วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิกฤติพลังงาน...วิกฤติชาติ

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ


หมายเหตุ : โครงการสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม "กังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"
                   ตั้งอยู่ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

ฟังข่าวเกี่ยวกับการขาดแคลน "พลังงาน" ช่วงหน้าร้อนว่าเราต้องพึ่งพาพม่าอย่างมาก อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคตหากเรามีกรณีพิพาทกับพม่าแล้วเขาใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเราจะอาจจะเสียเปรียบได้ เพราะในอดีตไทยกับพม่ามีการทำสงครามกันบ่อยครั้ง แม้จะนานมาแล้วหลายร้อยปี แต่รอยร้าวนี้ยังคงมีอยู่ในใจของคนทั้งสองประเทศ ซึ่งพบว่ากรณีพิพาทเรื่อง "ดินแดน" กำลังจะวนกลับมาอีกครั้ง อาทิ "จีน VS ญี่ปุ่น" และ  "ญี่ปุ่น VS เกาหลี" ที่พิพาทเรื่องเกาะสำคัญซึ่งต่างฝ่ายก็อ้างสิทธิ์ว่าเป็นของตน รวมถึงกรณีประสาทพระวิหารระหว่างไทยกับเขมรแม้ช่วงนี้ข่าวคร่าวจะซาๆไปบ้างแต่แผลและรอยร้าวยังมีอยู่ การพูดคุยเจรจาใดๆก็ยังไม่สนิทใจ  แม้กระทั่งความพยายามของโจรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างกระแสรายวันแต่จากวันที่เกิดเหตุจนวันนี้เกือบ 10 ปีมาแล้วที่ความสงบยังไม่บังเกิด ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงอยู่กันแบบอกสั่นขวัญหาย บ้างก็ทิ้งบ้านเกิดอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นเลยก็มี...มาถึงตรงนี้ประเมินดูแล้ว ประเทศไทยมีความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศทางเลยทีเดียว...เราจะไปต่อได้อย่างไร การเปิดประตูสู่อาเซียนอย่างเต็มตัวใน ค.ศ.2015 (หลังจากที่อาเซียนเปิดมาแล้ว 45 ปี) จะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์และผสานรอยร้าวต่างๆได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร คงต้องเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรเอาใจใส่เพราะประเทศไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพลเมืองไทย สัญชาติไทยทุกคน
 
ประเด็นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ"ความมั่นคง" ทั้งเรื่อง "ดินแดน" "พลังงาน" และ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" การหยุดจ่ายพลังงานให้ไทยของพม่าครั้งนี้บางคนวิเคราะห์ว่าอาจมีอะไรแอบแฝงหรือไม่อย่างไร ต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่แน่นอนก็คือ เกิดผลกระทบต่อกำลังผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในบ้านเราจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการถูกปรับเงินหากไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดเวลาที่ได้ทำสัญญากับบริษัทคู่ค้าได้...สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อๆกันเป็นลูกโซ่เพราะฉะนันการตัดสินใจทำอะไรของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจควรพิจารณาให้รอบคอบ มองรอบด้าน และคิดแบบซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญควรคิดและตัดสินใจบนฐานของผลประโยชน์ประเทศและส่วนรวมเป็นสำคัญ...
 
หากโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากๆ อนาคตบริษัทแม่อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า กอรปกับมาตรการป้องกันเรื่องอุทกภัยที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่สะสมมากเข้าก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้าซึ่งควรเตรียมรับมือให้ดี  นอกจากนี้ ถ้าไฟดับเป็นเวลานานๆติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจเป็นช่องทางของผู้ก่อการร้ายในการปฏิบัติการอะไรบางอย่างได้สะดวกขึ้น เช่น การก่อวินาศกรรมสถานที่สำคัญ เป็นต้น
 
แนวทางแก้ไข ณ ตอนนี้ คือ ตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังจะตามมาและเร่งหามาตรการ "พลังงานสำรอง" และ "พลังงานทดแทน" โดยเร็วเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว สิ่งเหล่านี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียอีก...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น