วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

Japan...ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย 1

 
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

“ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย ภูเขาไฟฟูจี  น้ำประปาดีดื่มได้ มองทางไหนเป็นระเบียบ
เพียบพร้อมด้วยวัฒนธรรม  เลิศล้ำเรื่องวินัย  ใส่ใจพลเมือง ลือเลื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจดีระดับโลก”  
                                                                                         (ประทุมทิพย์ ทองเจริญ /ประพันธ์)
 
เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นหลายคนคงได้ยินชื่อเสียงกันมานานหลายด้าน สิ่งที่คุ้นหูคุ้นตากันดีของคนไทยเมื่อพูดถึงญี่ปุ่น ได้แก่ โกโบริ-อังศุมาลิน สงครามโลก  การ์ตูนชื่อดังอย่างอิคิวซังและโดราเอมอน รวมถึงภาษา วัฒนธรรม นิสัยและบุคลิกของชาวญี่ปุ่นเรื่องความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์  ตลอดจนการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก และชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจติดอันดับโลก เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้าไปย่ำแดนอาทิตย์อุทัยเป็นจำนวนมาก
ประเทศญี่ปุ่น  มีชื่อเรียกหลายคำ เช่น “นิฮง” (Nihon)  นิปปง” (Nippon) และ “เจแปน” (Japan) ตัวอักษรคันจิของชื่อญี่ปุ่นแปลว่า “ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์”  จึงทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า “ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย”  มีเนื้อที่กว่า ๓๗๗,๙๓๐ ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ ๖๑ ของโลก [1] พื้นที่ประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นภูเขา [2]  หมู่เกาะญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า ๓,๐๐๐ เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุดก็คือ เกาะฮนชู ฮกไกโด คีวชู และชิโกกุ ตามลำดับ เกาะของญี่ปุ่นส่วนมากจะเป็นหมู่เกาะภูเขา ซึ่งในนั้นมีจำนวนหนึ่งเป็นภูเขาไฟ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ เป็นต้น
จากบทความฉบับที่แล้ว ได้เกริ่นนำถึงการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นของผู้เขียนและนักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนหนึ่งในรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ (สมนก ๕๖๖)  รับผิดชอบสอนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์  ศิริสรรหิรัญ  รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาระบบ พร้อมทั้งคณาจารย์ผู้บริหารของคณะสังคมศาสตร์ฯ รวม ๑๐ คน ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายน ๒๕๕๕ โดยมีผู้นำเที่ยว (มัคคุเทศก์ /Guide) คือ คุณธนาตย์  เจริญสุข  (มะตูม) จากบริษัท B.B. Tour Inter Travel เป็นผู้นำเที่ยวและอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางในครั้งนี้  ส่วนผู้ประสานงานของผู้บริหารคณะสังคมศาสตร์ฯ กับทางคณะของนักศึกษา คือ อาจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร  ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างคล่องแคล่วและครบถ้วนสมบูรณ์เนื่องจากท่านเคยศึกษาและใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นมานานหลายปี นอกจากนี้ ผู้เขียนยังแว่วๆ มาว่าทางคณะสังคมศาสตร์ฯ มีโครงการที่จะนำคณะนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตเดินทางไปศึกษา  ดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์ เร็วๆ นี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกัน (ตามรอยพี่ป.เอก)
จะว่าไปแล้วทั้งประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน เช่น มีชื่อเสียงด้านการศึกษา เคร่งครัดเรื่องกฎหมายและระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ของพลเมือง ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินค่อนข้างสูง รวมถึงการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นต้น แต่ก็มีความต่างกันบ้าง อาทิ จำนวนประชากรซึ่งญี่ปุ่นมีประมาณ ๑๒๘ ล้านคน  จัดอยู่ในอันดับ ๑๐ ของโลก ขณะที่สิงคโปร์มีจำนวนประชากรน้อยมาก ประมาณ ๕ ล้านคน อยู่ในอันดับที่ ๑๑๔ ของโลก (จาก ๒๓๘ ประเทศทั่วโลก) [3]
ความจำเป็นเรื่องภาษานับวันจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งภาษาสากล และภาษาของกลุ่มประเทศสมาชิก อาทิ ภาษาอาเซียน ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างน้องมะตูมเพื่อฉายภาพความสำคัญของภาษา กล่าวคือ น้องมะตูมเป็นคนหนุ่มไฟแรงอายุ ๒๘ ปี สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาญี่ปุ่น) จากรั้วโดม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีประสบการณ์การเป็นมัคคุเทศก์ไม่น้อยกว่า ๕ ปี เดินทางนำเที่ยวมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ตราบใดที่การท่องเที่ยว การศึกษา และธุรกิจยังคงจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะของภาษา อาชีพนี้ก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ เพราะต้องผ่านการเตรียมตัวและการสอบหลายขั้นตอน โดยเฉพาะความรู้ทาง “ภาษา” “ประวัติศาสตร์” และ “ความรู้เกี่ยวกับประเทศนั้นๆ” ตัวอย่างของการสอบวัดความรู้ทางภาษาน้องมะตูมผ่านการสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นในระดับ ๑  ซึ่งการสอบวัดระดับทางภาษาแต่ละภาษาจะมีความต่างกัน อาทิ ภาษาญี่ปุ่นมี ๕ ระดับ (ระดับ ๑ สูงสุด /ขั้นเทพ) ภาษาจีน มี ๖ ระดับ (ระดับ ๖ สูงสุด) ภาษาอังกฤษ IELTS มี ๙ ระดับ (ระดับ ๙ สูงสุด) เป็นต้น  ซึ่งปัจจุบันการสอบวัดความรู้ทางภาษามีความจำเป็นมากสำหรับทุกอาชีพทุกวงการ เพื่อนำผลการสอบไปใช้หลายกิจกรรมทั้งการสมัครเรียน สมัครขอทุน และสมัครงาน ดังนั้น ในแต่ละปีสถาบันจัดสอบวัดความรู้ทางภาษาจะได้กำไรจากการจัดสอบอย่างเป็นกอบเป็นกำ รวมถึงการจัดสอบวัดความรู้ทางภาษาของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยอีกด้วย สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้  ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเนื่องจากเป็นสถานที่ราชการและสถาบันการศึกษา ส่วนภาษาญี่ปุ่นควรศึกษาไว้บ้างเช่น คำทักทาย  ขอบคุณ  ราคาสินค้า  และเส้นทาง เป็นต้น
ก่อนเดินทางมีสิ่งที่คณะเดินทางจะต้องเตรียมตัวมากมายเนื่องจากเป็นการเดินทางไปยังต่างแดนซึ่งต่างที่ ต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม จึงต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง เริ่มจากการทำหนังสือเดินทาง(passport) มี ๔ สี ได้แก่ สีแดงสด (สำหรับทูต) สีแดงเลือดหมู (สำหรับคนทั่วไป) สีน้ำเงิน (สำหรับข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ) ทั้งสามสีที่กล่าวมามีอายุไม่เกิน ๕ ปี และสีเขียว จะออกให้ในกรณีที่คนไทยทำหนังสือเดินทางสูญหายหรือหมดอายุ และมีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทาง E-Passport ได้  เช่น หนังสือเดินทางพระ และหนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์  มีอายุไม่เกิน ๑-๒ ปี สำหรับคณะเดินทางกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้หนังสือเดินทางสีน้ำเงิน (Official Passport) ซึ่งการใช้หนังสือเดินทางเล่มน้ำเงินจะได้รับการอำนวยความสะดวกสบายมากเนื่องจากถือว่าบุคคลที่ใช้คือข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางราชการเท่านั้นหากเดินทางไปเรื่องส่วนตัวหรือท่องเที่ยวข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องใช้เล่มสีแดงเลือดหมูเหมือนคนทั่วไป ไม่มีสิทธิพิเศษอะไร
 
ที่สำคัญการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศนั้นๆซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศก็จะมีทั้งที่เหมือนและต่างกัน  สำหรับคนที่ถือหนังสือเดินทางแบบทั่วไปก็จะต้องขอวีซ่าซึ่งความยากง่ายของการขอมีเงื่อนไขต่างกัน เช่น สาวโสดจะขอวีซ่าไปประเทศญี่ปุ่นยากว่าผู้ชาย หรือ หญิงที่สมรสแล้ว เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นเกรงกว่าจะไปประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสม (เพศพาณิชย์)ในประเทศของเขา  คนที่ถือหนังสือเดินทางทั่วไป จะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินในบัญชีธนาคารโดยใช้สำเนาจากสมุดบัญชีธนาคารเท่านั้น ไม่สามารถใช้ Statement จากทางธนาคารได้ เพื่อดูความมั่นคงทางการเงิน เช่น มีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง มีเงินเดือนประจำ มีจำนวนเงินเพียงพอที่จะซื้อตั๋วกลับประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องใช้หนังสือรับรองฉบับจริงจากทางต้นสังกัด(ที่ทำงาน)ด้วย ส่วนผู้ที่ถือหนังสือเดินทางเล่มน้ำเงิน(Official Passport) ทางรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ภายใน ๓๐ วัน โดยที่ไม่ต้องขอวีซ่า (หมายความว่าไม่ต้องดำเนินการยุ่งยากเรื่องเอกสารเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศอย่างที่กล่าวมาข้างต้น)
การบริหารเวลา สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศไหนๆ ผู้เดินทางจะต้องศึกษาเรื่องเวลามาเป็นอย่างดีเสียก่อน อย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีเวลาเร็วกว่าไทย ๒ ชั่วโมง (เห็นพระอาทิตย์ก่อน) ซึ่งผู้ที่เดินทางจะต้องคำนวณเวลาให้ดีเรื่องการนัดหมาย อย่าเผลอคิดตามเวลาของไทย มิเช่นนั้นอาจจะพลาดการทำกิจกรรมหลายอย่างไปได้ บางคนถึงกับตกเครื่องบน (ไปไม่ทัน /พลาดการขึ้นเครื่อง) เนื่องจากความต่างกันของเวลาก็มี การเดินทางกับคณะทัวร์ผู้เดินทางแต่ละคนจะต้องรักษาเวลาและมีวินัยในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ต่างจากการมากับครอบครัวหรือมากันเอง ดังนั้น ทำอะไรจึงเป็นเวลา นัดก็ต้องเป็นไปตามนัด เพราะญี่ปุ่นจะถือเรื่องการตรงต่อเวลามาก สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินควรไปก่อนเวลานัดประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงเนื่องจากต้องใช้เวลาในการ Check in โหลดกระเป๋า และรอขึ้นเครื่องอีกด้วย เรื่องนี้คนที่โดยสารเครื่องบินบ่อยๆ คงทราบดี ยิ่งไปต่างประเทศยิ่งต้องเผื่อเวลาไว้อีกเท่าตัว
นอกจากนี้ ก่อนเดินทางจะต้องแลกเงินเป็นเงินเยนให้พอกับจำนวนที่เราคาดการณ์ว่าจะใช้ที่นั่นซึ่งจะต้องคำนวณให้พอเหมาะกับกิจกรรม ของฝาก และเวลาที่จะพักที่นั่น เพราะหากแลกเงินไปเกินจำนวนก็จะต้องนำกลับมาแลกคืนเป็นเงินไทย โดยอัตราในการแลกเงินคืนจะถูกกว่า ๒-๓ บาทโดยประมาณ  เช่น ตอนขาไปแลกเป็นเงินเยน ๑๐๐ เยน = ๔๐ บาท แต่พอตอนแลกคืน ๑๐๐ เยน อาจจะเหลือแค่ ๓๗-๓๘ บาท (คล้ายกับการซื้อ-ขายทองคำ)  ที่นั่นข้าวของส่วนใหญ่จะแพงกว่าบ้านเราค่อนข้างมาก เช่น น้ำดื่มขวดละ ๑๐๐ เยน (๔๐ บาท)  โค้ก ๒๐๐ เยน (๘๐บาท) ขนมของฝากมีหลายราคา ตั้งแต่ ๖๐๐ เยน (๒๔๐บาท) ไปจนถึง ๑,๕๐๐ เยน (๖๐๐บาท) ส่วนอาหารญี่ปุ่นอย่างที่ทราบดีว่าแต่ละอย่างจะมีขนาดเล็ก  ดังนั้น จึงต้องสั่งหลายอย่างมารับประทานจึงจะอิ่ม  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงินและความต้องการรับประทานของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อาหารแต่ละอย่างมีราคาตั้งแต่ ๓๕๐ เยน (๑๔๐ บาท) ไปจนถึง ๒,๐๐๐ เยน (๘๐๐ บาท) ซึ่งบางคนก็เลือกรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบเป็นชุดที่จัดเตรียมไว้แล้ว ซึ่งราคาก็อาจจะถูกกว่าเล็กน้อยแต่โดยรวมอัตราค่าอาหารตั้งแต่ ๓๐๐ บาท ไปจนถึง ๘๐๐ บาทต่อคนต่อมื้อ
 โดยมากคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยซื้อน้ำดื่มเพราะน้ำประปาสะอาดดื่มได้ ซึ่งรัฐบาลเขาภูมิใจนำเสนอเรื่องนี้มากติดป้ายบอกไว้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษทุกที่ที่สามารถจะบอกกับชาวโลกได้ว่า Good to Drinkแต่สำหรับคณะทัวร์นี้ผู้นำเที่ยวได้นำขวดน้ำขนาดจิ๋วมาแจกบนรถด้วยพร้อมทั้งขนมขบเคี้ยวขึ้นชื่อของญี่ปุ่น 4-5 ชนิด บรรจุมาในถุงพลาสติกใส สำหรับให้คณะเดินทางได้รับประทานบนรถ ซึ่งพวกเราเรียกว่า “ถุงยังชีพ” หรือ Survival Kid  น้องมะตูม (มัคคุเทศก์)บอกกับพวกเราว่าคนที่นี่จะนิยมดื่มน้ำขวดขนาดเล็กที่มีปริมาตรประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ซีซี (๐.-.๖ ลิตร) เนื่องจากน้ำปริมาณเท่านี้สามารถดื่มหมดได้ภายในครั้งเดียวหรือเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการดื่ม ๑ ครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติลดการสูญเสียจากการดื่มทิ้งๆขว้างๆ ซึ่งปัจจุบันคนทั่วไปรวมถึงตามหน่วยงานราชการนิยมบริโภคน้ำขวดเล็กมากขึ้นรวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งสถานที่ราชการ/หน่วยงานทั้ง ๓ แห่ง ได้แก่ GRIPS (National Graduate Institute for Policy Studies)  MEXT (The Ministry of Education, Culture, Sports, Science, and Technology) และ JICA (The Japan International Cooperation Agency) ที่ผู้เขียนและคณะเดินทางไปศึกษาดูงานก็ได้แจกน้ำดื่มขวดเล็กแก่พวกเราด้วยเช่นกัน
จากที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ที่ผู้เขียนพอจะสังเกตเห็นและได้รับทราบข้อมูลเชิงประจักษ์ (empirical evidences) ทั้งจากประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) และจากคำบอกเล่าของผู้นำเที่ยว ซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของการศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนขอยกยอดไปเล่าต่อในฉบับหน้า
 
อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น