสนใจสมัครเต็มทุกรอบ  ล่าสุดเพิ่งจะมีการจัดสอบไปเมื่อวันเสาร์ที่  ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ณ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 
ค่าสมัครสอบ
ค่าสมัครสอบรวมค่าธรรมเนียม ประมาณ ๖,๕๐๐ บาท  หากใครอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น       ค่าเดินทาง  ค่าที่พัก เพิ่มขึ้นรวมแล้วประมาณ  ๑๐,๐๐๐ บาท / ครั้ง  ยิ่งกว่านั้น  อาจจะต้องอบรม หรือ ติวเข้มก่อนสอบ เพื่อให้ทราบเทคนิค วิธีการ และแนวทางในการทำข้อสอบแต่ละทักษะ  ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นบาท  ที่ผ่านมา รศ.สุณีย์  ล่องประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์  ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการของมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างต่อเนื่อง  โดยจัดให้มีการอบรมภาษาอังกฤษขั้นสูง  ระยะเวลา  ๓-๔ สัปดาห์ ให้แก่บุคลากรสายวิชาการเป็นประจำทุกปีการศึกษา   ซึ่งเคยจัดมาแล้ว    ๒ ครั้ง  ครั้งละประมาณ  ๒๐-๓๐ คน โดยมีเจ้าภาพ คือ กองการเจ้าหน้าที่ และ ศูนย์ภาษา เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมและประสานกับวิทยากรจาก IDP Education Service  ซึ่งมหาวิทยาลัยออกค่าใช้จ่ายในการอบรมให้ทั้งหมด  รวมถึงมีอาหารว่างสำหรับผู้เข้าอบรมและวิทยากรตลอดหลักสูตรด้วย  ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท (๑๕,๐๐๐ บาท /คน)   ล่าสุดกำลังจะมีการจัดอบรมภาษาอังกฤษขั้นสูงอีกครั้ง ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ นี้   ซึ่งรอบนี้มีอาจารย์จากคณะต่างๆสนใจสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมกว่า ๙๐ คน แต่จะมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกที่ได้คะแนนสูงสุดไม่เกิน ๒๐ คนเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้เข้ารับการอบรม  ใครจะเป็นผู้โชคดีในรอบนี้โปรดติดตาม  ส่วนที่เหลือจะจัดอบรมโดยศูนย์ภาษาต่อไป
จำนวนครั้งของการสอบ
ผู้ที่มีความประสงค์จะสอบสามารถสอบได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์  โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประมาณหนึ่งหมื่นบาทต้นๆ  การจะสมัครสอบที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงเงินเดือนกว่าครึ่ง หรือ เกือบทั้งเดือนหมดไปกับการสอบในครั้งนั้นไปแล้ว  ซึ่งบางคนอาจจะต้องขอทุน พม. (พ่อกับแม่)เพิ่มเติม ในส่วนนี้  ผู้บริหาร มรส.ชุดปัจจุบันได้มีนโยบายช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเหล่านี้แก่บุคลากรสายวิชาการที่สอบ IELTS ได้ระดับคะแนนรวม  ๕.๕ ขึ้นไป สามารถนำหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าสมัครสอบ เพื่อมาขอเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลังได้ครบทุกบาททุกสตางค์ ตามหลักเกณฑ์ในประกาศของมหาวิทยาลัย
ที่สำคัญใช่ว่าสอบครั้งเดียวจะผ่านแล้วผ่านเลย  จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถาบันการสอบเหล่านี้ พบว่าจำนวนครั้งของการสอบต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ ๕ ครั้งขึ้นไป  หรือบางคนนับสิบครั้ง(กว่าจะสอบผ่าน) เพราะนอกจากคะแนนรวม(Overall) แล้ว  ทุกทักษะ (ฟัง พูด อ่าน และ เขียน) จะต้องผ่านตามเกณฑ์ที่ระบุด้วย  ผลสอบแต่ละครั้งถ้าผ่านในระดับที่ผู้สอบพอใจสามารถเก็บผลคะแนนไปใช้สมัครเรียน สมัครเข้าอบรม หรือ ขอทุนทำกิจกรรมต่างๆกับมหาวิทยาลัย หรือ องค์กรต่างประเทศได้ภายในระยะเวลา ๒ ปี

ระดับคะแนนที่ยอมรับ
เมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว ระดับผลคะแนน IELTS ที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศยอมรับให้เข้าศึกษาต่อ คือ ระดับผลคะแนนรวม ๕.๕  แต่ต่อมามีการปรับคะแนนจาก ๕.๕ เป็น ๖.๕ ทั่วโลก ยกเว้นสาขาวิชาภาษาอังกฤษจะต้องมีผลคะแนนรวม  ๗.๕ ขึ้นไป (จากคะแนนเต็ม ๙ ทุกทักษะ) การคำนวณคะแนนรวม มีที่มาจากการนำคะแนนแต่ละทักษะมารวมกันแล้วหาร ๔  เช่น  ฟัง (listening) ๕.๕  พูด (Speaking) ๕.๕  อ่าน (Reading) ๖.๐ และ เขียน (Writing) ๖.๐  คะแนนรวม เท่ากับ (๕.๕+๕.๕+๖.๐+๖.๐)/๔ = ๖.๐ เป็นต้น  โดยเฉพาะคะแนนทักษะการเขียน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาระดับปริญญาเอก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาแบบเน้นการทำวิจัย (Research)
จำนวนที่รับ
การศึกษาระดับปริญญาเอกต่างประเทศ  ใช่ว่าใครจะเรียนก็เรียนได้เพราะแต่ละปีการศึกษา  สาขาวิชาต่างๆจะรับนักศึกษาปริญญาเอกเพียง ๕-๑๐ คนเท่านั้น  จากผู้สมัครหลายร้อยคน หรือ เกือบ ๑,๐๐๐ คนจากทั่วโลก สาเหตุที่รับจำนวนน้อย เพราะว่าเขาจะเน้นที่คุณภาพ ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ ที่สำคัญเมื่อบุคคลเหล่านี้สำเร็จการศึกษาไปแล้วชื่อมหาวิทยาลัยจะติดตัว ผู้นั้นไปตลอดชีวิต ดังนั้น จึงทำการคัดเลือกอย่างดีเพื่อรักษามาตรฐานชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย  ต่างจากปริญญาตรีและปริญญาโท  ซึ่งส่วนใหญ่จะรับเข้าศึกษาเกือบทั้งหมด เพราะที่นั่ง(จำนวนที่รับ) มีมากกว่าหลายเท่า
เกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก จะมีเกณฑ์การรับนักศึกษาปริญญาเอกเหมือนๆกัน โดยคุณสมบัติสำคัญที่ผู้สมัครจะต้องมีอย่างน้อย ๘ ประการ  ดังนี้
1.      ผลคะแนนภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่กำหนด
2.      ผลการเรียนระดับเกียรตินิยม (ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท)
3.      ถ้าสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีกับปริญญาโทคนละสาขาจะต้องเรียนปริญญาโทซ้ำอีก ๑ ใบเพื่อตอกย้ำความเข้มข้นทางวิชาการและทฤษฎีในศาสตร์นั้นๆ
4.      มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ระดับชาติ หรือ นานาชาติ  (หนังสือ ตำรา บทความ ผลงานวิชาการอื่นๆ)
5.      ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ เช่น ตำแหน่งทางวิชาการ 
6.      เป็นนักวิชาการ  กล่าวคือ  ถ้าผู้นั้นสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะต้องได้นำความรู้ไปใช้ หรือ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดคุณูปการกับสังคมและประเทศต่อไป
7.     หัวข้อ และ โครงร่างงานวิจัย (Proposal) จะต้องเป็นที่สนใจของอาจารย์ที่ปรึกษา (ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เรียกที่ปรึกษาว่า Supervisor  ขณะที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ เรียกที่ปรึกษาว่า  Advisor)
8.     ผู้สนับสนุนทุนการศึกษา(รัฐบาล นายจ้าง หรือ ครอบครัว) กล่าวคือ ถ้ามีสังกัดจะมีโอกาสที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศจะพิจารณารับเข้าศึกษาต่อมากกว่าผู้สมัครอิสระ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งของผู้เขียนซึ่งใช้เวลาในการเตรียมตัวสำหรับการไปศึกษาต่อต่างประเทศเกือบ ๒ ปี  และกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อในเร็ววันนี้  ส่วนไปแล้วจะเป็นอย่างไร  ไปแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง หรือ จบปริญญาเอกแล้วดีอย่างไร คำถามเหล่านี้ ยังรอคอยคำตอบและคำชี้แนะจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมาแล้ว   ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันระหว่างชาว มรส. ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น