ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ต่อจากตอนที่แล้ว…เมื่อมองไปยังสองข้างทางจะเห็นว่าถนนหนทางที่ประเทศญี่ปุ่น มองไปทางไหนสะอาดสะอ้าน พื้นถนนมีความสม่ำเสมอราบเรียบไม่ขรุขระเหมือนถนนวิบากอย่างบ้านเรา รถราวิ่งด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าขับนอกเมืองไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าในตัวเมืองหรือย่านชุมชนก็จะกำหนดอัตราความเร็วไม่เกิน ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหมือนกฎหมายบนท้องถนนในประเทศมาเลเซีย (เพื่อนบ้านของเรา) ก็มีความเข้มงวดในเรื่องนี้เช่นกัน การขับรถที่นี่ไม่มีการขับแซงซ้ายขวาอย่างที่เห็นในบ้านเรา รถทุกคันขับตามๆ กันไปอย่างใจเย็น ไม่รีบร้อน ที่สำคัญแทบจะไม่ได้ยินเสียงแตรรถยนต์เลย ซึ่งขัดกับบุคลิกของคนญี่ปุ่นที่ทำอะไรคล่องแคล่วว่องไว สะท้อนถึงวินัยที่ดีเยี่ยมในการใช้รถใช้ถนนของคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทางม้าลายของเขาก็สามารถใช้การได้จริง กล่าวคือ ทุกทางม้าลายจะมีสัญญาณไฟจราจรติดอยู่ด้วย เมื่อมีสัญญาณไฟเขียวรูปคน รถทุกคันก็พร้อมใจกันจอดเพื่อให้คนข้าม และรอจนกว่าสัญญาณไฟรูปคนจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รถจึงจะเคลื่อนตัวต่อไป
นอกจากนี้
ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีการจอดรถบนถนนให้เห็นเลย
เพราะบนถนนจะมีไว้สำหรับให้รถวิ่งเท่านั้น การจอดรถจึงต้องขับไปจอดในที่จอดใต้อาคาร
หรือ สถานที่ที่สร้างสำหรับเป็นที่จอดรถโดยเฉพาะ (car park) ซึ่งมัคคุเทศก์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่จะใช้รถของญี่ปุ่นเพราะเสียภาษีถูกกว่ารถนำเข้าจากต่างประเทศ
แม้แต่ราชวงศ์ และผู้บริหารบ้านเมืองระดับสูงก็ยังใช้รถญี่ปุ่นเพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ
อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจของเขาด้วย ซึ่งรถที่ใช้จะเป็นรุ่นที่ทำเฉพาะเจาะจง
(รุ่น Limited) สำหรับคนกลุ่มนี้เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น
คนญี่ปุ่นจะซื้อรถได้ก็ต่อเมื่อมีการซื้อที่จอดรถไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะที่จอดรถในญี่ปุ่นมีจำนวนจำกัดและมีราคาค่อนข้างแพง
นี่คือความเอาใจใส่ต่อการรักษาสมดุลระหว่างปริมาณรถกับที่จอดให้มีความเหมาะสมกัน
น้องมะตูม (มัคคุเทศก์)ยังเล่าว่ากฎหมายของที่นี่เข้มงวดมาก แทบจะไม่มีใครกล้าฝ่าฝืนกฎจราจรเลย เนื่องจากหากใครฝ่าฝืน
เช่น ขับรถเกินกว่าความเร็วที่กำหนดไว้ สองข้างทางจะมีเซ็นเซอร์ (Sensor) คอยตรวจจับความเร็วและส่งใบสั่งไปที่บ้าน ซึ่งบทลงโทษ คือ ผู้ขับขี่จะต้องเสียเงินค่าปรับ
และถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา ๖ เดือน
หมายความว่าช่วงนั้นไม่สามารถนำรถไปขับบนท้องถนนได้ ต้องเข้าอบรมการขับรถใหม่ทั้งหมด
และจ่ายค่าสอบใบขับขี่ใหม่ รวมค่าใช้จ่าย ประมาณ ๓ แสนเยน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ
แสนกว่าบาท และหากทำผิดกฎหมายจราจรอีก คราวนี้ก็จะถูกยึดใบขับขี่ตลอดชีวิต นึกๆ แล้วอยากให้กฎหมายบ้านเราเข้มงวดและเอาจริงเอาจังแบบนี้บ้าง
เพราะเท่าที่เห็นบนท้องถนนในเมืองไทย ถนน ๔ เลน ๖ เลน มีรถจอดไป ๒ เลน เหลือให้รถวิ่งแค่ ๑-๒ เลน ขับตามใจฉัน ขับแซงได้หมดทั้งแซงซ้าย-แซงขวา (ถ้าแซงหน้า-หลังได้ก็คงทำไปแล้ว) ที่น่ากังวลอีกปรากฏการณ์ คือ การขับรถย้อนศร ซึ่งในบ้านเรานับวันจะพบเห็นมากขึ้น
ทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง ประหนึ่งว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปแล้ว
ประเด็นนี้ หากมองอีกด้าน
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาและทบทวนการสร้างที่กลับรถที่ไม่ไกลจนเกินไป
เช่น การกำหนดที่ชัดเจนว่าทุกๆ กี่กิโลเมตรควรมีที่กลับรถ
1 แห่ง เป็นต้น ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ไปได้บ้าง รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากสาเหตุดังกล่าวได้ด้วย
ที่สำคัญ ในเมื่อกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง
ความศักดิ์สิทธิ์และการเคารพจึงไม่บังเกิด มีแต่จะหาช่องทางละเมิดได้ตามอำเภอใจ ดังนั้น
จึงอาจถึงเวลา (นานแล้ว) ที่คนไทยควรหันมาใส่ใจและเคารพกฎจราจรรวมถึงกฎหมายอื่นๆ
ในบ้านเราให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ควรเข้มงวดกวดขันและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจจับผู้กระทำความผิดมากขึ้น
เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าพลเมือง
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น
ใช่ว่าจะมีแต่ด้านบวกเสมอไป ด้านลบก็มีเช่นกัน หนีไม่พ้นสัจธรรมซึ่งทุกอย่างล้วนมี
๒ ด้านเสมอ มัคคุเทศก์เล่าว่า คนญี่ปุ่นเหมือนสองคนในร่างเดียว “ภายใน-ภายนอก” หรือ “อุระ-โอโมเตะ”
กล่าวคือ ด้านหนึ่งที่มองเห็นจากภายนอกคนทั่วไปจะมองว่าพวกเขาเป็นคนอารมณ์ดี
มีความสุข สนุกสนานกับการทำงานและการใช้ชีวิต แต่อีกด้านกลับแฝงไปด้วยความครุ่นคิด
เข้มงวด เครียดและกดดัน ตัวอย่างเช่น การทำงาน ถ้าหัวหน้า หรือ
เจ้านายยังไม่กลับบ้านลูกน้องหรือพนักงานก็จะยังไม่กลับบ้าน
หรือหากเจ้านายชวนไปดื่ม หรือ ไปรับประทานอาหารก็จะต้องไปด้วย ปฏิเสธลำบาก หากใครปฏิเสธจะถูกมองว่าเป็นพวกนอกคอก
(แกะดำ) การกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่นจึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงานที่นี่ หากพนักงานคนใดกลับบ้านเร็วให้สันนิษฐานว่าคนๆ นั้นใกล้จะถูกเชิญออกจากงานแล้ว
ประหนึ่งว่าไม่เป็นที่รักของหัวหน้า / เจ้านาย เป็นต้น
ด้วยความเครียดและความกดดันจากการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมที่มีการแข่งขันสูง
จึงทำให้คนญี่ปุ่นพยายามหาทางออกด้วยการระบายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ นานา
หนึ่งในวิธีการที่เลือกใช้ คือ การร้องเพลงคาราโอเกะ
(ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่คิดค้นการร้องเพลงคาราโอเกะ) รวมไปถึงเกมส์การขว้างแก้ว
และถ้วยชามกับฝาผนัง เป็นต้น
แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดตามที่มัคคุเทศก์เล่าให้พวกเราฟังก็คือ “การฆ่าตัวตาย”
หรือ “อัตวินิบาตกรรม” เพื่อหนีปัญหาชีวิตอันเกิดจากความกดดันเรื่องงานและเรื่องต่างๆ
ซึ่งพบว่าแต่ละปีจะมีคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายกว่า ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งข้อมูลตัวเลขนี้เป็นที่รู้กันภายในประเทศเท่านั้น
เขาจะไม่เผยแพร่ออกสื่อเนื่องจากเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีและเป็นด้านลบต่อสายตาชาวโลก
ดังนั้น การจากไปของคนที่ฆ่าตัวตายจึงจากไปแบบเงียบๆ แต่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง
เนื่องจากรัฐบาลมีกฎหมายว่าหากใครฆ่าตัวตายจะไปเรียกเก็บเงินจากญาติๆ
เหมือนเป็นการปรามไปในตัวว่าการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
ใช่ว่าใครนึกจะฆ่าตัวตายก็ทำกันได้ง่ายๆ
เพื่อเตือนสติกับคนที่กำลังคิดสั้นให้คิดยาวออกไปถึงคนอื่นๆที่อยู่รอบข้างด้วย
ท้ายที่สุดก็พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นยังอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ดี ปัญหานี้สร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดการปัญหานี้อย่างมาก
เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน
รวมถึงความต่างกันของบริบทของแต่ละคน แม้ว่าจะเยียวยาโดยการเพิ่มจำนวน “นักจิตวิทยาองค์การ”
ซึ่งเขาเรียกให้ดูดีว่า “ที่ปรึกษา” หรือ “Consultant” ในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
แล้วก็ตาม
แม้กระทั่งการกระทำความผิดที่ร้ายแรง
คนญี่ปุ่นก็นิยมแสดงความรับผิดชอบด้วยการฆ่าตัวตายเช่นกัน
ซึ่งวิธีการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นมีหลากหลาย
วิธีการส่วนใหญ่คล้ายกับคนในประเทศอื่น แต่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน
คือ การทำ “ฮาราคีรี” (ใช้มีดดาบซามูไรคว้านท้องตนเอง)
เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมอันอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศของวงศ์ตระกูลและของชาติ
แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก
คนญี่ปุ่นที่คิดจะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จึงนิยมไปกระโดดให้รถไฟความเร็วสูงพุ่งชนแทนเพราะภายหลังจากเสียชีวิตก็จะไม่สร้างความลำบากให้หน่วยกู้ภัยต้องมาเก็บกู้ซาก
/ชิ้นส่วนของอวัยวะแต่อย่างใด
เพราะทุกอย่างแหลกเหลวและแปรเปลี่ยนไปเป็นอากาศธาตุในชั่วพริบตา เล่ามาถึงตรงนี้
ทั้งคนเล่า (มัคคุเทศก์) และคณะเดินทางรู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย ซึ่งในภาคการศึกษานี้
เนื้อหาในรายวิชาการศึกษาอิสระสำหรับนักนโยบาย (สมนก ๕๗๑) ที่อ.ดร.โชคชัย สุทธาเวศ มอบหมายให้นักศึกษาอ่านพบว่ามี “ทฤษฎีการฆ่าตัวตาย”
ภายใต้ชื่อ "Le suicide” ในปี ค.ศ.1897 นำเสนอโดย David Émile Durkheim นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส (1858 –1917) ซึ่งอธิบายว่าการฆ่าตัวตายเป็นปรากฏการณ์ทางด้านสังคม
ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจไม่น้อยว่าแม้แต่การฆ่าตัวตายยังต้องมีศาสตร์
(ทฤษฎี) มารองรับเพื่ออธิบายปรากฏการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกด้วย
จากที่เล่ามาตั้งแต่ตอนแรก
กระทั่งตอนที่ ๒
ผู้อ่านคงจะได้เห็นภาพของญี่ปุ่นในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านบวก
และด้านลบ ซึ่งข้อมูลและประสบการณ์เหล่านี้ บางครั้งไม่สามารถหาอ่านจากที่ไหนได้
ต้องไปสัมผัส หรือ ไปเยือนด้วยตนเองสักครั้ง แล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
อย่างสำนวนไทยที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น…” ยังคงใช้การได้ดี ซึ่งเรื่องราวของการไป “ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย”
ของผู้เขียนและคณะศึกษาดูงานยังไม่หมดเพียงเท่านี้…โปรดติดตามตอนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น