วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ครูผู้สร้างคน...ให้เป็น “ฅน”



โดย อ.ประทุมทิพย์  ทองเจริญ
      หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดคำว่า “คน” จึงไม่เขียนด้วย“ฅ” แต่กลับใช้ “ค” แทน ทั้งๆที่เมื่อก่อนเราเคยมีพยัญชนะตัวนี้ใช้ และถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงอยากให้เขียนคำนี้ด้วยพยัญชนะ “ฅ”มากกว่า ผู้เขียนเคยถามผู้รู้หลายคนก็ได้คำตอบนานาจิตตัง หรือการสร้าง “คน”ให้เป็น“ฅน”จะเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่จะเข้าใจ…
        ระยะเวลากว่า 4 ปี ที่ผู้เขียนได้ประกอบอาชีพนี้ ทำให้รู้ว่าการสร้างคนให้เป็นคนยากเย็นแสนเข็นจริงๆ จนทำให้เข้าใจหัวอกของคนที่คิดสำนวนไทยที่ว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” ก็คราวนี้เอง  เพราะนอกจากความรักในอาชีพที่ตนทำแล้ว ยังต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ  มีจรรยาบรรณ  และยังต้องเอาใจเขา(นักศึกษา)มาใส่ใจเรา(อาจารย์) ด้วยเช่นกัน เพราะ “ลูกศิษย์” คือ ผู้เป็นทั้ง“ลูก” และ “ศิษย์” จึงต้องสอนด้วยความรักและความเข้าใจ  ที่สำคัญการเป็นครูอาจารย์จะเป็นตลอดชีวิต เป็นแล้วเป็นเลย ไม่สามารถลาออกจากความเป็นครูอาจารย์จากใจของศิษย์ได้
      ครูคนแรกและครูตลอดชีวิต คือ พ่อ แม่ ท่านจึงเป็นผู้มีพระคุณยิ่งต่อลูกๆ เพราะท่านยังทำหน้าที่เป็นครูของลูกอีกด้วย พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมกล่าวถึงบุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศทั้ง 6ที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะ ปุรัตถิมทิศ หรือ ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน และทักขิณทิศ หรือ ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชาคุณ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่ามีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่าง คือ พระสารีบุตร  ซึ่งขณะนอนหลับพระสารีบุตรก็ยังหันหน้าไปทางทิศเบื้องขวาเพื่อแสดงความเคารพและสำนึกในบุญคุณของครูอาจารย์ด้วย   
           คำว่า “ครู” กับ “อาจารย์” มีความหมายคล้ายกัน คือ ผู้อบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่ศิษย์  ซึ่ง”ครู” มักใช้เรียกผู้สอนในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ส่วน “อาจารย์” มักใช้เรียกผู้สอนตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป  แต่ปัจจุบันเรามักพบว่ามีการใช้ 2 คำนี้ในสถาบันการศึกษาปะปนกันไปทุกระดับ  บางครั้งอาจได้ยินหลายคนเรียกรวมกันว่า “ครูอาจารย์” ก็มี  ซึ่งอาจารย์จำนวนไม่น้อยชอบให้ใครต่อใครเรียกตนเองว่า “ครู” เพราะฟังแล้วอบอุ่นและดูเป็นกันเองกว่า  ภาษาจีนเรียกครูว่า “หล่าวซือ”  ส่วนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ จะใช้คำเรียกที่ต่างกัน  เช่น Instructor  Teacher  Lecturer  และ Professor  เป็นต้น
      นักเรียนนักศึกษาหลายคนเคยบ่นให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง(ทั้งต่อหน้าและลับหลัง)ว่าครูอาจารย์มักให้การบ้าน และสั่งงานเยอะ ทำส่งกันมือเป็นระวิง  อยากมี 20 มือเหมือนทศกัณฑ์  อยากมีตัวช่วย  อยากมีมือขยันมาช่วยขยี้(เหมือนผงซักฟอกที่โฆษณา)  อยากเปลี่ยนคำถาม    และมี 3 ตัวช่วยอย่างรายการคุณไตรภพ  สุดท้ายก็ไม่มีใครมาช่วย นอกจาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ หรือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
         ผู้เขียนจึงนำประเด็นนี้ไปพูดคุยในชั้นเรียน และให้ข้อคิดกับนักศึกษาว่า นักศึกษา 1 คน  ทำการบ้าน / งานส่งอาจารย์ไม่กี่ชิ้น ต่ออาจารย์ 1 คน  ขณะที่อาจารย์ 1 คน ต้องอ่าน / ตรวจงานที่สั่งให้นักศึกษาทำทั้งชั้น  ทุกเล่ม ทุกงาน  ทุกชิ้น บางคนลายมืออ่านยากมาก ขนาดนำไปส่องกลางแดดแล้วยังแกะลายมือไม่ออก  ก็ต้องพยายามอ่านและให้คะแนน ด้วยข้อสมมติฐานเบื้องต้นจากการอ่านลายมือที่นักศึกษาเขียนมาว่า “ถูกต้องไว้ก่อน”  เหมือนกับที่ผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีความจะต้องพึงระลึกว่าตราบใดที่ยังหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง  ให้มองว่า “จำเลย”  คือผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนเสมอ...ดังนั้น ไม้บรรทัดของครูอาจารย์หลายคนที่ไว้ใช้สั่งสอน และตีลูกศิษย์ยังนำมาใช้เพื่อสร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมให้เกิดในหัวใจลูกศิษย์ของตนด้วย
         สอนเสร็จก็มิใช่เสร็จแล้วเสร็จเลย ยังมีงาน หรือ การบ้านที่ต้องตรวจอีกมากมาย  ถ้ามีนักศึกษาหลายคนก็ต้องหอบหิ้วกันพะรุงพะรังจนเป็นที่มาของคำพูดที่นักเรียนระดับประถมศึกษาชอบพูดแซวครูว่า “ถือถุง  พุงป่อง  น่องทู่  ครูไทย”  ด้วยเหตุนี้กลางคืนจึงไม่ได้หลับได้นอน  ต้องตรวจงาน/การบ้านให้เสร็จ  ยิ่งช่วงไหนเวลากระชั้นเข้ามามากๆ  ครูหลายคนจึงต้องพึ่งเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง ลิโพ  M-100  M-150  ตลอดจนมีฉลามหลายตัวมา บุกถึงบ้านกันเลยทีเดียว  ถ้าไม่ไหวจริงๆอาจารย์บางคนก็จะตะโกนออกมาดังๆว่า “สู้โว้ย!” โดยยืมคำพูดของน้องไก่ และน้องอร นักยกน้ำหนักมาเรียกขวัญและกำลังใจให้บังเกิดขึ้นอีกทาง  สุดท้าย ถ้าทำทุกอย่างแล้ว ไม่สามารถช่วยได้ จึงต้องฟุบหลับคากองหนังสือ/การบ้านให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย...
        งานการสอนจึงไม่ได้เสร็จสิ้นเพียงแค่ในชั้นเรียน  แต่ยังต่อเนื่องถึงเวลาพัก และเวลาส่วนตัวที่ครูอาจารย์ต้องสละให้กับงานของศิษย์อีกด้วย  เราจึงพบเห็นครูอาจารย์หลายท่าน ขณะที่กินข้าว ก็ดูโทรทัศน์ไปด้วย  พร้อมกับตรวจงานนักศึกษา  และช่วยสอนการบ้านลูกของตนไปด้วยพร้อมๆกัน  จนอาจกล่าวได้ว่า งานการสอนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครูอาจารย์มากกว่า 8 ชั่วโมงของเวลาทำงาน  โดยที่ไม่เคยได้รับโอทีจากใคร...เมื่อมีความรู้ใหม่ๆครูก็ต้องทดลองแบบลองผิดลองถูกให้รู้แจ้งก่อนจะนำไปสอนนักศึกษา จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ผิดเป็นครู”เพื่อให้ผู้เรียนได้ความรู้ที่ถูกต้องกลับไป หลายคนจึงเปรียบเทียบครูอาจารย์ว่าเป็นพ่อแม่คนที่สอง ที่ศิษย์ควรให้ความเคารพและสำนึกในพระคุณครูด้วยความกตัญญูกตเวที
ปัจจุบัน การเรียนการสอนแนวใหม่ หันมาให้ความสนใจ “ครูตู้” มากยิ่งขึ้น เช่น การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์   (E-learning) และ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)  ประเด็นนี้ ผู้เขียนลองถามนักศึกษาว่า “มีความคิดเห็นอย่างไรกับครูตู้”  ส่วนใหญ่ตอบว่าชอบเรียนกับครูอาจารย์ตัวจริงเสียงจริงมากกว่าเพราะได้ซักถาม และพูดคุยโต้ตอบได้ นอกจากนี้ พวกเขายังให้เหตุผลว่า การเรียนแบบครูตู้จะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้  ถ้าเรามีเวลา หรือจะเปิดฟังซ้ำอีกหลายรอบก็ย่อมได้  แต่ครูตัวจริงเสียงจริง ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย  ไม่มีการบรรยายซ้ำ  ต้องตามจด Lecture จากเพื่อนเอาเอง ที่สำคัญอ่านลายมือเพื่อนไม่ออกอีกต่างหาก ผู้เขียนมองว่า “ครูตู้”มีประโยชน์มาก กรณีเรียนทางไกล ซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์ และขาดแคลนครูผู้สอนที่เก่งและมีความชำนาญ  ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนจากครูตู้เนื้อหาของการเรียนอาจเหมือนกัน 

ดังนั้น ครูอาจารย์จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก และจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะทรัพยากรเหล่านี้ เคลื่อนที่ได้ และมักจะไปอยู่ในที่ที่พร้อมกว่าเสมอ  ดังที่หลายคนพูดแบบติดตลกว่า“ไปที่ชอบที่ชอบ”อนาคตสถาบันการศึกษาในบ้านเราคงต้องคิดหากลยุทธ์แย่งชิงตัวครูอาจารย์ที่มีคุณสมบัติ เก่ง ดี มีคุณธรรม แบบที่เด็กรัก และรักเด็ก  และคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะรักษาคนแบบนี้ไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ...ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ ครูอาจารย์สมัยใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนนอกห้องเรียนมากขึ้น เช่น การพาไปทัศนศึกษาเรือนจำ การพาไปลงพื้นที่ในชุมชนที่ขายสินค้า OTOP  การที่นักเรียนได้ไปดูสัตว์และแมลงของจริงในป่า เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้  จะเป็นส่วนเติมเต็มและเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้เรียนมากขึ้น  ซึ่งบ่อยครั้งจะพบว่าพวกเขาได้ความรู้ที่นอกเหนือจากตำรา ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงได้


ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยมักคาดหวังให้เยาวชนเก่งทางวิชาการมากกว่าเก่งด้านอื่น ซึ่งจากคำบอกเล่าของอาจารย์ที่เคยไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นจะส่งเสริมการเรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญโดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ (60 : 40) ตามลำดับ  ต่างกับบ้านเราที่ตัวเลขกลับกัน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น จนบางครั้งทำให้นักเรียนที่มีความชอบ และความถนัดที่ไม่ใช่เชิงวิชาการ  เช่น  เก่งพละ  เก่งนาฏศิลป์   เก่งศิลปะ  เก่งดนตรี อดน้อยใจครูและคนในสังคมรอบข้างมิได้ที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนที่เก่งทางวิชาการมากกว่า ซึ่งพวกเขายังคิดต่อไปอีกว่าเก่งแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง  และยังมองว่าคนเก่งวิชาการบางคนซึ่งเป็นที่รักของครูอาจารย์มักเอาเปรียบเพื่อนในห้อง  และเห็นแก่ตัว เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะใช้ความเก่งกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตนเอง  โดยไม่คำนึงถึงสังคมและส่วนรวมเลยก็มี


ประเด็นนี้ผู้เขียนมองว่าควรสอนให้คนเก่งในสิ่งที่พวกเขารัก ชอบ และถนัด  ตราบใดที่คนยังชอบใช้รถคนละยี่ห้อ คนละรุ่น เราคงไม่สามารถบังคับใจเด็กให้ชอบหรือเก่งทางวิชาการอย่างที่คนส่วนใหญ่คาดหวังได้ทั้งหมด  แต่ควรส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความเสมอภาคกัน เราจึงมีคนไทยที่เก่งระดับโลกอย่าง ธงชัย ใจดี  ประหยัด  มากแสง จาพนม และคนไทยอีกหลายคนที่สร้างชื่อเสียงระดับโลก มากมาย ซึ่งครูอาจารย์ก็คือผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เหมือนแมวมองที่จะช่วยสนับสนุน และชี้แนวทางให้เด็กเหล่านี้ไปถูกทิศ ถูกทางในสิ่งที่เขาอยากเป็น และใช้เรือลำน้อยทยอยส่งศิษย์เหล่านี้ไปสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย  ส่วนหนทางข้างหน้าที่อยู่บนฝั่งจะเป็นอย่างไร  ศิษย์จะต้องนำความรู้ที่ได้จากครูอาจารย์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิต และหน้าที่การงานด้วยตนเอง  โดยมีครูอาจารย์คอยชื่นชมในความสำเร็จของศิษย์เสมอ..
.
           แม้ว่าขากลับครูอาจารย์จะต้องพายเรือกลับมาคนเดียวและอาจต้องเผชิญอุปสรรคแต่เพียงลำพัง แต่ครูอาจารย์ก็ยินดีที่จะพายเรือกลับไปรับลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและท้อแต่อย่างใด ...เพราะมันคืออาชีพที่เขารักและภาคภูมิใจ ที่ได้สร้าง “คน” ให้เป็น“ฅน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น