ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ต่อจากฉบับที่แล้ว…ระหว่างทางผู้เขียนและคณะทัวร์สังเกตเห็นบริเวณกำแพงซึ่งมีลักษณะโค้งออกมาจากตัวอาคาร
สอบถามมัคคุเทศก์ได้คำตอบว่า เขาทำไว้เพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก
ไม่ให้เข้าไปรบกวนผู้พักอาศัย หรือ คนที่กำลังทำงานภายในอาคาร
นี่คืออีกหนึ่งความใส่ใจที่รัฐบาลมอบให้พลเมืองของเขา
อีกทั้งยังสะท้อนความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองและผู้รับเหมาก่อสร้าง
ซึ่งมัคคุเทศก์เล่าว่าถนนหนทางที่นี่จะใช้การได้ตามอายุที่ระบุในสัญญาโครงการก่อสร้างตามนั้นจริงๆ
เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินและเงินภาษีของประชาชนได้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ตามหลักธรรมาภิบาล (Governance) อย่างแท้จริง ซึ่งควรนำมาเป็นแบบอย่างในบ้านเราและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ด้วย
สำหรับวันแรกตามกำหนดการ
มัคคุเทศก์นำคณะศึกษาดูงานไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ
ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่น อาทิ
“โอชิโนะฮักไก” “ภูเขาไฟฟูจิ”
และ “หุบเขาโอวาคุดานิ” กล่าวคือ “โอชิโนะฮักไก” เป็นจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิได้สวยงามที่สุดอีกจุดหนึ่ง
ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ที่นี่ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อันแสนบริสุทธิ์
ซึ่งเกิดจากน้ำฝนไหลผ่านด้านบนภูเขาไฟฟูจิและผ่านเข้ามาภายใน
และสุดท้ายไหลลงสู่ด้านล่างซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 3 - 4 ปี ซึ่งน้ำในบ่อนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้านำมาดื่ม
นอกจากจะได้ความสดชื่นจากการลิ้มรสน้ำอันบริสุทธิ์แล้ว
ยังจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและจะมีโชคดีอีกด้วย
ส่วน “ภูเขาไฟฟูจิ” หรือ “ฟูจิซัง”
คำว่า “ซัง” ใช้ได้กับทั้ง
“หญิง” และ “ชาย”
ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับเราว่าชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าภูเขาไฟฟูจิเป็นผู้หญิง
ซึ่งมีความเขินอายมาก แต่ละปีจะเผยโฉมให้เห็นทั้งลูกเพียง 15 วัน เท่านั้น
บริเวณใกล้เคียงจะมีที่พักซึ่งสามารถมองเห็นภูเขาไฟฟูจิได้ (ถ้าบรรยากาศเป็นใจ) มีเรื่องเล่ากันว่าหากใครอยากยลโฉมของภูเขาไฟฟูจิแบบเต็มๆ
ก็จะต้องสวมชุดวันเกิดนอน (ไม่ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ใดๆ)
จากนั้นเปิดหน้าต่างเพื่อให้ท่าน (ภูเขาไฟฟูจิ) ได้ยลโฉมของเราก่อน
ถ้าท่านพอใจท่านก็จะยอมเผยโฉมให้เราเห็นแบบเต็มๆ ในยามเช้าของวันรุ่งขึ้น
ตามมาด้วย “หุบเขาโอวาคุดานิ” ภายในหุบเขามีบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งมีส่วนผสมของแร่กำมะถัน ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากใครได้รับประทาน
“ไข่ดำ” ซึ่งเกิดจากการนำไข่ไปต้มในน้ำพุร้อนที่มีส่วนผสมของกำมะถัน
เมื่อไข่สุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ หากใครรับประทานไข่ดำเข้าไปจะทำให้มีอายุยืนยาวไปอีก
7 ปี และหากอธิษฐานสิ่งใดจะสมดังใจปรารถนา คณะทัวร์กลุ่มนี้ก็เลยรับประทานกันไปคนละฟองสองฟอง ซึ่งนักศึกษาปริญญาเอกที่เดินทางไปในครั้งนี้
ส่วนใหญ่อธิษฐานว่า “ขอให้สำเร็จการศึกษาภายใน 3 ปี และสอบผ่าน QE ด้วยเถิด…โอมเพี้ยง” ทั้งนี้ ตามกำหนดการ จะต้องไปต่อที่ “โกเท็มบะ
พรีเมี่ยม เอ้าท์เลท” ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเป็นแหล่งสินค้าแบรนด์เนมมากมาย
แต่เนื่องจากฟ้าฝนไม่เป็นใจ
ฝนตกตลอดทั้งวันกอรปกับรถติด
ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเมืองใหญ่ที่ฝนตกคราใดรถจะติดอย่างมโหฬารตามมา ดังนั้น
ท่านคณบดี (รศ.ดร.วริยา ชินวรรโณ)
จึงได้ตัดสินใจให้มัคคุเทศก์นำเราเดินหน้าต่อไปยังที่พักในกรุงโตเกียวกันเลย
สำหรับ “ด้านเทคโนโลยี” ญี่ปุ่นไม่เป็นรองชาติใดในโลกแน่นอน
ภายหลังสงครามโลกที่ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอย่างมหาศาลทำให้ญี่ปุ่นพยายามคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่
แม้ครั้งแรกๆ ผลิตภัณฑ์องญี่ปุ่นภายใต้การกำกับว่า “Made in Japan” จะยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากไม่ได้มาตรฐาน บ้างก็ทำเกิน
บ้างก็ทำขาด ดังเช่นที่เราเคยได้ยินคำพูดว่า “ญี่ปุ่นทำเกิน”
นั่นเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นยุคแรกๆ ถูกส่งคืน
(โดนตีกลับ)จากประเทศอื่นๆ ในหลายประเทศ
แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ละความพยายามจึงคิดหาวิธีการประกันคุณภาพชิ้นงานด้วยการสร้างระบบควบคุมคุณภาพแบบครบวงจรอย่างที่เราคุ้นกันดี
คือ “ระบบ QC” หรือ “Quality
Control Circle” หลังจากนั้น
ผลงานภายใต้แบรนด์ญีปุ่นก็แทบจะไม่ได้รับปฏิเสธจากชาติใดในโลกอีกเลย
กระทั่งญี่ปุ่นกลับมาผงาดในสมรภูมิการค้า การแข่งขัน
และเทคโนโลยีของโลกได้อีกครั้ง เหล่านี้ล้วนเกิดจากมันสมองและสองมือของคนญี่ปุ่นล้วนๆ
แม้ว่าจะไม่มีอะไรเหลือจากสงครามโลกในครั้งนั้น
แต่ทุกอย่างสามารถสร้างขึ้นมาได้ใหม่
ตรงนี้จึงควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่างของคนที่ล้มละลาย (Bankrupt) หรือ กำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจควรดูเป็นแบบอย่างในการต่อสู้เพื่อกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง
มาถึง “ส้วมไฮเทค” ห้องน้ำสาธารณะเกือบทุกแห่งในญี่ปุ่นจะเป็นที่ภูมิใจของพวกเขา
เพราะนอกจากจะสะอาด สะดวกสบายแล้ว ยังมีความทันสมัยและใส่ใจผู้ใช้บริการอย่างมาก
บางแห่งแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะในห้องน้ำมีสารพัดปุ่มที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้เสร็จสรรพ
แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องกดให้ถูกปุ่มเท่านั้นเอง
บางแห่งก็มีระบบทำให้ฝาชักโครกอุ่นตลอดเวลาเพื่อฆ่าเชื้อโรคและทำให้คนใช้บริการรู้สึกอุ่นโดยเฉพาะช่วงฝนตกหนักๆ
หรือ ช่วงหน้าหนาวจะช่วยได้มาก เล่ามาถึงตรงนี้ชวนให้นึกถึงเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ต (อุดม
แต้พานิช)
ซึ่งมีตอนหนึ่งเล่าว่าห้องน้ำในชนบทของบ้านเรายังใช้ขันและสาวเชือกดึงจากห้องแรกมาใช้ห้องสุดท้าย
ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นขันเจ้ากรรมยังเจาะรูเอาไว้ป้องกันการลักขโมยอีก
ระหว่างทางห้องแรกถึงห้องสุดท้ายน้ำในขันจะทยอยไหลออกมาจากรูที่เจาะไว้เมื่อสาวมาถึงห้องที่ต้องการจะใช้น้ำก็จะหมดจากขันพอดี
ส่วนที่เหลือจะทำอย่างไรต่อไปโน้ต อุดมให้คนฟังไปจินตนาการต่อเอาเอง
ความไฮเทคของญี่ปุ่นยังไม่หมดแค่นั้น
เพราะตลอดการเดินทาง รถที่คณะทัวร์นั่งมาจะต้องขับลอดอุโมงค์หลายแห่งด้วยกัน
ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับเราว่า ญี่ปุ่นมีอุโมงค์
ประมาณ ๘,๐๐๐ อุโมงค์ แต่ละแห่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความยากง่ายของการสร้าง
เพราะบางอุโมงค์การก่อสร้างจะต้องขุดเจาะภูเขาเพื่อทำอุโมงค์ลอดใต้ภูเขา
ซึ่งต่างจากบ้านเราที่เลือกใช้วิธีการระเบิดภูเขาแยกออกจากกัน หรือจะเป็น “อุโมงค์ใต้น้ำ” อย่างที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเกาะแก่ง
ประมาณ ๗๐% พื้นดินที่ราบและที่เนินเพียง 30% ดังนั้น
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัญจรผ่านทางน้ำ
ซึ่งญี่ปุ่นก็ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยในการสร้างอุโมงค์ใต้น้ำเพื่อใช้ในการสัญจรอีกทางหนึ่งด้วย
ล่าสุดในการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง โอลิมปิก ลอนดอน 2012 ญี่ปุ่นก็ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงหลายประเภทไปช่วยเจ้าภาพให้การจัดงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยในการตัดสิน เทคโนโลยีสำหรับเผยแพร่ภาพที่มีความคมชัดสูง
และอื่นๆ เป็นต้น มาถึงตรงนี้ คงเป็นที่ประจักษ์กับสายตาชาวโลกแล้วว่าญี่ปุ่น คือ
อีกหนึ่งประเทศซึ่งเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๒๐ กระทั่งศตวรรษที่
๒๑ ในปัจจุบันอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น