วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทุนโครงการแลกเปลี่ยนนศ.ไทย-อาเซียน ปีงบประมาณ 2557 (ไม่เกิน 4 เดือน) หมดเขต 28 มีนาคม 2557



ทุนโครงการแลกเปลี่ยนนศ.อาเซียน ปีงบ 2557 (หมดเขต 28 มีนาคม 2557)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
-สมัครได้ทั้ง ป.ตรี และ บัณฑิตศึกษา
-สำหรับป.ตรีต้องลงทะเบียนเรียน และเทียบโอนหน่วยกิตกลับมายังต้นสังกัดด้วย
-กรณีระดับบัณฑิตศึกษาต้องผ่านการสอบโครงร่าง (Proposal Examination) และได้รับการอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์จากบัณฑิตฯ แล้ว
-มีผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL, IELTS, CU-TEP, TU-GET
-ใบรับรองสุขภาพ
-ใบสมัคร (3-4 หน้า) ให้อ.ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ลงนามรับรองหน้าสุดท้าย
-รายงานผลการศึกษาล่าสุด (Grade Report)
-ระยะเวลาที่สมัครไปทำดุษฎีนิพนธ์ที่นั่น (ทำเรื่องของเราเอง ไม่ต้องทำเรื่องอื่น) ระหว่าง 1-4 เดือน
-ต้องได้ Offer Letter จาก U.ต่างประเทศที่จะไป เพื่อนำมาแนบในใบสมัคร (หนังสือแบบทางการ)
การโต้ตอบทาง email ใช้ไม่ได้ (ถ้าใครมี Connection อยู่แล้วสบายมากค่ะ จะได้เร็ว)
-ทุนนี้ครอบคลุมเกือบทุกอย่าง ยกเว้น ค่าลงทะเบียน / ค่าธรรมเนียม (ถ้าเราจะไปก็ควรติดต่อให้ U.ต่างประเทศเขายกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ มีบาง U. OK เพราะมองเป็นอาเซียน แต่อีกหลาย U. ยังมองเป็นธุรกิจ เรายังต้องจ่ายค่ะ)
-สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สกอ.ระบุไว้ คือ 800 USD ยกเว้นสิงคโปร์ 1,600 USD 
-มีหนังสือนำจากคณะฯ ผ่านไปยังมหาวิทยาลัย เพื่อคัดเลือกรายชื่อจากคณะต่างๆ ปีงบประมาณ 2557 กำหนดให้เสนอชื่อนักศึกษา 5 คนต่อสถาบัน (ปีก่อนๆ 10คน/สถาบัน)
-ผู้สมัครจะต้องส่งเอกสารไปให้งานวิเทศฯของคณะฯ และส่งผ่านไปยังวิเทศฯกลาง เสนอให้อธิการบดี หรือ ผู้มีอำนาจลงนามทำหนังสือเสนอไปยังสกอ.
-ทุนโดยรวมแล้วจะได้ประมาณ 150,000 บาท/คน สกอ.จะโอนให้ทางต้นสังกัดเป็นเงินก้อนเดียวและให้ไปจัดสรรตามจำนวนที่ระบุในเอกสาร ซึ่งทางสกอ.จะคำนวณค่าใช้จ่ายเผื่อไปให้แล้วค่ะ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจมีเงินเหลือก็ทำเรื่องคืนเงินให้สกอ.ผ่านทางต้นสังกัด
-ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมโครงการ นักศึกษาจะต้องเคลียร์ค่าใช้จ่ายพร้อมหลักฐานการใช้จ่ายเงิน (ใบเสร็จต่างๆ) กับต้นสังกัดภายใน 15 วันตามแบบฟอร์มของ สกอ. ตามด้วยรายงานการเข้าร่วมโครงการฯ ตามแบบฟอร์มเสนอไปยังสกอ.ภายใน 30 วัน

ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดเข้าไปดูที่ http://www.inter.mua.go.th/main2/article.php?id=404 


วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิกฤติพลังงาน...วิกฤติชาติ

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ


หมายเหตุ : โครงการสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม "กังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"
                   ตั้งอยู่ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

ฟังข่าวเกี่ยวกับการขาดแคลน "พลังงาน" ช่วงหน้าร้อนว่าเราต้องพึ่งพาพม่าอย่างมาก อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคตหากเรามีกรณีพิพาทกับพม่าแล้วเขาใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์บางอย่างเราจะอาจจะเสียเปรียบได้ เพราะในอดีตไทยกับพม่ามีการทำสงครามกันบ่อยครั้ง แม้จะนานมาแล้วหลายร้อยปี แต่รอยร้าวนี้ยังคงมีอยู่ในใจของคนทั้งสองประเทศ ซึ่งพบว่ากรณีพิพาทเรื่อง "ดินแดน" กำลังจะวนกลับมาอีกครั้ง อาทิ "จีน VS ญี่ปุ่น" และ  "ญี่ปุ่น VS เกาหลี" ที่พิพาทเรื่องเกาะสำคัญซึ่งต่างฝ่ายก็อ้างสิทธิ์ว่าเป็นของตน รวมถึงกรณีประสาทพระวิหารระหว่างไทยกับเขมรแม้ช่วงนี้ข่าวคร่าวจะซาๆไปบ้างแต่แผลและรอยร้าวยังมีอยู่ การพูดคุยเจรจาใดๆก็ยังไม่สนิทใจ  แม้กระทั่งความพยายามของโจรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างกระแสรายวันแต่จากวันที่เกิดเหตุจนวันนี้เกือบ 10 ปีมาแล้วที่ความสงบยังไม่บังเกิด ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงอยู่กันแบบอกสั่นขวัญหาย บ้างก็ทิ้งบ้านเกิดอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นเลยก็มี...มาถึงตรงนี้ประเมินดูแล้ว ประเทศไทยมีความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศทางเลยทีเดียว...เราจะไปต่อได้อย่างไร การเปิดประตูสู่อาเซียนอย่างเต็มตัวใน ค.ศ.2015 (หลังจากที่อาเซียนเปิดมาแล้ว 45 ปี) จะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์และผสานรอยร้าวต่างๆได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร คงต้องเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรเอาใจใส่เพราะประเทศไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพลเมืองไทย สัญชาติไทยทุกคน
 
ประเด็นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ"ความมั่นคง" ทั้งเรื่อง "ดินแดน" "พลังงาน" และ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" การหยุดจ่ายพลังงานให้ไทยของพม่าครั้งนี้บางคนวิเคราะห์ว่าอาจมีอะไรแอบแฝงหรือไม่อย่างไร ต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่แน่นอนก็คือ เกิดผลกระทบต่อกำลังผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในบ้านเราจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการถูกปรับเงินหากไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดเวลาที่ได้ทำสัญญากับบริษัทคู่ค้าได้...สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อๆกันเป็นลูกโซ่เพราะฉะนันการตัดสินใจทำอะไรของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจควรพิจารณาให้รอบคอบ มองรอบด้าน และคิดแบบซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญควรคิดและตัดสินใจบนฐานของผลประโยชน์ประเทศและส่วนรวมเป็นสำคัญ...
 
หากโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากๆ อนาคตบริษัทแม่อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า กอรปกับมาตรการป้องกันเรื่องอุทกภัยที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่สะสมมากเข้าก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้าซึ่งควรเตรียมรับมือให้ดี  นอกจากนี้ ถ้าไฟดับเป็นเวลานานๆติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจเป็นช่องทางของผู้ก่อการร้ายในการปฏิบัติการอะไรบางอย่างได้สะดวกขึ้น เช่น การก่อวินาศกรรมสถานที่สำคัญ เป็นต้น
 
แนวทางแก้ไข ณ ตอนนี้ คือ ตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังจะตามมาและเร่งหามาตรการ "พลังงานสำรอง" และ "พลังงานทดแทน" โดยเร็วเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว สิ่งเหล่านี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียอีก...

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

Japan...ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย 4

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

ต่อจากตอนที่แล้วเรื่องเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เมื่อถึงวันที่จะต้องเดินทางกลับ คนที่พักอาศัยในโรงแรม (ชินจูกุ วอชิงตัน โฮเตล) จะต้องทำการคืนห้องพัก (Checkout) ซึ่งที่นี่มีความพิเศษตรงที่ผู้พักสามารถคืนคีย์การ์ด (บัตรซึ่งเป็นทั้งกุญแจห้องและสำหรับใช้เสียบเพื่อให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในห้องทำงาน) ได้ในตู้คืนบัตรซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้เอทีเอ็ม (ATM : Automatic Teller Machine 
ที่สำคัญ สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่าง คือ ญี่ปุ่นมีฐานคิดที่ว่า เทคโนโลยี กับ สิ่งแวดล้อม จะต้องไปด้วยกัน เป็นมิตรต่อกัน อย่างที่เล่าไปแล้วเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานของคนญี่ปุ่น อาทิ การดื่มน้ำขวดเล็กแทนขวดใหญ่ นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ยังบอกกับคณะศึกษาดูงานว่าสถานที่ราชการและองค์กรต่างๆของญี่ปุ่นจะตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไว้ที่ ๒๘-๓๐ องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ๓๐ องศาเซลเซียส เพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งจากการได้ไปเยือนสถานที่ศึกษาดูงานทั้ง ๓ แห่ง (JICA / MEXT/ GRIPS) ทำให้คณะศึกษาดูงานคณะนี้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน  วิทยากรชาวญี่ปุ่นในหลายที่สังเกตเห็นพวกเรานั่งฟังไปเหงื่อตกกันไป เลยเชื้อเชิญให้ทำตัวตามสบายและถอดสูทได้ไม่ว่ากันเพราะวิทยากรก็ไม่ได้ใส่สูทมาเช่นกัน
มาถึงเรื่องราวของการศึกษาดูงาน ณ หน่วยงานราชการและองค์กรที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕  ช่วงเช้าคณะศึกษาดูงานได้เดินทางไปที่ JICA (The Japan International Cooperation Agency) โดยมี Mr. Umemiya Naoki, Ph.D. Deputy Director มาต้อนรับและบรรยายพิเศษแก่คณะศึกษาดูงาน  ส่วนช่วงบ่ายเดินทางไปศึกษาดูงานที่ MEXT (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology) ที่นี่มี Dr. Osamu Aruga และ  Kuniaki Sato ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลแก่คณะศึกษาดูงาน  ส่วนวันสุดท้าย วันที่ ๑๙  กันยายน  ๒๕๕๕ ช่วงเช้า พวกเราเดินทางไปศึกษาดูงานที่ GRIPS (National Graduate Institute for Policy Studies) โดยมี Prof.Masahiro Horie, Vice President (รองอธิการบดี)  มาต้อนรับและให้ข้อมูลกับเรา  การมาศึกษาดูงานครั้งนี้ได้ข้อมูลและความรู้เชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับคณะศึกษาดูงานเป็นอย่างมาก รวมถึงได้เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษกลับมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเนื้อหาสาระที่ได้จากการไปศึกษาดูงานแต่ละแห่งมีมากมาย ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอกรวบรวมคร่าวๆ มีประมาณ ๑๕๐ หน้า ซึ่งจะได้จัดทำเป็นรายงานสรุปการศึกษาดูงานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป 
ผู้เขียนจึงขอเล่าเฉพาะบางส่วนเท่าที่เวลาและพื้นที่ของบทความจะอำนวย อาทิ การเข้าไปติดต่อสถานที่ราชการ หรือ หน่วยงานต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่มาติดต่อจะต้องรออยู่ด้านล่าง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ หรือไม่ก็พนักงานรักษาความปลอดภัยคุ้มกันอย่างแน่นหนา มิให้คนภายนอกเข้า-ออกอาคารได้ตามใจชอบ ต้องรอจนกว่าคนที่เราติดต่อจะลงมาต้อนรับ นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ยังเล่าว่าญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการถามคำถามเชิงวิชาการว่า ผู้ถามจะต้องถามแบบอ้อมๆ โดยการเกริ่นนำบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องมาก่อน ตอนท้ายจึงจะเข้าสู่ประเด็นคำถามที่ต้องการจะถาม เพราะการถามแบบตรงๆจะถือเป็นการเสียมารยาทมากๆ ซึ่งในเวทีวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสเข้าร่วมก็พบว่ามีลักษณะสอดคล้องกัน
ทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่ตอนที่ ๑- ๔ คือ ภาพรวมของประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสมาโดยตรงจากการไปย่ำแดนอาทิตย์อุทัยภายในเวลา ๓ วันเท่านั้น หากมีโอกาสได้ไปเยือนที่นั่นอีกครั้งคงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังมากกว่านี้ หรือ หากชาวมรส.ท่านใดที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นบ้างแล้วอยากจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับนอกเหนือจากที่ผู้เขียนได้เล่ามาก็จะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในโอกาสต่อไป
หลังจากนี้ ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอก ยังมีงานชิ้นใหญ่ (Master Piece / Magnum Opus) ที่จะต้องสะสางอีก อาทิ การนำเสนองานวิจัย ๒ ชิ้น ในรายวิชาการศึกษาอิสระสำหรับนักนโยบาย (สมนก ๕๗๑) สอนโดย อาจารย์ ดร.โชคชัย สุธาเวศ และรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ (สมนก ๕๖๖) สอนโดย รศ.ดร.สมบูรณ์   ศิริสรรหิรัญ รวมถึงการสอบปลายภาคแบบทำที่บ้าน (Take home) ในรายวิชาประเด็นนโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ (สมนก ๕๖๕) สอนโดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ ชุณหคล้าย และ  .ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ แต่ที่ผู้เขียนและเพื่อนๆนักศึกษาปริญญาเอกคนอื่นๆหนักใจมากที่สุดคือ การสอบประมวลความรอบรู้ หรือ “QE” (Qualifying Examination) ซึ่งจะมีการสอบในวันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี้  ตามมาด้วยการสอบปากเปล่า (Oral Examination) ทั้งภาคทฤษฎีและสอบเนื้อหาสาระที่นำเสนอในโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation Proposal)  ทั้งนี้ ภายหลังกลับจากศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น ผู้เขียนลองประมวลการเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าตลอดเวลา ๓ ภาคการศึกษา (ปีการศึกษา ๒๕๕๔-๒๕๕๕) ผู้เขียนและนักศึกษาปริญญาเอกที่นี่ได้เข้าร่วมกิจกรรมไปแล้วกว่า ๒๕ กิจกรรมด้วยกัน ซึ่งแต่ละกิจกรรมล้วนออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาของหลักสูตรฯ นี้ได้เป็นอย่างดี
มาถึงตรงนี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องอำลา ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา ยิ่งเป็นเดือนกันยายนด้วยแล้ว ทำให้ผู้เขียนอดใจหายไม่ได้ เพราะเป็นเดือนแห่งการเกษียณอายุราชการของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพรักคนแล้วคนเล่า ปีแล้วปีเล่า  การเดินทางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อมีเริ่มต้นก็ย่อมมีสิ้นสุด สำหรับวัฒนธรรมการลาจากกันของคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เจ้าบ้าน หรือ คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ (Host) จะเดินมาส่งพร้อมกับโบกไม้โบกมือจนลับตา ก่อนจะขึ้นรถก็มีการโค้งแล้วโค้งอีกไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับพวกเราว่าบางครั้งโค้งกันไปมากระทั่งหัวชนกันจึงได้เวลาแยกย้ายกันไป เป็นต้น ซึ่งคำพูดที่ได้ยินพร้อมท่าทางการโค้งคำนับอย่างนอบน้อมก็คือ ありがとう ごさいます/ อาริกาโตะ โกไซมัส” หมายถึง “ขอบคุณ” นั่นเอง ส่วนคำพูดสำหรับ“การจากลา” คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นกับคำว่า “さようなら/ ซาโยนาระ” แต่ความจริงแล้วคำนี้ใช้สำหรับการจากลาแบบชาตินี้จะไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก  เช่น ลาตาย ลาไปทำศึกสงคราม หรือ การจากลาของหนุ่มสาวที่ไม่มีวันจะหวนมาคืนดีกัน ดังนั้น คำพูดที่ใช้สำหรับลาจากกันที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้ คือ คำว่า “またあいましょう = มาตะไอมาโช่ แล้วพบกันใหม่”  “แล้วเจอกันนะ” จะเป็นการบอกลาที่สุภาพและเป็นในเชิงบวกมากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือโปรแกรมการศึกษาดูงานดีๆ ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต และรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ  สอนโดย รศ.ดร.สมบูรณ์  ศิริสรรหิรัญ จัดให้กับ “ว่าที่ดุษฎีบัณฑิต” เพื่อเติมเต็มความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ทางวิชาการในต่างแดนให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางหลักสูตรฯ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

Japan...ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย 3

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

ต่อจากฉบับที่แล้วระหว่างทางผู้เขียนและคณะทัวร์สังเกตเห็นบริเวณกำแพงซึ่งมีลักษณะโค้งออกมาจากตัวอาคาร สอบถามมัคคุเทศก์ได้คำตอบว่า เขาทำไว้เพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก ไม่ให้เข้าไปรบกวนผู้พักอาศัย หรือ คนที่กำลังทำงานภายในอาคาร นี่คืออีกหนึ่งความใส่ใจที่รัฐบาลมอบให้พลเมืองของเขา อีกทั้งยังสะท้อนความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมืองและผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมัคคุเทศก์เล่าว่าถนนหนทางที่นี่จะใช้การได้ตามอายุที่ระบุในสัญญาโครงการก่อสร้างตามนั้นจริงๆ เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินและเงินภาษีของประชาชนได้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามหลักธรรมาภิบาล (Governance) อย่างแท้จริง ซึ่งควรนำมาเป็นแบบอย่างในบ้านเราและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย
สำหรับวันแรกตามกำหนดการ มัคคุเทศก์นำคณะศึกษาดูงานไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่น อาทิ  “โอชิโนะฮักไก”  “ภูเขาไฟฟูจิ” และ “หุบเขาโอวาคุดานิ” กล่าวคือ “โอชิโนะฮักไก” เป็นจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิได้สวยงามที่สุดอีกจุดหนึ่ง  ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก  ที่นี่ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อันแสนบริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากน้ำฝนไหลผ่านด้านบนภูเขาไฟฟูจิและผ่านเข้ามาภายใน และสุดท้ายไหลลงสู่ด้านล่างซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 3 - 4 ปี  ซึ่งน้ำในบ่อนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้านำมาดื่ม  นอกจากจะได้ความสดชื่นจากการลิ้มรสน้ำอันบริสุทธิ์แล้ว ยังจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและจะมีโชคดีอีกด้วย  ส่วน “ภูเขาไฟฟูจิ” หรือ ฟูจิซังคำว่า ซังใช้ได้กับทั้ง หญิงและ ชายซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับเราว่าชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าภูเขาไฟฟูจิเป็นผู้หญิง ซึ่งมีความเขินอายมาก แต่ละปีจะเผยโฉมให้เห็นทั้งลูกเพียง 15 วัน เท่านั้น บริเวณใกล้เคียงจะมีที่พักซึ่งสามารถมองเห็นภูเขาไฟฟูจิได้ (ถ้าบรรยากาศเป็นใจ) มีเรื่องเล่ากันว่าหากใครอยากยลโฉมของภูเขาไฟฟูจิแบบเต็มๆ ก็จะต้องสวมชุดวันเกิดนอน (ไม่ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ใดๆ) จากนั้นเปิดหน้าต่างเพื่อให้ท่าน (ภูเขาไฟฟูจิ) ได้ยลโฉมของเราก่อน ถ้าท่านพอใจท่านก็จะยอมเผยโฉมให้เราเห็นแบบเต็มๆ ในยามเช้าของวันรุ่งขึ้น  
ตามมาด้วย “หุบเขาโอวาคุดานิ” ภายในหุบเขามีบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งมีส่วนผสมของแร่กำมะถัน  ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากใครได้รับประทาน “ไข่ดำ” ซึ่งเกิดจากการนำไข่ไปต้มในน้ำพุร้อนที่มีส่วนผสมของกำมะถัน เมื่อไข่สุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ หากใครรับประทานไข่ดำเข้าไปจะทำให้มีอายุยืนยาวไปอีก 7 ปี และหากอธิษฐานสิ่งใดจะสมดังใจปรารถนา คณะทัวร์กลุ่มนี้ก็เลยรับประทานกันไปคนละฟองสองฟอง  ซึ่งนักศึกษาปริญญาเอกที่เดินทางไปในครั้งนี้ ส่วนใหญ่อธิษฐานว่า ขอให้สำเร็จการศึกษาภายใน 3 ปี และสอบผ่าน  QE ด้วยเถิดโอมเพี้ยง  ทั้งนี้ ตามกำหนดการ จะต้องไปต่อที่ “โกเท็มบะ พรีเมี่ยม เอ้าท์เลท” ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเป็นแหล่งสินค้าแบรนด์เนมมากมาย  แต่เนื่องจากฟ้าฝนไม่เป็นใจ ฝนตกตลอดทั้งวันกอรปกับรถติด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเมืองใหญ่ที่ฝนตกคราใดรถจะติดอย่างมโหฬารตามมา ดังนั้น ท่านคณบดี (รศ.ดร.วริยา ชินวรรโณ) จึงได้ตัดสินใจให้มัคคุเทศก์นำเราเดินหน้าต่อไปยังที่พักในกรุงโตเกียวกันเลย  
 สำหรับ ด้านเทคโนโลยี ญี่ปุ่นไม่เป็นรองชาติใดในโลกแน่นอน ภายหลังสงครามโลกที่ญี่ปุ่นต้องสูญเสียอย่างมหาศาลทำให้ญี่ปุ่นพยายามคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่ แม้ครั้งแรกๆ ผลิตภัณฑ์องญี่ปุ่นภายใต้การกำกับว่า “Made in Japan” จะยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากไม่ได้มาตรฐาน บ้างก็ทำเกิน บ้างก็ทำขาด ดังเช่นที่เราเคยได้ยินคำพูดว่า ญี่ปุ่นทำเกิน นั่นเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นยุคแรกๆ ถูกส่งคืน (โดนตีกลับ)จากประเทศอื่นๆ ในหลายประเทศ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ละความพยายามจึงคิดหาวิธีการประกันคุณภาพชิ้นงานด้วยการสร้างระบบควบคุมคุณภาพแบบครบวงจรอย่างที่เราคุ้นกันดี คือ ระบบ QC” หรือ “Quality Control Circle” หลังจากนั้น ผลงานภายใต้แบรนด์ญีปุ่นก็แทบจะไม่ได้รับปฏิเสธจากชาติใดในโลกอีกเลย กระทั่งญี่ปุ่นกลับมาผงาดในสมรภูมิการค้า การแข่งขัน และเทคโนโลยีของโลกได้อีกครั้ง เหล่านี้ล้วนเกิดจากมันสมองและสองมือของคนญี่ปุ่นล้วนๆ แม้ว่าจะไม่มีอะไรเหลือจากสงครามโลกในครั้งนั้น แต่ทุกอย่างสามารถสร้างขึ้นมาได้ใหม่ ตรงนี้จึงควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่างของคนที่ล้มละลาย (Bankrupt) หรือ กำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจควรดูเป็นแบบอย่างในการต่อสู้เพื่อกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง
มาถึง ส้วมไฮเทค ห้องน้ำสาธารณะเกือบทุกแห่งในญี่ปุ่นจะเป็นที่ภูมิใจของพวกเขา เพราะนอกจากจะสะอาด สะดวกสบายแล้ว ยังมีความทันสมัยและใส่ใจผู้ใช้บริการอย่างมาก บางแห่งแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะในห้องน้ำมีสารพัดปุ่มที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้เสร็จสรรพ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องกดให้ถูกปุ่มเท่านั้นเอง  บางแห่งก็มีระบบทำให้ฝาชักโครกอุ่นตลอดเวลาเพื่อฆ่าเชื้อโรคและทำให้คนใช้บริการรู้สึกอุ่นโดยเฉพาะช่วงฝนตกหนักๆ หรือ ช่วงหน้าหนาวจะช่วยได้มาก เล่ามาถึงตรงนี้ชวนให้นึกถึงเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ต (อุดม แต้พานิช) ซึ่งมีตอนหนึ่งเล่าว่าห้องน้ำในชนบทของบ้านเรายังใช้ขันและสาวเชือกดึงจากห้องแรกมาใช้ห้องสุดท้าย ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นขันเจ้ากรรมยังเจาะรูเอาไว้ป้องกันการลักขโมยอีก ระหว่างทางห้องแรกถึงห้องสุดท้ายน้ำในขันจะทยอยไหลออกมาจากรูที่เจาะไว้เมื่อสาวมาถึงห้องที่ต้องการจะใช้น้ำก็จะหมดจากขันพอดี ส่วนที่เหลือจะทำอย่างไรต่อไปโน้ต อุดมให้คนฟังไปจินตนาการต่อเอาเอง
ความไฮเทคของญี่ปุ่นยังไม่หมดแค่นั้น เพราะตลอดการเดินทาง รถที่คณะทัวร์นั่งมาจะต้องขับลอดอุโมงค์หลายแห่งด้วยกัน ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับเราว่า  ญี่ปุ่นมีอุโมงค์ ประมาณ ๘,๐๐๐ อุโมงค์ แต่ละแห่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความยากง่ายของการสร้าง เพราะบางอุโมงค์การก่อสร้างจะต้องขุดเจาะภูเขาเพื่อทำอุโมงค์ลอดใต้ภูเขา ซึ่งต่างจากบ้านเราที่เลือกใช้วิธีการระเบิดภูเขาแยกออกจากกัน หรือจะเป็น อุโมงค์ใต้น้ำ อย่างที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเกาะแก่ง ประมาณ ๗๐% พื้นดินที่ราบและที่เนินเพียง 30% ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัญจรผ่านทางน้ำ ซึ่งญี่ปุ่นก็ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยในการสร้างอุโมงค์ใต้น้ำเพื่อใช้ในการสัญจรอีกทางหนึ่งด้วย ล่าสุดในการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง โอลิมปิก ลอนดอน 2012 ญี่ปุ่นก็ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงหลายประเภทไปช่วยเจ้าภาพให้การจัดงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยในการตัดสิน เทคโนโลยีสำหรับเผยแพร่ภาพที่มีความคมชัดสูง และอื่นๆ เป็นต้น มาถึงตรงนี้ คงเป็นที่ประจักษ์กับสายตาชาวโลกแล้วว่าญี่ปุ่น คือ อีกหนึ่งประเทศซึ่งเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๒๐ กระทั่งศตวรรษที่ ๒๑ ในปัจจุบันอย่างแท้จริง 

Japan...ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย 2

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ


            ต่อจากตอนที่แล้วเมื่อมองไปยังสองข้างทางจะเห็นว่าถนนหนทางที่ประเทศญี่ปุ่น มองไปทางไหนสะอาดสะอ้าน พื้นถนนมีความสม่ำเสมอราบเรียบไม่ขรุขระเหมือนถนนวิบากอย่างบ้านเรา รถราวิ่งด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าขับนอกเมืองไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง  แต่ถ้าในตัวเมืองหรือย่านชุมชนก็จะกำหนดอัตราความเร็วไม่เกิน ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เหมือนกฎหมายบนท้องถนนในประเทศมาเลเซีย (เพื่อนบ้านของเรา) ก็มีความเข้มงวดในเรื่องนี้เช่นกัน การขับรถที่นี่ไม่มีการขับแซงซ้ายขวาอย่างที่เห็นในบ้านเรา รถทุกคันขับตามๆ กันไปอย่างใจเย็น ไม่รีบร้อน ที่สำคัญแทบจะไม่ได้ยินเสียงแตรรถยนต์เลย ซึ่งขัดกับบุคลิกของคนญี่ปุ่นที่ทำอะไรคล่องแคล่วว่องไว สะท้อนถึงวินัยที่ดีเยี่ยมในการใช้รถใช้ถนนของคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทางม้าลายของเขาก็สามารถใช้การได้จริง กล่าวคือ ทุกทางม้าลายจะมีสัญญาณไฟจราจรติดอยู่ด้วย เมื่อมีสัญญาณไฟเขียวรูปคน รถทุกคันก็พร้อมใจกันจอดเพื่อให้คนข้าม และรอจนกว่าสัญญาณไฟรูปคนจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รถจึงจะเคลื่อนตัวต่อไป  
นอกจากนี้ ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีการจอดรถบนถนนให้เห็นเลย เพราะบนถนนจะมีไว้สำหรับให้รถวิ่งเท่านั้น การจอดรถจึงต้องขับไปจอดในที่จอดใต้อาคาร หรือ สถานที่ที่สร้างสำหรับเป็นที่จอดรถโดยเฉพาะ (car park) ซึ่งมัคคุเทศก์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่จะใช้รถของญี่ปุ่นเพราะเสียภาษีถูกกว่ารถนำเข้าจากต่างประเทศ แม้แต่ราชวงศ์ และผู้บริหารบ้านเมืองระดับสูงก็ยังใช้รถญี่ปุ่นเพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจของเขาด้วย ซึ่งรถที่ใช้จะเป็นรุ่นที่ทำเฉพาะเจาะจง (รุ่น Limited) สำหรับคนกลุ่มนี้เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น คนญี่ปุ่นจะซื้อรถได้ก็ต่อเมื่อมีการซื้อที่จอดรถไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะที่จอดรถในญี่ปุ่นมีจำนวนจำกัดและมีราคาค่อนข้างแพง นี่คือความเอาใจใส่ต่อการรักษาสมดุลระหว่างปริมาณรถกับที่จอดให้มีความเหมาะสมกัน
น้องมะตูม (มัคคุเทศก์)ยังเล่าว่ากฎหมายของที่นี่เข้มงวดมาก แทบจะไม่มีใครกล้าฝ่าฝืนกฎจราจรเลย เนื่องจากหากใครฝ่าฝืน เช่น ขับรถเกินกว่าความเร็วที่กำหนดไว้ สองข้างทางจะมีเซ็นเซอร์ (Sensor) คอยตรวจจับความเร็วและส่งใบสั่งไปที่บ้าน  ซึ่งบทลงโทษ คือ ผู้ขับขี่จะต้องเสียเงินค่าปรับ และถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา ๖ เดือน หมายความว่าช่วงนั้นไม่สามารถนำรถไปขับบนท้องถนนได้ ต้องเข้าอบรมการขับรถใหม่ทั้งหมด และจ่ายค่าสอบใบขับขี่ใหม่ รวมค่าใช้จ่าย ประมาณ ๓ แสนเยน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ แสนกว่าบาท  และหากทำผิดกฎหมายจราจรอีก คราวนี้ก็จะถูกยึดใบขับขี่ตลอดชีวิต  นึกๆ แล้วอยากให้กฎหมายบ้านเราเข้มงวดและเอาจริงเอาจังแบบนี้บ้าง เพราะเท่าที่เห็นบนท้องถนนในเมืองไทย ถนน ๔ เลน เลน มีรถจอดไป ๒ เลน เหลือให้รถวิ่งแค่ ๑-๒ เลน  ขับตามใจฉัน  ขับแซงได้หมดทั้งแซงซ้าย-แซงขวา  (ถ้าแซงหน้า-หลังได้ก็คงทำไปแล้ว)  ที่น่ากังวลอีกปรากฏการณ์ คือ การขับรถย้อนศร ซึ่งในบ้านเรานับวันจะพบเห็นมากขึ้น ทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง ประหนึ่งว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปแล้ว ประเด็นนี้ หากมองอีกด้าน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาและทบทวนการสร้างที่กลับรถที่ไม่ไกลจนเกินไป เช่น การกำหนดที่ชัดเจนว่าทุกๆ  กี่กิโลเมตรควรมีที่กลับรถ 1 แห่ง เป็นต้น ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ไปได้บ้าง รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากสาเหตุดังกล่าวได้ด้วย ที่สำคัญ ในเมื่อกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง ความศักดิ์สิทธิ์และการเคารพจึงไม่บังเกิด มีแต่จะหาช่องทางละเมิดได้ตามอำเภอใจ ดังนั้น จึงอาจถึงเวลา (นานแล้ว) ที่คนไทยควรหันมาใส่ใจและเคารพกฎจราจรรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ในบ้านเราให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ควรเข้มงวดกวดขันและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจจับผู้กระทำความผิดมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าพลเมือง
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ใช่ว่าจะมีแต่ด้านบวกเสมอไป ด้านลบก็มีเช่นกัน หนีไม่พ้นสัจธรรมซึ่งทุกอย่างล้วนมี ๒ ด้านเสมอ มัคคุเทศก์เล่าว่า คนญี่ปุ่นเหมือนสองคนในร่างเดียว “ภายใน-ภายนอก” หรือ “อุระ-โอโมเตะ” กล่าวคือ ด้านหนึ่งที่มองเห็นจากภายนอกคนทั่วไปจะมองว่าพวกเขาเป็นคนอารมณ์ดี มีความสุข สนุกสนานกับการทำงานและการใช้ชีวิต แต่อีกด้านกลับแฝงไปด้วยความครุ่นคิด เข้มงวด เครียดและกดดัน ตัวอย่างเช่น การทำงาน ถ้าหัวหน้า หรือ เจ้านายยังไม่กลับบ้านลูกน้องหรือพนักงานก็จะยังไม่กลับบ้าน หรือหากเจ้านายชวนไปดื่ม หรือ ไปรับประทานอาหารก็จะต้องไปด้วย ปฏิเสธลำบาก หากใครปฏิเสธจะถูกมองว่าเป็นพวกนอกคอก (แกะดำ) การกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่นจึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงานที่นี่  หากพนักงานคนใดกลับบ้านเร็วให้สันนิษฐานว่าคนๆ นั้นใกล้จะถูกเชิญออกจากงานแล้ว ประหนึ่งว่าไม่เป็นที่รักของหัวหน้า / เจ้านาย เป็นต้น
ด้วยความเครียดและความกดดันจากการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมที่มีการแข่งขันสูง จึงทำให้คนญี่ปุ่นพยายามหาทางออกด้วยการระบายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ นานา หนึ่งในวิธีการที่เลือกใช้ คือ การร้องเพลงคาราโอเกะ (ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่คิดค้นการร้องเพลงคาราโอเกะ) รวมไปถึงเกมส์การขว้างแก้ว และถ้วยชามกับฝาผนัง เป็นต้น แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดตามที่มัคคุเทศก์เล่าให้พวกเราฟังก็คือ “การฆ่าตัวตาย” หรือ “อัตวินิบาตกรรม” เพื่อหนีปัญหาชีวิตอันเกิดจากความกดดันเรื่องงานและเรื่องต่างๆ ซึ่งพบว่าแต่ละปีจะมีคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายกว่า ๓๐,๐๐๐ คน  ซึ่งข้อมูลตัวเลขนี้เป็นที่รู้กันภายในประเทศเท่านั้น เขาจะไม่เผยแพร่ออกสื่อเนื่องจากเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีและเป็นด้านลบต่อสายตาชาวโลก ดังนั้น การจากไปของคนที่ฆ่าตัวตายจึงจากไปแบบเงียบๆ แต่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง เนื่องจากรัฐบาลมีกฎหมายว่าหากใครฆ่าตัวตายจะไปเรียกเก็บเงินจากญาติๆ เหมือนเป็นการปรามไปในตัวว่าการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ใช่ว่าใครนึกจะฆ่าตัวตายก็ทำกันได้ง่ายๆ เพื่อเตือนสติกับคนที่กำลังคิดสั้นให้คิดยาวออกไปถึงคนอื่นๆที่อยู่รอบข้างด้วย ท้ายที่สุดก็พบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นยังอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ดี  ปัญหานี้สร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดการปัญหานี้อย่างมาก เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน รวมถึงความต่างกันของบริบทของแต่ละคน แม้ว่าจะเยียวยาโดยการเพิ่มจำนวน “นักจิตวิทยาองค์การ” ซึ่งเขาเรียกให้ดูดีว่า “ที่ปรึกษา” หรือ “Consultant” ในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แล้วก็ตาม
แม้กระทั่งการกระทำความผิดที่ร้ายแรง คนญี่ปุ่นก็นิยมแสดงความรับผิดชอบด้วยการฆ่าตัวตายเช่นกัน ซึ่งวิธีการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นมีหลากหลาย  วิธีการส่วนใหญ่คล้ายกับคนในประเทศอื่น แต่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน คือ การทำ “ฮาราคีรี” (ใช้มีดดาบซามูไรคว้านท้องตนเอง) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมอันอาจจะส่งผลต่อการเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศของวงศ์ตระกูลและของชาติ  แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก คนญี่ปุ่นที่คิดจะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จึงนิยมไปกระโดดให้รถไฟความเร็วสูงพุ่งชนแทนเพราะภายหลังจากเสียชีวิตก็จะไม่สร้างความลำบากให้หน่วยกู้ภัยต้องมาเก็บกู้ซาก /ชิ้นส่วนของอวัยวะแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างแหลกเหลวและแปรเปลี่ยนไปเป็นอากาศธาตุในชั่วพริบตา เล่ามาถึงตรงนี้ ทั้งคนเล่า (มัคคุเทศก์) และคณะเดินทางรู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย ซึ่งในภาคการศึกษานี้ เนื้อหาในรายวิชาการศึกษาอิสระสำหรับนักนโยบาย (สมนก ๕๗๑) ที่อ.ดร.โชคชัย สุทธาเวศ มอบหมายให้นักศึกษาอ่านพบว่ามี “ทฤษฎีการฆ่าตัวตาย” ภายใต้ชื่อ "Le suicide ในปี ค..1897 นำเสนอโดย  David Émile Durkheim นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส (1858 1917) ซึ่งอธิบายว่าการฆ่าตัวตายเป็นปรากฏการณ์ทางด้านสังคม ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจไม่น้อยว่าแม้แต่การฆ่าตัวตายยังต้องมีศาสตร์ (ทฤษฎี) มารองรับเพื่ออธิบายปรากฏการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกด้วย
            จากที่เล่ามาตั้งแต่ตอนแรก กระทั่งตอนที่ ๒  ผู้อ่านคงจะได้เห็นภาพของญี่ปุ่นในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านบวก และด้านลบ ซึ่งข้อมูลและประสบการณ์เหล่านี้ บางครั้งไม่สามารถหาอ่านจากที่ไหนได้ ต้องไปสัมผัส หรือ ไปเยือนด้วยตนเองสักครั้ง แล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างสำนวนไทยที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น ยังคงใช้การได้ดี  ซึ่งเรื่องราวของการไป “ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย” ของผู้เขียนและคณะศึกษาดูงานยังไม่หมดเพียงเท่านี้โปรดติดตามตอนต่อไป

Japan...ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย 1

 
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

“ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย ภูเขาไฟฟูจี  น้ำประปาดีดื่มได้ มองทางไหนเป็นระเบียบ
เพียบพร้อมด้วยวัฒนธรรม  เลิศล้ำเรื่องวินัย  ใส่ใจพลเมือง ลือเลื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจดีระดับโลก”  
                                                                                         (ประทุมทิพย์ ทองเจริญ /ประพันธ์)
 
เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นหลายคนคงได้ยินชื่อเสียงกันมานานหลายด้าน สิ่งที่คุ้นหูคุ้นตากันดีของคนไทยเมื่อพูดถึงญี่ปุ่น ได้แก่ โกโบริ-อังศุมาลิน สงครามโลก  การ์ตูนชื่อดังอย่างอิคิวซังและโดราเอมอน รวมถึงภาษา วัฒนธรรม นิสัยและบุคลิกของชาวญี่ปุ่นเรื่องความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์  ตลอดจนการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก และชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจติดอันดับโลก เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้าไปย่ำแดนอาทิตย์อุทัยเป็นจำนวนมาก
ประเทศญี่ปุ่น  มีชื่อเรียกหลายคำ เช่น “นิฮง” (Nihon)  นิปปง” (Nippon) และ “เจแปน” (Japan) ตัวอักษรคันจิของชื่อญี่ปุ่นแปลว่า “ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์”  จึงทำให้บางครั้งถูกเรียกว่า “ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย”  มีเนื้อที่กว่า ๓๗๗,๙๓๐ ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ ๖๑ ของโลก [1] พื้นที่ประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นภูเขา [2]  หมู่เกาะญี่ปุ่นประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า ๓,๐๐๐ เกาะ เกาะที่ใหญ่ที่สุดก็คือ เกาะฮนชู ฮกไกโด คีวชู และชิโกกุ ตามลำดับ เกาะของญี่ปุ่นส่วนมากจะเป็นหมู่เกาะภูเขา ซึ่งในนั้นมีจำนวนหนึ่งเป็นภูเขาไฟ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ เป็นต้น
จากบทความฉบับที่แล้ว ได้เกริ่นนำถึงการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นของผู้เขียนและนักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนหนึ่งในรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ (สมนก ๕๖๖)  รับผิดชอบสอนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์  ศิริสรรหิรัญ  รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาระบบ พร้อมทั้งคณาจารย์ผู้บริหารของคณะสังคมศาสตร์ฯ รวม ๑๐ คน ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ กันยายน ๒๕๕๕ โดยมีผู้นำเที่ยว (มัคคุเทศก์ /Guide) คือ คุณธนาตย์  เจริญสุข  (มะตูม) จากบริษัท B.B. Tour Inter Travel เป็นผู้นำเที่ยวและอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางในครั้งนี้  ส่วนผู้ประสานงานของผู้บริหารคณะสังคมศาสตร์ฯ กับทางคณะของนักศึกษา คือ อาจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร  ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างคล่องแคล่วและครบถ้วนสมบูรณ์เนื่องจากท่านเคยศึกษาและใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นมานานหลายปี นอกจากนี้ ผู้เขียนยังแว่วๆ มาว่าทางคณะสังคมศาสตร์ฯ มีโครงการที่จะนำคณะนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตเดินทางไปศึกษา  ดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์ เร็วๆ นี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกัน (ตามรอยพี่ป.เอก)
จะว่าไปแล้วทั้งประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน เช่น มีชื่อเสียงด้านการศึกษา เคร่งครัดเรื่องกฎหมายและระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ของพลเมือง ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสวัสดิการดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินค่อนข้างสูง รวมถึงการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เป็นต้น แต่ก็มีความต่างกันบ้าง อาทิ จำนวนประชากรซึ่งญี่ปุ่นมีประมาณ ๑๒๘ ล้านคน  จัดอยู่ในอันดับ ๑๐ ของโลก ขณะที่สิงคโปร์มีจำนวนประชากรน้อยมาก ประมาณ ๕ ล้านคน อยู่ในอันดับที่ ๑๑๔ ของโลก (จาก ๒๓๘ ประเทศทั่วโลก) [3]
ความจำเป็นเรื่องภาษานับวันจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งภาษาสากล และภาษาของกลุ่มประเทศสมาชิก อาทิ ภาษาอาเซียน ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างน้องมะตูมเพื่อฉายภาพความสำคัญของภาษา กล่าวคือ น้องมะตูมเป็นคนหนุ่มไฟแรงอายุ ๒๘ ปี สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาญี่ปุ่น) จากรั้วโดม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีประสบการณ์การเป็นมัคคุเทศก์ไม่น้อยกว่า ๕ ปี เดินทางนำเที่ยวมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ตราบใดที่การท่องเที่ยว การศึกษา และธุรกิจยังคงจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะของภาษา อาชีพนี้ก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ เพราะต้องผ่านการเตรียมตัวและการสอบหลายขั้นตอน โดยเฉพาะความรู้ทาง “ภาษา” “ประวัติศาสตร์” และ “ความรู้เกี่ยวกับประเทศนั้นๆ” ตัวอย่างของการสอบวัดความรู้ทางภาษาน้องมะตูมผ่านการสอบวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นในระดับ ๑  ซึ่งการสอบวัดระดับทางภาษาแต่ละภาษาจะมีความต่างกัน อาทิ ภาษาญี่ปุ่นมี ๕ ระดับ (ระดับ ๑ สูงสุด /ขั้นเทพ) ภาษาจีน มี ๖ ระดับ (ระดับ ๖ สูงสุด) ภาษาอังกฤษ IELTS มี ๙ ระดับ (ระดับ ๙ สูงสุด) เป็นต้น  ซึ่งปัจจุบันการสอบวัดความรู้ทางภาษามีความจำเป็นมากสำหรับทุกอาชีพทุกวงการ เพื่อนำผลการสอบไปใช้หลายกิจกรรมทั้งการสมัครเรียน สมัครขอทุน และสมัครงาน ดังนั้น ในแต่ละปีสถาบันจัดสอบวัดความรู้ทางภาษาจะได้กำไรจากการจัดสอบอย่างเป็นกอบเป็นกำ รวมถึงการจัดสอบวัดความรู้ทางภาษาของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยอีกด้วย สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานครั้งนี้  ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเนื่องจากเป็นสถานที่ราชการและสถาบันการศึกษา ส่วนภาษาญี่ปุ่นควรศึกษาไว้บ้างเช่น คำทักทาย  ขอบคุณ  ราคาสินค้า  และเส้นทาง เป็นต้น
ก่อนเดินทางมีสิ่งที่คณะเดินทางจะต้องเตรียมตัวมากมายเนื่องจากเป็นการเดินทางไปยังต่างแดนซึ่งต่างที่ ต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม จึงต้องมีการเตรียมการหลายอย่าง เริ่มจากการทำหนังสือเดินทาง(passport) มี ๔ สี ได้แก่ สีแดงสด (สำหรับทูต) สีแดงเลือดหมู (สำหรับคนทั่วไป) สีน้ำเงิน (สำหรับข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ) ทั้งสามสีที่กล่าวมามีอายุไม่เกิน ๕ ปี และสีเขียว จะออกให้ในกรณีที่คนไทยทำหนังสือเดินทางสูญหายหรือหมดอายุ และมีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทาง E-Passport ได้  เช่น หนังสือเดินทางพระ และหนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์  มีอายุไม่เกิน ๑-๒ ปี สำหรับคณะเดินทางกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้หนังสือเดินทางสีน้ำเงิน (Official Passport) ซึ่งการใช้หนังสือเดินทางเล่มน้ำเงินจะได้รับการอำนวยความสะดวกสบายมากเนื่องจากถือว่าบุคคลที่ใช้คือข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางราชการเท่านั้นหากเดินทางไปเรื่องส่วนตัวหรือท่องเที่ยวข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องใช้เล่มสีแดงเลือดหมูเหมือนคนทั่วไป ไม่มีสิทธิพิเศษอะไร
 
ที่สำคัญการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศนั้นๆซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศก็จะมีทั้งที่เหมือนและต่างกัน  สำหรับคนที่ถือหนังสือเดินทางแบบทั่วไปก็จะต้องขอวีซ่าซึ่งความยากง่ายของการขอมีเงื่อนไขต่างกัน เช่น สาวโสดจะขอวีซ่าไปประเทศญี่ปุ่นยากว่าผู้ชาย หรือ หญิงที่สมรสแล้ว เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นเกรงกว่าจะไปประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสม (เพศพาณิชย์)ในประเทศของเขา  คนที่ถือหนังสือเดินทางทั่วไป จะต้องแสดงหลักฐานทางการเงินในบัญชีธนาคารโดยใช้สำเนาจากสมุดบัญชีธนาคารเท่านั้น ไม่สามารถใช้ Statement จากทางธนาคารได้ เพื่อดูความมั่นคงทางการเงิน เช่น มีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง มีเงินเดือนประจำ มีจำนวนเงินเพียงพอที่จะซื้อตั๋วกลับประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องใช้หนังสือรับรองฉบับจริงจากทางต้นสังกัด(ที่ทำงาน)ด้วย ส่วนผู้ที่ถือหนังสือเดินทางเล่มน้ำเงิน(Official Passport) ทางรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ภายใน ๓๐ วัน โดยที่ไม่ต้องขอวีซ่า (หมายความว่าไม่ต้องดำเนินการยุ่งยากเรื่องเอกสารเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศอย่างที่กล่าวมาข้างต้น)
การบริหารเวลา สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศไหนๆ ผู้เดินทางจะต้องศึกษาเรื่องเวลามาเป็นอย่างดีเสียก่อน อย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีเวลาเร็วกว่าไทย ๒ ชั่วโมง (เห็นพระอาทิตย์ก่อน) ซึ่งผู้ที่เดินทางจะต้องคำนวณเวลาให้ดีเรื่องการนัดหมาย อย่าเผลอคิดตามเวลาของไทย มิเช่นนั้นอาจจะพลาดการทำกิจกรรมหลายอย่างไปได้ บางคนถึงกับตกเครื่องบน (ไปไม่ทัน /พลาดการขึ้นเครื่อง) เนื่องจากความต่างกันของเวลาก็มี การเดินทางกับคณะทัวร์ผู้เดินทางแต่ละคนจะต้องรักษาเวลาและมีวินัยในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ต่างจากการมากับครอบครัวหรือมากันเอง ดังนั้น ทำอะไรจึงเป็นเวลา นัดก็ต้องเป็นไปตามนัด เพราะญี่ปุ่นจะถือเรื่องการตรงต่อเวลามาก สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินควรไปก่อนเวลานัดประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงเนื่องจากต้องใช้เวลาในการ Check in โหลดกระเป๋า และรอขึ้นเครื่องอีกด้วย เรื่องนี้คนที่โดยสารเครื่องบินบ่อยๆ คงทราบดี ยิ่งไปต่างประเทศยิ่งต้องเผื่อเวลาไว้อีกเท่าตัว
นอกจากนี้ ก่อนเดินทางจะต้องแลกเงินเป็นเงินเยนให้พอกับจำนวนที่เราคาดการณ์ว่าจะใช้ที่นั่นซึ่งจะต้องคำนวณให้พอเหมาะกับกิจกรรม ของฝาก และเวลาที่จะพักที่นั่น เพราะหากแลกเงินไปเกินจำนวนก็จะต้องนำกลับมาแลกคืนเป็นเงินไทย โดยอัตราในการแลกเงินคืนจะถูกกว่า ๒-๓ บาทโดยประมาณ  เช่น ตอนขาไปแลกเป็นเงินเยน ๑๐๐ เยน = ๔๐ บาท แต่พอตอนแลกคืน ๑๐๐ เยน อาจจะเหลือแค่ ๓๗-๓๘ บาท (คล้ายกับการซื้อ-ขายทองคำ)  ที่นั่นข้าวของส่วนใหญ่จะแพงกว่าบ้านเราค่อนข้างมาก เช่น น้ำดื่มขวดละ ๑๐๐ เยน (๔๐ บาท)  โค้ก ๒๐๐ เยน (๘๐บาท) ขนมของฝากมีหลายราคา ตั้งแต่ ๖๐๐ เยน (๒๔๐บาท) ไปจนถึง ๑,๕๐๐ เยน (๖๐๐บาท) ส่วนอาหารญี่ปุ่นอย่างที่ทราบดีว่าแต่ละอย่างจะมีขนาดเล็ก  ดังนั้น จึงต้องสั่งหลายอย่างมารับประทานจึงจะอิ่ม  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงินและความต้องการรับประทานของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อาหารแต่ละอย่างมีราคาตั้งแต่ ๓๕๐ เยน (๑๔๐ บาท) ไปจนถึง ๒,๐๐๐ เยน (๘๐๐ บาท) ซึ่งบางคนก็เลือกรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบเป็นชุดที่จัดเตรียมไว้แล้ว ซึ่งราคาก็อาจจะถูกกว่าเล็กน้อยแต่โดยรวมอัตราค่าอาหารตั้งแต่ ๓๐๐ บาท ไปจนถึง ๘๐๐ บาทต่อคนต่อมื้อ
 โดยมากคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยซื้อน้ำดื่มเพราะน้ำประปาสะอาดดื่มได้ ซึ่งรัฐบาลเขาภูมิใจนำเสนอเรื่องนี้มากติดป้ายบอกไว้ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษทุกที่ที่สามารถจะบอกกับชาวโลกได้ว่า Good to Drinkแต่สำหรับคณะทัวร์นี้ผู้นำเที่ยวได้นำขวดน้ำขนาดจิ๋วมาแจกบนรถด้วยพร้อมทั้งขนมขบเคี้ยวขึ้นชื่อของญี่ปุ่น 4-5 ชนิด บรรจุมาในถุงพลาสติกใส สำหรับให้คณะเดินทางได้รับประทานบนรถ ซึ่งพวกเราเรียกว่า “ถุงยังชีพ” หรือ Survival Kid  น้องมะตูม (มัคคุเทศก์)บอกกับพวกเราว่าคนที่นี่จะนิยมดื่มน้ำขวดขนาดเล็กที่มีปริมาตรประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ซีซี (๐.-.๖ ลิตร) เนื่องจากน้ำปริมาณเท่านี้สามารถดื่มหมดได้ภายในครั้งเดียวหรือเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อการดื่ม ๑ ครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติลดการสูญเสียจากการดื่มทิ้งๆขว้างๆ ซึ่งปัจจุบันคนทั่วไปรวมถึงตามหน่วยงานราชการนิยมบริโภคน้ำขวดเล็กมากขึ้นรวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งสถานที่ราชการ/หน่วยงานทั้ง ๓ แห่ง ได้แก่ GRIPS (National Graduate Institute for Policy Studies)  MEXT (The Ministry of Education, Culture, Sports, Science, and Technology) และ JICA (The Japan International Cooperation Agency) ที่ผู้เขียนและคณะเดินทางไปศึกษาดูงานก็ได้แจกน้ำดื่มขวดเล็กแก่พวกเราด้วยเช่นกัน
จากที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ที่ผู้เขียนพอจะสังเกตเห็นและได้รับทราบข้อมูลเชิงประจักษ์ (empirical evidences) ทั้งจากประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นข้อมูลปฐมภูมิ (primary data) และจากคำบอกเล่าของผู้นำเที่ยว ซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของการศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนขอยกยอดไปเล่าต่อในฉบับหน้า
 
อ้างอิง

การเตรียมตัวสอบ QE (QE = 3IQ+EQ)

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ล่วงเลยมาถึงภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๕ เป็นเวลากว่า ๑ ปี ๗ เดือน ที่ผู้เขียนมาศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต  คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ภาคการศึกษานี้ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษา รวม ๖ คน ไม่มีเรียนเนื้อหาวิชา (Coursework) แล้ว แต่ก็มีภาระงานอื่นๆอีกหลายรายการ ได้แก่ การเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์  การสัมมนา การสอบวัดคุณสมบัติ (QE : Qualifying Examination) การสอบปลายภาควิชาประเด็นนโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ และการวิพากษ์หลักสูตรฯ
สำหรับการสัมมนาวิชาการหัวข้อ “ทิศทางการวิจัยและการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ไทยสู่ประชาคมอาเซียน”ณ ห้องรับรอง (กันภัยมหิดล) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา  ได้รับเกียรติจากวิทยากรภายนอก ๒ คน คือ ศาสตราจารย์ ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์  อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  หัวหน้าพรรครักษ์สันติ  ท่านที่สอง คือ ศาสตราจารย์ ดร.บุญทัน  ดอกไธสง อดีตรองประธานวุฒิสภา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และวิทยากรภายใน ๑ คน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยมี อ.ดร.โชคชัย สุทธาเวศ เป็นผู้ดำเนินรายการรับเชิญ
การสัมมนาในครั้งนี้ได้ข้อคิดจากวิทยากรมากมาย โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  วิทยากรเล่าว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุกว่า ๑๐ ล้านคน หรือ คิดเป็นสัดส่วน ๑ ใน ๔ ของประชากรทั้งหมด  ที่สำคัญ วิทยากรให้ข้อคิดว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรในอนาคตให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ได้แก่ การมีสุขภาพดี สามารถเดินไปไหนมาไหนคล่องแคล่ว รวมถึงการมีสมองและความจำที่ดีไม่เป็นโรคความจำเสื่อม (Alzheimer's Disease : AD) นี่ต่างหากคือข้อคิดที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะต้องนำไปคิดต่อทั้งในฐานะที่เป็นนักวิชาการ นักนโยบายสาธารณะ ตลอดจนการดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น  ในอนาคตไม่ช้าก็เร็วทุกคนก็ต้องย่างก้าวเข้าสู่การเป็น “ผู้สูงอายุ” ดังนั้น จึงควรเตรียมความพร้อมเสียตั้งแต่วันนี้
 สำหรับช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการของคณาจารย์และนักศึกษา ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอผลงานวิจัย หัวข้อ “การประเมินสถานภาพองค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต : กรณีศึกษาด้านการคลังและงบประมาณ” ส่วนหนึ่งในรายวิชาการศึกษาอิสระสำหรับนักนโยบาย สอนโดย อ.ดร.โชคชัย สุทธาเวศ ใช้เวลาในการนำเสนอคนละประมาณ ๑๕ นาที  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำบทความดังกล่าวมาพัฒนาเพื่อใช้ประกวดในการประชุมวิชาการระดับชาติในวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒน  บริหารศาสตร์ ประจำปี ๒๕๕๖ หัวข้อ พรมแดนความรู้ใหม่สู่อนาคตการบริหารการพัฒนา” (The Next Frontier of Development Administration) ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖
 เสร็จสิ้นการสัมมนา ผู้เขียนและเพื่อนๆ ก็ต้องเตรียมตัวสอบวัดคุณสมบัติ หรือ QE (Qualifying Examination) ซึ่งบางแห่งใช้คำว่า การประมวลความรอบรู้ (Comprehensive) ซึ่งหลายคนเทียบเคียงความหมายของสองคำนี้ในทำนองเดียวกัน แต่ในความเห็นของผู้เขียนมองว่าการสอบ QE มีความยากและเข้มข้นกว่าส่วนใหญ่มักใช้กับการสอบระดับดุษฎีบัณฑิต ขณะที่การสอบประมวลความรอบรู้มักใช้กับการสอบวัดความรู้ความสามารถของผู้ที่จะสำเร็จเป็นมหาบัณฑิต สำหรับการสอบ QE ของนศ.รุ่น 2 รอบแรกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕  สอบปากเปล่าวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  วัตถุประสงค์ของการจัดสอบเพื่อเป็นการทดสอบผู้เรียนหลังจากเรียนเนื้อหาวิชา (Coursework) เสร็จสิ้นแล้ว เพื่อประเมินผลว่าผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆที่เรียนมาได้มากน้อยเพียงใด หากสอบผ่านก็ถือว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้เป็น “Doctoral candidate” แล้ว (ที่นี่ใช้คำนี้เนื่องจากปริญญาที่จะได้รับ คือ Doctor of Public Administration : DPA)  ส่วนผู้ที่เรียนหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตถ้าสอบผ่านก็จะได้เป็น "Ph.D candidate" จากนั้นก็จะไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาโครงร่างดุษฎีนิพนธ์เพื่อเตรียมตัวสอบโครงร่างฯ ในลำดับถัดไป
 นอกจากนี้ ผู้เขียนยังสืบทราบมาว่าเกณฑ์การสอบ QE ของบัณฑิตวิทยาลัยแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน เช่น จำนวนครั้งของการเปิดสอบ มีตั้งแต่ ๑ ครั้ง ไปจนถึง ๓ ครั้ง รวมถึงเกณฑ์คะแนนที่สอบผ่าน มีตั้งแต่ ๖๐% ไปจนถึง ๘๐%  ส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีการสอบวัดคุณสมบัติเพียง ๒ ครั้ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Cornell University บางแห่งเกณฑ์บีบหัวใจนักศึกษามากเพราะกำหนดสอบเพียงครั้งเดียว (แบบวัดใจและวัดดวงกันไปเลย) ถ้าได้ก็ไปต่อถ้าไม่ได้ก็เก็บกระเป๋ากลับบ้าน คล้ายการแข่งขันประกวดร้องเพลงและรายการ Reality หลายรายการในบ้านเรา แต่สำหรับการศึกษาอาจจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นแตกต่างออกไป
 ทั้งนี้ การสอบวัดคุณสมบัติ หรือ QE (Qualifying Examination) ของมหาวิทยาลัยมหิดล บัณฑิตวิทยาลัยกำหนดให้มีการสอบได้ไม่เกิน ๓ ครั้ง แต่ละครั้งจะมีการจัดสอบห่างกันประมาณ ๑ เดือน เพื่อให้นักศึกษาที่สอบไม่ผ่านมีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสมัครสอบในครั้งต่อไป หากสอบครบตามจำนวนแล้วยังสอบไม่ผ่านก็จะถูกคัดชื่อออกจากสารระบบ  และต้องหาที่เรียนใหม่  ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งอาจจะเปิดโอกาสให้เทียบโอนหน่วยกิตบางรายวิชาไปได้ขึ้นกับหลักเกณฑ์ของแต่ละหลักสูตรฯแต่ละมหาวิทยาลัย  ยิ่งกว่านั้น นักศึกษาบางคนที่สอบไม่ผ่านก็อาจจะเลิกล้มความตั้งใจที่จะเรียนต่อไปเลยก็มี กรณีนี้ถือเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษาซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล ยังกำหนดเกณฑ์คะแนนไว้ว่านักศึกษาจะต้องสอบให้ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า ๘๐% ในทุกหมวด โดยการสอบจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ๑) การสอบข้อเขียน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ หมวด ได้แก่ หมวดทฤษฎี หมวดวิจัย และหมวดประยุกต์ โดยจะทำการสอบ จำนวน ๒ วัน  ใช้เวลาหมวดละไม่เกิน  ๓ ชั่วโมง  โดยวันแรกเป็นการสอบหมวดทฤษฎี (ช่วงเช้า) และหมวดวิจัย (ช่วงบ่าย) ส่วนวันที่สองเป็นการสอบหมวดประยุกต์  ๒) การสอบปากเปล่า (Oral) จัดสอบหลังจากสอบข้อเขียนแล้วเสร็จประมาณ ๑ สัปดาห์ โดยเริ่มจากการนำเสนอโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation Proposal) ของผู้สอบซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ นาที จากนั้นเป็นการซักถามของคณะกรรมการสอบ ประมาณ ๕ นาที ทั้งนี้ การสอบปากเปล่าของนักศึกษาทั้ง รุ่น ๑ และ รุ่น ๒ สามารถจัดสอบให้แล้วเสร็จภายในครึ่งวันเช้าเนื่องจากมีจำนวนนักศึกษาไม่มาก (รุ่นละ ๖ คน)  หากจำนวนนักศึกษาเกินกว่านี้  อาทิ นักศึกษารุ่น ๓ (จำนวน ๑๔ คน)  ก็อาจมีความจำเป็นต้องจัดสอบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย หรือจัดสอบสองวันทำการ เป็นต้น

          ในทรรศนะของผู้เขียน มองว่าการสอบวัดคุณสมบัติ (QE) เป็นการวัดทั้ง IQ และ EQ กล่าวคือ IQ (Intelligence Quotient) หมายถึง ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากพันธุกรรมไปจนถึงสิ่งแวดล้อม  เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แสดงออกให้เห็นผ่านพฤติกรรมต่างๆ  โดยมี นายวิลเลียม สเตอร์น เป็นคนคิดคำว่า ไอ.คิว. เป็นคนแรก  สำหรับสูตรการคำนวณหาระดับ IQ  คือ  IQ = [ อายุสมอง (Mental Age) / อายุจริง (Chronologic Age) ] * 100    ซึ่ง IQ ถูกแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทหลัก ได้แก่ ๑. ไอ.คิว. ด้านภาษา (Verbal I.Q.)  . ไอ.คิว. ด้านการปฏิบัติ (Performance I.Q.)  . ไอ.คิว. รวม (Full I.Q.)   ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นวิธีการวัดระดับเชาวน์ปัญญาโดยสร้างแบบทดสอบขึ้นมาเพื่อวัดทักษะด้านต่างๆ ของบุคคล ได้แก่ ทักษะด้านคณิตศาสตร์  การใช้ภาษา  การคิดเชิงตรรกะ  การมองเห็น  การจัดหมวดหมู่   ด้านความจำในระยะสั้นๆ  ด้านความรู้ทั่วไป  และด้านความเร็วในการคำนวณ  โดยปกติการวัดระดับไอคิวจะต้องอาศัยนักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับการฝึกฝนการใช้แบบทดสอบจนชำนาญเป็นผู้วัดให้จึงจะมีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้  (ที่มา : http://www.cp.eng.chula.ac.th/)
นอกจากนี้  ในทรรศนะของผู้เขียนมองว่าการสอบ QE ยังเป็นการวัด EQ  ร่วมด้วย โดยเฉพาะใช้กับการสอบแบบปากเปล่า (Oral) แต่สัดส่วนที่ต้องการวัดจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าการวัด IQ ประมาณ  เท่า  กล่าวคือ E.Q.  (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความรู้จักแยกแยะความรู้สึก  การควบคุมความรู้สึก การแสดงออกทางอารมณ์ และการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง (การเรียนรู้ การรับรู้ และการเข้าใจตนเอง) อย่างสร้างสรรค์ ถูกกาลเทศะ  รวมถึงการมีความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น  มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน (empathy)  ด้วยเหตุนี้ จึงแบ่ง  EQ ออกเป็น ๒ ประเภทหลัก ได้แก่  ๑. ความฉลาดทางอารมณ์ที่มีต่อตนเอง (Intrapersonal Emotional Intelligence)  ๒.ความฉลาดทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนรอบข้าง (Interpersonal Intelligence) จากที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงนำมาสร้างเป็นสมการ ได้ ดังนี้
                                       QE =  3(IQ)+ EQ
                     ภาพที่ 1 : สมการ QE เสนอโดย ประทุมทิพย์ ทองเจริญ

        ดังนั้น การเตรียมตัวของผู้เข้าสอบจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งเนื้อหาสาระ และแนวคิดทฤษฎีที่ร่ำเรียนไปทั้ง ๙ รายวิชา (ตลอด ๓ ภาคการศึกษา)รวมถึงหมวดประยุกต์ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และวิพากษ์นโยบายสาธารณะของรัฐบาลชุดปัจจุบันกับตัวแบบนโยบายสาธารณะบนฐานของแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง สรุปว่าการสอบอะไรก็ตาม หากผู้สอบต้องการที่จะประสบความสำเร็จควรมีความพร้อมทั้ง ๓ อย่าง คือ สมอง ใจ และกาย ส่วนที่นอกเหนือจากการควบคุม (Externality) บางคนก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา (Destiny) แต่จะต้องไม่ลืมว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” 

         ทั้งนี้ เทคนิคส่วนตัวของผู้เขียนในการเตรียมตัวสอบ QE คือ การตั้งใจเรียนในชั้นเรียน เรียนแบบมีความสุข สนุกกับการเรียน ช่างสงสัยและค้นหาคำตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  คนอื่นในแวดวงวิชาการมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร และเราคิดเห็นอย่างไร สุดท้ายได้ข้อคิดเห็นจากเรื่องนี้ว่าอะไร เรามีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง  เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาและดึง “หัวใจสำคัญ” ของแต่ละเรื่องที่เรียนออกมาเป็น “คำสำคัญ” (Keywords) จากนั้นนำมาสรุปสั้นๆ ประมาณ ๕ บรรทัด เมื่อเสร็จสิ้นภาคการศึกษาก็จะรวบรวมได้ประมาณ ๓๐-๕๐ คำต่อรายวิชา (ประมาณ ๓- หน้า) ทำในลักษณะนี้ทุกวิชาจนกว่าจะมีการสอบจึงจะนำเอกสารที่สรุปเหล่านี้มาทบทวน ถ้าไม่เข้าใจประเด็นไหนก็กลับไปอ่านซ้ำตรงที่ไม่เข้าใจ เทคนิคนี้ผู้เขียนใช้มาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ผลดีทีเดียว เพราะเมื่อถึงเวลาสอบ นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่ต้นจะเริ่มลนลาน จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะอ่านอะไรก่อน-หลัง หนังสือมากมายกองเต็มห้อง บางคนถึงกับถอดใจ เครียดลงกระเพาะ  บ้างก็ล้มป่วย  บางรายไม่สามารถเข้าสอบได้ก็มี  ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากแนะนำผู้สอบทุกสนามว่าควรเตรียมตัวให้พร้อม ค่อยๆทำ ค่อยๆวางแผน ทำงานเป็นระบบ (system) สม่ำเสมอและต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาที่จะต้องสอบ ก็จะสามารถดึงความรู้และทักษะต่างๆ มาใช้ได้อย่างทันท่วงที 

      ส่วนการสอบหมวดประยุกต์ ปกตินักรัฐประศาสนศาสตร์ที่ดีจำเป็นต้องรอบรู้ข่าวสารและเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น การสอบหมวดนี้ผู้เขียนจึงทำการอ่านบทวิเคราะห์ วิจารณ์และวิพากษ์ ของนักวิชาการต่อนโยบายที่กำลังเป็นที่สนใจ หรือ กำลังเป็นกระแส (stream) ของสังคม  ในรอบ ๓-๖ เดือน ทำรายการออกมาว่ามีกี่นโยบาย จากนั้น ตามติดแต่ละนโยบายในเชิงลึกและทำสรุปนโยบายละไม่เกิน ๒ หน้า จากนั้น เชื่อมโยงเข้ากับทฤษฎีที่เรียนว่าแต่ละนโยบายควรใช้แนวคิด ทฤษฎี และตัวแบบใดมาอธิบาย สุดท้าย หลังจากที่นำเสนอแนวทางการวิเคราะห์วิพากษ์ตามแนวทางที่นักวิชาการต่างๆ เสนอมาแล้ว ต้องไม่ลืมว่าผู้ตอบข้อสอบจะต้องแสดงจุดยืนและแนวทางการแก้ไขปัญหาของนโยบายที่มาจากความคิดเห็นของตนเองบนฐานของทฤษฎีอย่าง “แยบคาย” และ “ลุ่มลึก” ด้วยเช่นกัน (ตรงนี้สำคัญมาก)