ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ต่อจากตอนที่แล้ว…เรื่องเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
เมื่อถึงวันที่จะต้องเดินทางกลับ คนที่พักอาศัยในโรงแรม (ชินจูกุ วอชิงตัน โฮเตล)
จะต้องทำการคืนห้องพัก (Checkout)
ซึ่งที่นี่มีความพิเศษตรงที่ผู้พักสามารถคืนคีย์การ์ด
(บัตรซึ่งเป็นทั้งกุญแจห้องและสำหรับใช้เสียบเพื่อให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในห้องทำงาน) ได้ในตู้คืนบัตรซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้เอทีเอ็ม
(ATM : Automatic Teller Machine)
ที่สำคัญ
สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่าง คือ ญี่ปุ่นมีฐานคิดที่ว่า “เทคโนโลยี” กับ “สิ่งแวดล้อม” จะต้องไปด้วยกัน เป็นมิตรต่อกัน อย่างที่เล่าไปแล้วเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานของคนญี่ปุ่น
อาทิ การดื่มน้ำขวดเล็กแทนขวดใหญ่ นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ยังบอกกับคณะศึกษาดูงานว่าสถานที่ราชการและองค์กรต่างๆของญี่ปุ่นจะตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไว้ที่
๒๘-๓๐ องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ๓๐ องศาเซลเซียส
เพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งจากการได้ไปเยือนสถานที่ศึกษาดูงานทั้ง ๓ แห่ง (JICA
/ MEXT/ GRIPS) ทำให้คณะศึกษาดูงานคณะนี้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
วิทยากรชาวญี่ปุ่นในหลายที่สังเกตเห็นพวกเรานั่งฟังไปเหงื่อตกกันไป
เลยเชื้อเชิญให้ทำตัวตามสบายและถอดสูทได้ไม่ว่ากันเพราะวิทยากรก็ไม่ได้ใส่สูทมาเช่นกัน
มาถึงเรื่องราวของการศึกษาดูงาน
ณ หน่วยงานราชการและองค์กรที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ ช่วงเช้าคณะศึกษาดูงานได้เดินทางไปที่ JICA (The Japan International Cooperation Agency) โดยมี Mr. Umemiya Naoki, Ph.D. Deputy Director มาต้อนรับและบรรยายพิเศษแก่คณะศึกษาดูงาน
ส่วนช่วงบ่ายเดินทางไปศึกษาดูงานที่ MEXT (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology) ที่นี่มี Dr. Osamu
Aruga และ Kuniaki
Sato ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลแก่คณะศึกษาดูงาน ส่วนวันสุดท้าย วันที่ ๑๙ กันยายน
๒๕๕๕ ช่วงเช้า พวกเราเดินทางไปศึกษาดูงานที่ GRIPS (National Graduate Institute for Policy Studies)
โดยมี Prof.Masahiro Horie, Vice
President (รองอธิการบดี)
มาต้อนรับและให้ข้อมูลกับเรา การมาศึกษาดูงานครั้งนี้ได้ข้อมูลและความรู้เชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับคณะศึกษาดูงานเป็นอย่างมาก
รวมถึงได้เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษกลับมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเนื้อหาสาระที่ได้จากการไปศึกษาดูงานแต่ละแห่งมีมากมาย
ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอกรวบรวมคร่าวๆ มีประมาณ ๑๕๐ หน้า ซึ่งจะได้จัดทำเป็นรายงานสรุปการศึกษาดูงานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้เขียนจึงขอเล่าเฉพาะบางส่วนเท่าที่เวลาและพื้นที่ของบทความจะอำนวย
อาทิ การเข้าไปติดต่อสถานที่ราชการ หรือ หน่วยงานต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น
ผู้ที่มาติดต่อจะต้องรออยู่ด้านล่าง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่
หรือไม่ก็พนักงานรักษาความปลอดภัยคุ้มกันอย่างแน่นหนา มิให้คนภายนอกเข้า-ออกอาคารได้ตามใจชอบ ต้องรอจนกว่าคนที่เราติดต่อจะลงมาต้อนรับ นอกจากนี้
มัคคุเทศก์ยังเล่าว่าญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการถามคำถามเชิงวิชาการว่า
ผู้ถามจะต้องถามแบบอ้อมๆ โดยการเกริ่นนำบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องมาก่อน ตอนท้ายจึงจะเข้าสู่ประเด็นคำถามที่ต้องการจะถาม
เพราะการถามแบบตรงๆจะถือเป็นการเสียมารยาทมากๆ ซึ่งในเวทีวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสเข้าร่วมก็พบว่ามีลักษณะสอดคล้องกัน
ทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่ตอนที่
๑- ๔ คือ ภาพรวมของประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสมาโดยตรงจากการไปย่ำแดนอาทิตย์อุทัยภายในเวลา
๓ วันเท่านั้น หากมีโอกาสได้ไปเยือนที่นั่นอีกครั้งคงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังมากกว่านี้
หรือ หากชาวมรส.ท่านใดที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นบ้างแล้วอยากจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับนอกเหนือจากที่ผู้เขียนได้เล่ามาก็จะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในโอกาสต่อไป
หลังจากนี้
ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอก ยังมีงานชิ้นใหญ่ (Master
Piece / Magnum Opus) ที่จะต้องสะสางอีก อาทิ
การนำเสนองานวิจัย ๒ ชิ้น ในรายวิชาการศึกษาอิสระสำหรับนักนโยบาย (สมนก ๕๗๑)
สอนโดย อาจารย์ ดร.โชคชัย สุธาเวศ และรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ
(สมนก ๕๖๖) สอนโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รวมถึงการสอบปลายภาคแบบทำที่บ้าน
(Take home) ในรายวิชาประเด็นนโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ (สมนก
๕๖๕) สอนโดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ ชุณหคล้าย
และ อ.ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ แต่ที่ผู้เขียนและเพื่อนๆนักศึกษาปริญญาเอกคนอื่นๆหนักใจมากที่สุดคือ การสอบประมวลความรอบรู้ หรือ “QE” (Qualifying
Examination) ซึ่งจะมีการสอบในวันที่ ๓๐-๓๑
ตุลาคม ๒๕๕๕ นี้ ตามมาด้วยการสอบปากเปล่า
(Oral Examination) ทั้งภาคทฤษฎีและสอบเนื้อหาสาระที่นำเสนอในโครงร่างดุษฎีนิพนธ์
(Dissertation Proposal)
ทั้งนี้ ภายหลังกลับจากศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น
ผู้เขียนลองประมวลการเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าตลอดเวลา ๓ ภาคการศึกษา (ปีการศึกษา
๒๕๕๔-๒๕๕๕) ผู้เขียนและนักศึกษาปริญญาเอกที่นี่ได้เข้าร่วมกิจกรรมไปแล้วกว่า
๒๕ กิจกรรมด้วยกัน ซึ่งแต่ละกิจกรรมล้วนออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้
และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาของหลักสูตรฯ นี้ได้เป็นอย่างดี
มาถึงตรงนี้
ก็ถึงเวลาที่จะต้องอำลา ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา
ยิ่งเป็นเดือนกันยายนด้วยแล้ว ทำให้ผู้เขียนอดใจหายไม่ได้
เพราะเป็นเดือนแห่งการเกษียณอายุราชการของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพรักคนแล้วคนเล่า
ปีแล้วปีเล่า
การเดินทางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อมีเริ่มต้นก็ย่อมมีสิ้นสุด สำหรับวัฒนธรรมการลาจากกันของคนญี่ปุ่น
ส่วนใหญ่เจ้าบ้าน หรือ คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ (Host) จะเดินมาส่งพร้อมกับโบกไม้โบกมือจนลับตา
ก่อนจะขึ้นรถก็มีการโค้งแล้วโค้งอีกไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับพวกเราว่าบางครั้งโค้งกันไปมากระทั่งหัวชนกันจึงได้เวลาแยกย้ายกันไป
เป็นต้น ซึ่งคำพูดที่ได้ยินพร้อมท่าทางการโค้งคำนับอย่างนอบน้อมก็คือ “ありがとう ごさいます/ อาริกาโตะ โกไซมัส” หมายถึง “ขอบคุณ” นั่นเอง
ส่วนคำพูดสำหรับ“การจากลา” คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นกับคำว่า “さようなら/ ซาโยนาระ”
แต่ความจริงแล้วคำนี้ใช้สำหรับการจากลาแบบชาตินี้จะไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก เช่น ลาตาย ลาไปทำศึกสงคราม หรือ
การจากลาของหนุ่มสาวที่ไม่มีวันจะหวนมาคืนดีกัน ดังนั้น
คำพูดที่ใช้สำหรับลาจากกันที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้ คือ คำว่า “またあいましょう = มาตะไอมาโช่ “แล้วพบกันใหม่” “แล้วเจอกันนะ”
จะเป็นการบอกลาที่สุภาพและเป็นในเชิงบวกมากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือโปรแกรมการศึกษาดูงานดีๆ ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต
และรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ สอนโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ จัดให้กับ “ว่าที่ดุษฎีบัณฑิต”
เพื่อเติมเต็มความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ทางวิชาการในต่างแดนให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางหลักสูตรฯ
ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น