วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556
วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556
Ph.D vs Dr.
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ขณะเรียน Coursework ที่ ม.มหิดล นศ.สอบถามอาจารย์เกี่ยวกับคุณวุฒิทางการศึกษาระดับปริญญาเอก ระหว่าง Ph.D vs Dr. อธิบายได้ 3 แบบ ดังนี้
(ที่มาของรูปภาพ โดย ประทุมทิพย์ ทองเจริญ)
แบบที่ 1: Make Dissertation only, No Coursework ได้ปริญญา Philosophy of......
สมัยก่อนป.เอกส่วนใหญ่ใช้ Ph.D เนื่องจากเรียนปรัชญาเสียส่วนใหญ่ และเน้นทำวิจัย ปริญญาของหลักสูตรประเภทนี้ จะใช้ชื่อ Philosophy of.......ตามด้วยสาขาวิชา ผู้ผ่านการสอบQE (Qualifying Examination) จะใช้ Ph.D candidate ตามด้วยชื่อของมหาวิทยาลัย ตัวย่อของปริญญาจะเป็น Ph.D........(Ph. ย่อจาก Philosophy D ย่อจาก Degree) นอกจากนี้ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงวิทยานิพนธ์แบบรวมๆในระดับบัณฑิตศึกษาส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "Thesis" แต่เมื่อต้องการเจาะจงว่าเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกก็จะใช้คำว่า "Dissertation"
ทั้งนี้ พบว่าสถาบันการศึกษาของยุโรปส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบนี้ ผู้ที่จะทำดุษฎีนิพนธ์ได้จะต้องเขียนบทความวิชาการไปลงในวารสารนานาชาติที่ได้รับการยอมรับในสาขานั้นๆ ก่อน ตามจำนวนบทความที่กำหนด จากนั้น ก็จะสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination:QE) ถ้าผ่านก็จะได้ Submitted เพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งก็จะนำบทความที่ได้ตีพิมพ์มาขยายเป็นบทๆ อย่างละเอียดลึ้กซึ้งในดุษฎีนิพนธ์ขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ เคยสอบถามนักศึกษาปริญญาเอกชาวไทย (อ.มนตรี สุขเลื่อง) ที่ได้ทุนของประเทศบรูไนท่านก็บอกว่าปริญญาเอกสาขาที่ท่านไปเรียนที่ประเทศบรูไนก็ใช้แบบนี้และจากที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่ USM มาเลเซียก็เป็นแบบ "research degree"
แบบที่ 2: Both Coursework and Dissertation (แต่น้ำหนักอยู่ที่ดุษฎีนิพนธ์) ได้ปริญญา Doctor of...
ต่อมาหลายสถาบันการศึกษามีเรียน Coursework เพิ่มเข้ามาเนื่องจากองค์ความรู้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society:KBS) นศ.ป.เอกหลายที่จึงถูกกำหนดให้เรียน Coursework ด้วย ซึ่งอย่างหลังนี้ ไม่เน้นเรียนเรื่องปรัชญามากนัก แต่จะไปเน้นที่เทคนิค วิธีการวิจัยและการนำไปปฏิบัติจริง ควบคู่กับการทำดุษฎีนิพนธ์ สัดส่วนcoursework กับ dissertation อยู่ที่ (40:60 หรือ 30:70) ดังนั้น ปริญญาประเภทนี้จะขึ้นต้นด้วย Doctor of..ตามด้วยชื่อสาขาวิชา ผู้สอบวัดคุณสมบัติ (QE) ผ่านจึงจะได้ใช้คำว่า Doctoral candidate ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจะใช้ตัวย่อว่า Dr.
เช่น หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต ม.มหิดล ภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Doctor of Public Administration (Public Policy and Public Management) ตัวย่อ D.P.A ประเภทนี้จะเริ่มด้วยการเรียน Coursework ควบคู่กับการทำผลงานวิชาการ ในลักษณะแบบฝึกหัดของแต่ละรายวิชา ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยขนาดย่อม และบทความวิจัย จากนั้น ตีพิมพ์ และนำเสนอในเวทีวิชาการระดับชาติ เป็นต้น ตามด้วยการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการทำดุษฎีนิพนธ์ต่อไป และนำผลที่ได้จากดุษฎีนิพนธ์มาเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือ นานาชาติ (ขึ้นกับเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง) ซึ่งที่ม.มหิดล กำหนดให้ดุษฎีบัณฑิตตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเท่านั้น เนื่องจากทำดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อได้หนังสือตอบรับ (อย่างเป็นทางการ)ให้ตีพิมพ์บทความจึงจะทำเรื่องขอสำเร็จการศึกษาได้...
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน ที่เนื้อหาสาระต่างๆข้ามศาสตร์ ข้ามสาขากันไปมาได้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์เชิงอภิมาน "Meta-analysis" และการบูรณาการ "Interdisciplinary" ที่คุ้นหูกันในแวดวงวิชาการในเมืองไทยนานพอสมควรแล้ว รวมถึงเป็นไปตามหลักการของการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า "Tri-angulation" ทั้ง 3 คำนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและสามารถนำมาใช้กับการวิจัยแบบผสมผสาน "Mixed Methods" ได้อย่างสอดคล้องกัน ซึ่งแต่ละตัวจะทำหน้าที่และบทบาทในการวิจัยที่แตกต่างกัน
แบบที่ 3: Both Coursework and Dissertation (น้ำหนักอยู่ที่ดุษฎีนิพนธ์) ได้ปริญญา Philosophy of...
ผู้เขียนกำลังสะท้อนให้เห็นว่า พัฒนาการของศาสตร์และวิธีวิทยาการวิจัยข้างต้นล้วนมีอิทธิพลต่อวงการการศึกษาและการวิจัยค่อนข้างมาก แม้กระทั่งการใช้ Ph.D กับ Dr. ก็ไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัวอย่างในอดีตอีกต่อไป
อย่างกรณีของสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่จะเรียน Coursework ควบคู่กับการทำ Dissertation แต่ปริญญาส่วนใหญ่ที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับ คือ Philosophy of..ตามด้วยชื่อสาขา ดังนั้น คำนำหน้าของผู้สำเร็จการศึกษาจึงใช้ Ph.D ซึ่งเงื่อนไขของการทำดุษฎีนิพนธ์ของประเภทนี้ อาจเขียนบทความก่อนทำดุษฎีนิพนธ์ (ตามแบบที่ 1) หรือ เขียนบทความภายหลังการทำดุษฎีนิพนธ์ (ตามแบบที่ 2) เป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแบบที่ 2 และ 3 เหมือนกันมาก ต่างกันตรงที่ปริญญาที่ได้รับ และคำนำหน้าเท่านั้นเอง ซึ่งแบบที่ 3 เสมือนลูกผสมระหว่างแบบที่ 1+2 ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าแบบที่ 3 จะมีความอิสระ และเน้นการบูรณาการมากขึ้น สุดท้าย ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่สำคัญไปกว่าชื่อปริญญา หรือ คำว่า Ph.D หรือ Doctor คือ การทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อช่วยเหลือชุมชน สังคม ประเทศ และโลกของเรามากกว่าที่จะให้คุณค่าของสิ่งที่กล่าวมา...
วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
Book Review : ด้วยรักบันดาล...นิทานสีขาว
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
หนังสือด้วยรักบันดาล
นิทานสีขาวเป็นอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (เกิดเมื่อ 6 พ.ย.2483 ปัจจุบันอายุ 73ปี) ผู้มากด้วยความรู้ ความสามารถ ก่อนหน้านี้
คนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มักรู้จักท่านในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานโดดเด่น
คือ การออกแบบและควบคุมการร่อนลงของโครงการอวกาศไวกิ้ง 2 ลำ
ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (The
National Aeronautics and Space Administration: NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อได้ทำความรู้จักท่านเพิ่มเติมจากการอ่านประวัติของท่าน
พบว่า ดร.อาจอง ยังมีประสบการณ์และมุมมองด้านอื่นๆที่น่าสนใจและชวนให้ติดตามอีกมากมาย
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
เป็นคนหนึ่งที่เรียนดีมาก ปริญญาตรีเกียรตินิยมและปริญญาโทจาก Cambridge
University ประเทศอังกฤษ
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก 2012/2013 โดย QS World University Rankings ปัจจุบัน Cambridge University
ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของโลก เป็นรองจาก
Massachusetts Institute of Technology
(MIT) ซึ่งครองแชมป์มาหลายสมัย
แม้จะไม่ติดต่อกันก็ตาม) ช่วงหลัง
ดร.อาจอง หันมาเอาดีทางด้านการสอนและการปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับเยาวชนในสถาบันการศึกษา
ซึ่งท่านสำเร็จการศึกษาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน
จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนสัตยาไส
โรงเรียนที่มีปณิธานเพื่อให้เด็กไทยมีความรู้คู่ความสุข ด้วยท่านเล็งเห็นว่า
“ความสุข” สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและโลกมากมาย รวมถึงการเสริมสร้าง
“แรงบันดาลใจ” และ “จินตนาการ” ของเด็กๆอีกด้วย
อย่างที่ใครๆก็ทราบดีว่า “ความสุข” เป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา
แต่การได้มาซึ่งความสุขอย่างแท้จริงนั้น มีที่มาต่างกัน
สำหรับบางคนความสุขอาจจะมาเร็วไปเร็ว นานๆมาสักครั้ง
แต่บางคนความสุขอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกวันจนคนรอบข้างอิจฉาในความสดชื่น
แจ่มใสและเบิกบานของเขาเลยทีเดียว ดังที่นักวิชาการและผู้รู้หลายท่านเคยกล่าวไว้ในผลงานของพวกเขาและยืนยันว่า
“ความสุขอยู่รอบตัวเรา ไม่ได้อยู่ไกลเกินที่จะเอื้อมถึง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดหู
เปิดตา และเปิดใจยอมรับให้มันเข้ามาในชีวิตของเราหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด”
และหนึ่งในวิธีการสร้างความสุขง่ายๆ ที่ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือ
การได้อ่านนิทานดีๆ อย่างเรื่อง “ด้วยรักบันดาล…นิทานสีขาว” อาจนำมาซึ่งความสุขที่ใครหลายคนกำลังรอคอย…
เคล็ดที่ไม่ลับสำหรับนักอ่านมือใหม่
ปกติคนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือมักจะไม่ชอบอ่านคำนำ
และคำนิยม รวมถึงไม่ค่อยได้สนใจประวัติผู้เขียน แต่ความจริงแล้ว
ส่วนประกอบเหล่านี้มีคุณค่ามากเพราะจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบที่มาที่ไป
แรงบันดาลใจของผู้เขียนในการทำผลงานชิ้นนั้นๆ ตลอดจนนักอ่าน(กิตติมศักดิ์)ทั้งหลาย
ที่ได้รู้จักและอ่านงานของผู้เขียนว่าพวกเขามีความคิดเห็นและมุมมองต่อหนังสือเล่มนั้นอย่างไร
ประเด็นไหนที่ผู้อ่าน(อย่างเราๆ)ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ที่สำคัญ
หากผู้อ่านได้อ่านองค์ประกอบเหล่านี้จะยิ่งทำให้เข้าใจในงานเขียนชิ้นนั้นได้อย่างซาบซึ้งและดื่มด่ำกับอรรถรสของหนังสือมากขึ้น ทั้งนี้ เคล็ดไม่ลับดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับการอ่านหนังสือวิชาการได้เช่นกัน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
หวังว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้และเล่มต่อๆไป องค์ประกอบส่วนนี้จะไม่ถูกมองข้ามจากผู้อ่านดังเช่นที่ผ่านมา…
หนังสือเล่มนี้ เป็นการคัดมาเฉพาะตอนเด่นๆ
จากหนังสือชุด “ด้วยรักบันดาล…นิทานสีขาว
เล่ม 1-4” แต่ละตอนประกอบด้วยเนื้อหาที่กระชับ ประมาณ 4-6 หน้า พร้อมภาพประกอบสี่สีสวยงาม
และตอนท้ายของทุกเรื่องมีข้อคิดดีๆ จากผู้เล่าเรื่อง( ดร.อาจอง)
ฝากไว้ด้วย สำหรับตอนที่นำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้
คือ “ภูเขาดินปั้น” (หน้า 117-124) เป็นหนึ่งใน 16 ตอน ที่ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวมีความประทับใจและภูมิใจนำเสนอต่อผู้อ่าน
ทั้งนักอ่านมือเก่า และมือใหม่ ที่อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบและติดใจการอ่านนิทานมาตั้งแต่วัยเยาว์
นี่คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังสือประเภท “นิทาน” ใจความของตอนนี้ สรุปได้ว่า…
ณ
เมืองหนึ่ง มีพระราชาที่เฝ้ารอคอยการมาเกิดของรัชทายาททุกขณะ แต่ก็ไม่มีวี่แวว
กระทั่งมีคนเสนอว่าให้ทำตามโบราณราชประเพณี คือ
เผาเด็กชายทั้งเป็นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าเผื่อว่าจะประทานโอรสเพื่อมาเป็นรัชทายาท
ในที่สุดกษัตริย์ก็ตัดสินใจเลือกวิธีนี้ทั้งๆที่ไม่อยากทำ จึงได้ป่าวประกาศไปทั่วเมืองว่าใครมีบุตรชายที่จะมาถวายให้เข้าพิธีนี้จะมอบเงินรางวัลและทรัพย์สินมีค่าเพื่อเป็นการตอบแทนอย่างงาม
ชาวบ้านไม่มีใครส่งลูกไปเพราะต่างก็รักลูกของตน แต่มีครอบครัวหนึ่งที่ยากจนข้นแค้น
มีลูกชาย 3 คน พ่อจึงตัดสินใจว่าจะส่งลูกชายของตนคนใดคนหนึ่งไปให้กษัตริย์เพื่อทำให้ชีวิตตนดีขึ้น
พ่อเลือกที่จะเก็บลูกชายคนโตไว้เพราะสามารถช่วยงานหนักอย่างงานในไร่ในฟาร์มได้แล้ว
ส่วนแม่เลือกที่จะเก็บลูกคนเล็กที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ ดังนั้น
ลูกคนกลางจึงถูกเลือกที่จะนำไปมอบให้กษัตริย์เพื่อทำพิธีดังกล่าว
ขณะรอเวลาเพื่อทำพิธี
ทหารเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็กชายวัย 12 ขวบที่ถูกคุมขังในคุก พวกเขาประหลาดใจที่เด็กชายไม่กลัวที่จะถูกเผาทั้งเป็นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ตรงกันข้ามกลับใจเย็น สุขุม ไม่สะทกสะท้าน ตีโพยตีพาย หรือ ร้องขอชีวิตแต่อย่างใด
ดังนั้น ทหารจึงไปกราบทูลพระราชาถึงความผิดแปลกนี้ พระราชาสงสัยและไม่เชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่จริง
จึงไปเยี่ยมเด็กชายในที่คุมขัง เมื่อไปถึงพระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็นเด็กคนนี้บรรจงสร้าง
“ภูเขาดินปั้น” ขึ้นมา 3 กอง
แต่เมื่อพระองค์มายืนตรงหน้าเด็กชายก็พลันทุบภูเขาดินปั้นลูกแรกต่อหน้าพระพักตร์
ทำเอาพระราชาตะลึงเล็กน้อย ตามมาด้วยการทุบทำลายภูเขาดินปั้นลูกที่ 2
พอมาถึงลูกที่ 3 พระองค์จึงถามเด็กชายว่า แล้วลูกนี้เจ้าจะไม่ทุบมันด้วยหรือ
เหตุใดจึงทำลายแค่ 2 ลูกแรก เด็กชายกราบทูลพระราชาอย่างใจเย็นว่า
ภูเขาลูกแรกเสมือนความรักของพ่อแม่ที่แม้จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
แต่เมื่อพวกเขาตัดสินใจส่งข้ามาให้เผชิญกับความตายก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่เหลือเยื่อใยแห่งความรักและความปรารถนาดีต่อข้าพระองค์อีกต่อไป
ความสัมพันธ์นี้จึงขาดลงนับตั้งแต่วันนั้น
ส่วนภูเขาลูกที่ 2 คือ พระองค์ ผู้เป็นกษัตริย์ แต่ไม่รักและห่วงใยประชาชน
สั่งฆ่าได้แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง
ซึ่งเปรียบเสมือนลูกของพระองค์ ดังนั้น ข้าจึงไม่ศรัทธาในตัวพระองค์อีกต่อไป ข้าจึงตัดสินใจทำลายมันเสีย…
ส่วนภูเขาลูกที่ 3 ข้าจะเก็บมันไว้
เพราะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ข้ายังเหลืออยู่ นั่นก็คือ “ความดีงาม” ที่ข้าได้เพียรพยายามและรักษามันมาตลอด
12 ปี ข้ายังคงศรัทธาในความดีและเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ข้ารอดพ้นจากอันตรายและความตายในครั้งนี้
ข้าจึงไม่ทุบทำลายมันเสีย เมื่อฟังเด็กน้อยพูดจบลง
พระองค์ทรุดเข่าลงนั่งต่อหน้าเด็กชายคนนี้ และบอกกับเด็กชายว่า “…จริงสินะ ข้ามัวนึกถึงแต่ตัวเอง
ข้าไม่น่าทำพิธีนี้ตั้งแต่แรก ข้ากำลังจะฆ่าประชาชนที่เสมือนลูกของข้าด้วยตัวของข้าเอง
เจ้าเป็นเด็กแท้ๆ
กลับคิดได้และมีสติปัญญาอันหลักแหลมเป็นเลิศเหนือกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ข้าเคยพบเห็นมา...เอาล่ะ! ข้าจะไม่จับเจ้าไปบวงสรวงแล้ว…เพราะตอนนี้ข้ามีรัชทายาทแล้ว
ข้าจะรับเจ้าเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งเจ้าเป็นรัชทายาทให้ครองบัลลังก์และดูแลทุกข์สุขของประชาชนต่อไป”
เกือบทุกครั้งที่นิทานทุกเรื่องจบลงผู้ฟังมักได้ยินวรรคทองของผู้เล่าเรื่องที่ว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” ถือเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเล่านิทานที่คุ้นหูคนฟังมาช้านาน
นิทานเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้เล่าเรื่องได้แฝงข้อคิดที่สำคัญกอรปกับข้อคิดที่ได้จากผู้อ่าน
(ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความนี้) ทำให้ได้ข้อคิด 2 ประการสำคัญ คือ 1) ส่วนใหญ่ผู้เป็นพ่อแม่จะรักลูกคนแรก
และคนสุดท้องมาก ขณะที่ลูกคนกลางมักจะไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่อย่างที่ควรจะเป็น โดยมากลูกคนกลางจะมีนิสัยคล้ายพี่คนโต
คือ เอาการเอางาน มีความเข้มแข็ง และไม่เอาแต่ใจเหมือนลูกคนสุดท้อง
ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่พึ่งพิงของพี่ๆน้องๆและพ่อแม่ได้ เพราะไม่ถูกตามใจจนเสียคน
แต่ลึกๆแล้วเขาก็อาจจะแฝงด้วยความน้อยใจต่อผู้ปกครอง การเลี้ยงดูบุตรหลานจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก
ที่จะทำให้เด็กๆทุกคนได้รับความรักและความเอาใจใส่อย่างเท่าเทียมกัน
ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาสิ่งนี้มากขึ้น 2)
สติและปัญญา บวกกับความดีงามจะสามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากเหตุการณ์คับขันได้
จงเชื่อมั่นและ "ศรัทธาในความดี"
อย่างที่ชาว มรส.
เชื่อมั่นและยึดถือสิ่งนี้มาโดยตลอด
วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556
ปั้นดิน...ให้เป็นดาว
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา
จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ปิดแบบสนิทเสียทีเดียว เพราะตามกำหนดการของภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๔ จะเริ่มปิดภาคการศึกษานี้ ตั้งแต่วันที่ ๙
มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ระดับปริญญาตรีจะยึดตามเกณฑ์นี้ แต่สำหรับปริญญาโทและปริญญาเอกจะขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนและภาระงานของนักศึกษาที่ยังคั่งค้างเป็นสำคัญ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อนๆว่าการเรียนในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ไม่ธรรมดา
เพราะหลังจากที่สอบปลายภาคแล้วเสร็จ (ทั้งแบบสอบในห้องและการนำข้อสอบกลับมาทำที่บ้าน
หรือ ที่เรียกกันว่า “Take home”)
ผู้เขียนและเพื่อนๆ ก็ยังมีบทความอีก ๓ ชิ้น ประกอบด้วยบทความในรายวิชาการกําหนดนโยบายสาธารณะจากปัญหาเขตเมืองและชุมชน จำนวน ๒ ชิ้น และบทความในรายวิชานโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
อีก ๑ ชิ้น ซึ่งผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอกจะต้องสะสางให้แล้วเสร็จตลอดช่วงเดือนเมษายน
เดือนที่ใครๆบ่นนักหนาว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด
ขณะที่เกรดของรายวิชาทั้ง
๒ ภาคการศึกษา (๖ รายวิชา) เพิ่งจะออกมาให้ยลโฉมเพียง ๒ ตัว เท่านั้น
เพราะเกรดบางรายวิชาจะขึ้นอยู่กับการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับชาติดังที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว
ล่าสุด บทความเรื่อง “ทรัพยากรมนุษย์พันธุ์แท้”
ของผู้เขียนได้รับการตอบรับให้ลงตีพิมพ์ในวารสารสงขลานครินทร์ (วารสารระดับชาติ) ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓ (ก.ค - ก.ย ๒๕๕๕) ซึ่งเกรดในรายวิชาการจัดการทุนมนุษย์ภาครัฐ
เมื่อภาคการศึกษาที่ ๑ /๒๕๕๔ ก็คงจะได้ปรากฏในเร็ววันนี้
ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น ๑๐ เดือนเต็มๆ (ส.ค.๒๕๕๔-พ.ค.๒๕๕๕) ทราบข่าวนี้แล้ว
ทำให้ผู้เขียนหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ซึ่ง รศ.ดร.ศิริพร แย้มนิล ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าว ให้กำลังใจพวกเราว่าการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาตินั้น
เป็นเรื่องที่ว่ายากแล้ว
แต่สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกที่จะต้องทำดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ
และเขียนบทความภาษาอังกฤษไปนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติและตีพิมพ์ในวารสารนานาชาตินั้นยิ่งยากกว่าหลายเท่า
เพราะนักศึกษาบางรายต้องรอการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารเกือบ ๓ ปี ดังนั้น
นักศึกษาจะต้องวางแผนและเตรียมการในเรื่องนี้อย่างรอบคอบและเป็นระบบจึงจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในกำหนดเวลา
๕ ปี
นอกจากนี้ ผู้เขียนและเพื่อนๆ
นักศึกษาปริญญาเอก จำนวน ๖ คน และนักศึกษาปริญญาโท ได้มีโอกาสร่วมนำเสนอบทความในการประชุมวิชาการบัณฑิตศึกษาระดับชาติและนานาชาติ
เรื่อง การจัดการชุมชนและการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ
วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกนำทีมโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ผู้สอนในรายวิชานโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. วริยา ชินวรรโณ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล และคณาจารย์อีก ๒ คน ได้แก่ อ.ดร.เทพรัตน์ พิมลเสถียร รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ และ ผศ.ดร.กมลพร สอนศรี ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและดูแลคณะนักศึกษาที่ไปนำเสนอผลงานในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม
การเดินทางไกล (กรุงเทพฯ-มหาสารคาม กว่า ๔๗๕ กิโลเมตร) การเดินทางสามารถไปได้
๔ วิธีการ คือ โดยสารเครื่องบิน (๑ ชั่วโมง) รถไฟ (๙-๑๐
ชั่วโมง) รถทัวร์ และรถยนต์ส่วนตัว (๗-๘ ชั่วโมง) ถ้าโดยสารเครื่องบินและรถไฟจะต้องไปลงที่ขอนแก่น
จากนั้นค่อยต่อรถไปมหาสารคามอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ส่วนที่พักทางคณะผู้จัดงานแนะนำ
โรงแรมตักศิลาและโรงแรมในเครือ (นิวพัฒนา และตักศิลาแกรนด์) ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงและคุณภาพได้มาตรฐาน
สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทาง (ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าลงทะเบียน และค่ารถโดยสารประจำทาง)
ประมาณ ๕,๐๐๐ บาท - ๑๐,๐๐๐ บาท/คน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หรือ “มมส.” มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๓๐๐
ไร่ (ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี เกือบ 2 เท่า) พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร ต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วิทยาเขตมหาสารคาม กระทั่งมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างเต็มตัว เมื่อ เมื่อวันที่
๙ ธันวาคม ๒๕๓๗ นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ ๒๒ ของประเทศไทย เปิดสอนระดับประถมและมัธยมศึกษาใน
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ปีการศึกษา 2540)
และยังได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไปยังวิทยาเขตนครพนมและศูนย์พัฒนาการศึกษาอุดรธานี
โดยใช้การเรียนการสอนระบบทางไกลผ่านดาวเทียม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีสถานที่ตั้งอยู่ ๒ แห่ง คือ ถนนนครสวรรค์
ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม (ม.เก่า)
และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย (ม.ใหม่) ซึ่งวิทยาลัยการเมืองการปกครองสถานที่จัดการประชุมตั้งอยู่บริเวณ
“ม.ใหม่” การเดินทางจากที่พัก
(โรงแรมตักศิลาและโรงแรมในเครือ)ไปยังสถานที่จัดการประชุมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่สำคัญมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีจุดเด่น คือ
การได้รับการจัดอันดับให้เป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” อันดับที่ ๔
ของประเทศ และอันดับที่ ๑๒๖ ของโลก (จาก UI GreenMetric
World University Ranking ๒๐๑๑)
สำหรับการจัดการเรียนการสอนในภาพรวมได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่
๗๒๗ ของโลก และลำดับที่ ๒๑ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จาก www.webometrics.info) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติ
และความร่มรื่นภายในบริเวณมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลก็เช่นกัน
ทั้งนี้ คำที่บ่งบอกถึงความเป็นธรรมชาติและความร่มรื่นที่มักได้ยินมี ๒ คำ คือ คำว่า”Green” เช่น มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และคำว่า
“eco” อย่างที่โฆษณารถยนต์และที่พักต่างๆ นิยมใช้คำว่า “eco-car” และ “eco-hotel” ซึ่ง “eco”
ตัวนี้มาจากคำว่า “ecology” (นิเวศวิทยา / ระบบนิเวศน์) แต่หลายคนเข้าใจผิดว่าหมายถึงความประหยัด
“economy” ดังนั้น องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัย/สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกจึงได้กำหนดให้ความเป็นธรรมชาติและความร่มรื่นเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญของการจัดอันดับด้วย
การประชุมครั้งนี้
มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๕๐๐ คน และทีมงาน (staffs) กว่า ๑๐๐ คน ประจำตามจุดต่างๆ สำหรับบทความของผู้นำเสนอจะได้รับการตีพิมพ์ทั้งบทคัดย่อ
(Abstract) และบทความฉบับเต็ม (Proceeding) ในเอกสารแจกตามสูจิบัตรกว่า ๔๐ หน้า ซึ่งแสดงรายละเอียดต่างๆไว้อย่างครบถ้วน
ระบุสถาบันการศึกษาที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานทั้งสิ้น ๑๑ สถาบัน ได้แก่ ๑)
คณะกรรมการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ๒) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล ๓) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๔)
สถานกงสุลเวียดนาม ขอนแก่น ๕)
สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย ๖) University of the Philippines,
Philippines ๗) National College of Public Administration
and Governance University of the Philippines, Philippines ๘) Universiti Kebangsaan, Malaysia ๙) Universitas Brawijaya,
Indonesia ๑๐)
Faculty of Law and Political Science, National University
of Laos และ ๑๑) Western University,
Cambodia ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมนอกจากจะเป็น
อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาเอก
และนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันเหล่านี้แล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศหลายสถาบันได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย ผู้นำเสนอแบบปากเปล่า (oral
presentation) ประมาณ ๘๐ คน และผู้นำเสนอแบบโปสเตอร์ จำนวน ๑๖ คน
ตามกำหนดการ
ช่วงเช้าเป็นพิธีเปิด โดย รศ.สีดา
สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ในฐานะประธานจัดการประชุมฯ กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีและผู้เข้าร่วมประชุมฯ
ตามด้วยการกล่าวเปิดของประธานในพิธีโดย ผศ.ดร. ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
(คนปัจจุบัน) จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษ (ภาษาอังกฤษ) โดย คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ นายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย
หัวข้อ “Community and Environmental Management for
Sustainable Development in ASEAN” ตามด้วยปาฐกถาพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนในหัวข้อที่แตกต่างกันโดยแยกบรรยายเป็นกลุ่มตามห้องต่างๆ
ประมาณ 3-4 ห้อง ได้แก่
ศ.ดร.เกษม จันทรแก้ว อ.พราวพรรณราย
มัลลิกะมาลย์ ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี รศ.ดร.โกวิทย์ กังสนันท์ คุณอำนวย ปะติเส อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคุณปกรณ์
สัตยวณิช ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดํา
(กปร.)
ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอแบบปากเปล่า
(ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ของผู้นำเสนอทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒๒ กลุ่ม แยกนำเสนอตามห้องต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้
ซึ่งแต่ละห้องจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ (ห้องละ 3-4
คน) คอยซักถามและให้คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับการนำเสนอของผู้เขียนและเพื่อนนักศึกษาปริญญาเอก
ถูกจัดให้นำเสนอ ณ ห้อง D-๒๐๒ และ D-๒๐๖
ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ระหว่าง ๑๔.๔๕-๑๖.๓๐ น. ซึ่งผู้เขียน เพื่อนนักศึกษาปริญญาเอก ๒ คน
และนักศึกษาปริญญาโท ๑ คน นำเสนอ ณ ห้อง D-๒๐๒ โดยมี อ.ดร.เทพรัตน์ พิมลเสถียร ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ประสานงาน/อำนวยความสะดวกในการนำเสนอ
(facilitator) และผู้วิพากษ์ (commentator) ของคณะนักศึกษาในห้องนี้ ขณะที่ห้อง D-๒๐๖ มี รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ เป็นผู้ทำหน้าที่นี้
เกณฑ์การนำเสนอ ณ
ห้อง D-๒๐๒ คือ ๘ : ๒ : ๕ กล่าวคือ นำเสนอ ๘ นาที ซักถาม ๒ นาที และ ตอบข้อซักถาม ๕ นาที ซึ่งตามกำหนดการผู้เขียนนำเสนอเป็นคนแรกในการนำเสนอแบบปากเปล่า
(ภาษาไทย) เริ่มเวลา ๑๔.๔๕ น. ในหัวข้อ “e-Education : มิติใหม่ของการศึกษาในโลกไร้พรมแดน” ซึ่งความจริงแล้ว ผู้เขียนและเพื่อนๆ
ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานว่าให้เวลาการนำเสนอคนละประมาณ ๑๕ นาที
รวมคำถามและการตอบข้อซักถามไม่เกินคนละ ๒๐ นาที ดังนั้น สำหรับการนำเสนอในห้อง D-๒๐๒
ผู้นำเสนอจึงต้องปรับลดเวลาการนำเสนอเสียใหม่ให้เหลือเพียงคนละไม่เกิน ๘ นาที
ประเด็นนี้ จึงเป็นทั้งความท้าทาย ความตื่นเต้น และความกดดันเรื่องเวลา (Time
Constraint) ของผู้นำเสนอในห้องนี้เป็นอย่างมาก
จากการสังเกตและประสบการณ์การนำเสนอผลงานวิชาการในเวทีต่างๆของผู้เขียนพบว่า
การนำเสนอมีหลายลักษณะ เช่น การนำเสนอที่มีลักษณะดุเด็ดเผ็ดร้อน
สนุกสนาน เสมือนการโต้วาที
แม้ว่าคนฟังหลายคนจะชอบใจ
แต่ในเวทีวิชาการกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรเพราะจะทำให้ผู้นำเสนอขาดความน่าเชื่อถือในเชิงวิชาการ
ทำนองเดียวกับการนำเสนอที่ราบเรียบ เนิบนาบ “แบบแกงจืด” ก็ไม่ต่างอะไรกันกับลักษณะแรกเพราะคนฟังจะเกิดความรำคาญ
ง่วงนอน และไม่สนใจที่จะฟัง ดังนั้น การนำเสนอที่ดีควรทำให้ทุกอย่างเกิดความพอดี
หากเปรียบเทียบกับการปรุงอาหารก็คงเป็นรสกลมกล่อม ที่ส่วนผสมทุกอย่างลงตัวพอดี
(หรือ “อูมามิ” ในภาษาญี่ปุ่น) บางคนบอกว่าเป็นรสชาติกลางๆ ที่คนส่วนใหญ่รับประทานได้ จึงจะเกิดประโยชน์และเหมาะสมที่สุด
สุดท้ายนี้ สำหรับผู้เขียนมองว่า การได้เดินทางไปร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในครั้งนี้
เป็นการเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการให้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะนักศึกษา
เพราะภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาบัณฑิต หรือ ดุษฎีบัณฑิต
ล้วนต้องก้าวเข้าสู่เวทีวิชาการอย่างเต็มตัว ซึ่งอาจจะไปในฐานะผู้นำเสนอผลงาน หรือ
ในฐานะผู้วิพากษ์ ดังนั้น ประสบการณ์ตรงจากการเข้าร่วมในเวทีระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้
จึงทำให้นักศึกษารู้จักวางแผนการเดินทางและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนอ ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ยังได้เครือข่ายทางวิชาการกับบรรดาอาจารย์
นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาเอก และนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในอนาคต
แน่นอนว่า ประสบการณ์ดีๆ แบบนี้หาฟังจากที่ไหนก็ไม่เท่าได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตนเอง
ที่สำคัญนักศึกษาแต่ละคนซึ่งมาจากต่างที่ต่างถิ่น
เสมือน “ดิน” ต่างชนิดกัน บ้างก็เป็นดินร่วน ดินเหนียว ดินทราย และดินปนทราย ดินเหล่านี้นอกจากจะมีค่า pH (กรด-ด่าง)ที่ต่างกัน
ยังเหมาะที่จะปลูกพืชต่างชนิดกันด้วย ดังนั้น
จึงเป็นความยากและความท้าทายของอาจารย์ผู้สอนว่าจะปั้น “ดิน” เหล่านี้ให้เป็น ”ดาว”
เจิดจรัสบนเวทีวิชาการในแต่ละศาสตร์ แต่ละสาขาภายใต้บริบทที่ต่างกันได้อย่างไร
กำลังใจ...สู้ภัยน้ำท่วม
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ปกติช่วงเวลานี้
นักเรียนนักศึกษาทุกสถาบันกำลังคร่ำเคร่งกับการศึกษาเล่าเรียน แต่มาบัดนี้
เกิดภาวะไม่ปกติอันเนื่องมาจากมหาอุทกภัยที่หลายจังหวัดต้องเผชิญรวมถึงจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ผู้เขียนกำลังศึกษาก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ส่งผลให้สถาบันการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้เลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งบางแห่งเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาออกไปจนถึงต้นเดือนมกราคมปีหน้า (พ.ศ.2555) บางแห่งก็จัดให้มีการเรียนการสอนชดเชยในวันเสาร์-อาทิตย์
อุทกภัย (น้ำท่วม) ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Flood” เป็นอีกหนึ่งประเภทของ
“ภัยพิบัติ” (Disaster) ซึ่งประกอบด้วย ดิน(ธรณี) น้ำ (อุทก)
ลม(วาต) และไฟ (อัคคี)
มีการวิเคราะห์ว่า บรรดาภัยพิบัติทั้ง 4 ประเภท “อุทกภัย”
มีความรุนแรงน้อยที่สุด (จริงหรือไม่)
จะว่าไปแล้ว “น้ำท่วม” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้บ่อยครั้งกว่าภาคอื่นๆ
เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับทะเลทั้ง 2 ฝั่ง
(อันดามันและอ่าวไทย) จึงมีโอกาสได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม (ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้) ที่พัดผ่านมาเป็นประจำ
ส่วนภัยพิบัติอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย เช่น การเกิดมหาวาตภัย ณ แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2505) และเหตุการณ์แผ่นดินไหว
(TSUNAMI) บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อ พ.ศ. 2547 ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ก็ได้เกิดอุทกภัยและดินถล่มในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยมาแล้ว
เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งครั้งนั้นชาวมรส.ของเราหลายรายก็ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติดังกล่าวด้วย พวกเราจึงรู้ดีว่า “หัวอกของผู้ประสบอุทกภัย”นั้นเป็นอย่างไร
จากเหตุการณ์เช่นนี้คงเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่ดีของสถาบันการศึกษา
ครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา เพราะบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ ไม่มีในตำรา
ไม่เคยมีการนำมาพูดคุย หรือสอนในชั้นเรียนมาก่อน (เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์ตรง)คาดการณ์ว่านับจากนี้ “การจัดการภัยพิบัติ”หรือ “Disaster
Management” จะมีการนำมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในบ้านเราทุกระดับชั้นมากขึ้น
เช่นเดียวกับหลายเหตุการณ์ที่เคยประสบกันมาแล้ว
ก่อนหน้านี้ มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง
เช่น 1)หลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดสอนหลังจากเหตุการณ์ซึนามิทางภาคใต้ของไทย
2) หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3) มูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม 4)ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น
ที่สำคัญไม่ว่าจะกี่ร้อยทฤษฎีของนักวิชาการไทย
(ความรู้ท่วมหัว) ก็ไม่เท่ากับการนำไปใช้ในทางปฏิบัติที่เห็นผลจริงด้วย (ต้องเอาตัวให้รอด)
ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือ การประสานงานที่ดี
และการยอมรับของแต่ละฝ่ายร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่ามหาอุทกภัยในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจที่จะจัดตั้งหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือจัดการภัยพิบัติร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ
ในแต่ละพื้นที่มากขึ้นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น
ที่น่าชื่นใจกว่านั้น คือครั้งเมื่อชาวสุราษฎร์ธานีประสบอุทกภัย เราได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากบรรดาผู้ใจบุญจากทั่วประเทศ
มาบัดนี้ เมื่อพี่น้องทางภาคเหนือและภาคกลางประสบอุทกภัย ชาวมรส.ก็ได้นำทีมเจ้าหน้าที่และตัวแทนนักศึกษาไปช่วยเหลือทั้งเงินบริจาคอาหารและน้ำดื่มราชพฤกษ์ รวมถึงน้ำใจจากอาจารย์พิมพ์แพร พุทธิชีวิน และเพื่อนๆที่ส่งมาไกลจากต่างแดน
(ประเทศอังกฤษ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน
ความช่วยเหลือคนละเล็กคนละน้อยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “เราคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน
จะฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”
นอกจากนี้ ยังมีกำลังใจจากเหล่าศิลปิน
ดารา นักร้องมากมายที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยโดยเฉพาะเพลงท่อนนี้ “ร่างกายอ่อนล้า
แต่ใจกล้าเดิน ฝันไม่ไกลเกิน ขอเพียงก้าวเดินด้วยความศรัทธา เชื่อในศักดิ์ศรี
มั่นในวิถีของคนกล้า วันนี้ข้ามเส้นชัยมา จะขอยิ้มทั้งน้ำตาให้สาใจ” กว่า 2
เดือนมาแล้ว ที่คนไทยได้ฟังเพลงนี้ประกอบการนำเสนอข่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้
และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ออกอากาศทางช่อง 3 จนทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงหัวอกของผู้ประสบอุทกภัยอย่าง
“เข้าถึง” แบบจับจิตจับใจ อย่างที่ภาษาการแสดงเรียกว่า “อิน” (In) ไปกับเนื้อหาสาระที่ปรากฏในข่าว จะต่างกันก็ตรงที่ความรู้สึกที่แสดงออกมากับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นของจริง(ที่ไม่อิงนิยาย)
บทเพลงนี้ มีชื่อว่า “สมศักดิ์ศรีวิถีคนกล้า”
ขับร้องโดย สมศักดิ์ เหมรัญ กีตาร์มือเดียว รองชนะเลิศอันดับ 1 จากรายการ Thailand’s
Got Talent ครั้งที่ 1 ปัจจุบันเขาได้รับโอกาสให้เป็นศิลปินในค่าย
“โชนี่ มิวสิค” แม้ว่าหลายคนจะปรามาสว่าอัลบั้มแรกของชายแขนเดียว
หน้าตาธรรมดา ไม่มีส่วนคล้ายเกาหลีแม้แต่น้อย และมิได้มาจากตระกูลใหญ่โตร่ำรวย (ไฮโซ)
จะไปได้สักกี่น้ำ แต่จนถึงวันนี้ สมศักดิ์
เหมรัญ ก็ได้พิสูจน์ให้คนไทยทั้งประเทศประจักษ์แล้วว่า
ตราบใดที่ยังมีความหวัง ด้วยหนึ่งแขน สองขา และ “หัวใจนักสู้” ของเขา ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วย “กำลังใจ” และ “ความศรัทธา”
สามารถถ่ายทอดออกมาให้คนฟังมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไปได้
นอกจากนี้
หากย้อนอดีตประมาณ 40 ปีที่แล้ว สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มสาว
มีเพลง“น้ำท่วม” ที่หลายคนยังจำกันได้ มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า
“น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมี แต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา
น้ำตาหลั่งคลอสายชล…” ผลงานเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ เพลงนี้ได้รับความนิยมมากในช่วงปี
พ.ศ.2512-2513 กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคนนำมาร้องให้ได้ยินบ่อยครั้ง
(โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม)
จึงถือได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงอมตะอีกหนึ่งเพลงที่ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงใจของใครหลายคน
(โดยเฉพาะผู้ประสบอุทกภัย) ซึ่งสาเหตุที่ศรคีรีร้องเพลงนี้ได้ไพเราะจับใจคนฟัง เนื่องจากบ้านของเขาที่ประจวบคีรีขันธ์ก็ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน
จากที่กล่าวมา
จะเห็นได้ว่า บทเพลง บทกลอน ถ้อยคำ และข้อความดีๆ ที่เราส่งไปให้ผู้ประสบภัยในขณะที่พวกเขากำลังเดือดร้อน
สามารถเยียวยาจิตใจได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม
โดยเฉพาะบทเพลงซึ่งมีทั้งท่วงทำนอง เนื้อร้อง
อารมณ์และความรู้สึกของศิลปินสอดแทรกไปด้วยนั้น มีอิทธิพลมากต่อคนฟังเพราะคนปกติทั่วไปชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว
ดังพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 (จากต้นฉบับของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์) ที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์…”
จากเนื้อเพลง “น้ำท่วม” กอรปกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ คงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า
“น้ำท่วม” สาหัสกว่า “ฝนแล้ง” เพราะก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย
เช่น ชีวิตของผู้คนและสัตว์ รวมถึงทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้
บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะกิจการที่ลงทุนไปได้รับความเสียหาย (ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน) บางคนเกิดความเครียด และคิดฆ่าตัวตาย นอกจากนี้
ยังมี “แก๊งค์แมวน้ำ”หัวขโมยที่ตระเวณขนทรัพย์สินของผู้ประสบภัย รวมถึงความขัดแย้งของผู้ประสบภัยสองฝั่งถนน (ฝั่งน้ำลดกับฝั่งน้ำล้น)
และความขัดแย้งของผู้ประสบภัยกับเจ้าหน้าที่รัฐ
บางพฤติกรรมทำให้นักวิจารณ์อดไม่ได้ที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ว่าคนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย
มีความอดทน มีน้ำใจให้กัน รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม และเชื่อฟังผู้นำ
รวมๆอาจเรียกว่ามี “สปิริต” (Spirit) ขณะที่ผู้ประสบภัยในบ้านเราจำนวนไม่น้อยแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา ประเด็นนี้จึงเป็นงานของผู้นำประเทศ ครูอาจารย์
ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องของไทย
ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างและปลูกฝังนิสัยใจคอและพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ให้บังเกิดแก่เยาวชนไทยในวันข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติลักษณะนี้คงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู
(ซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน) ตลอดจนให้การเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ประสบภัย นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในระยะสั้นอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า
6 เดือน จึงจะดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วเสร็จ หลังจากนั้น
ก็จะต้องมีแผนปฏิบัติการที่จะมารองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น
เหตุการณ์ “มหาอุทกภัย”
ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทุกฝ่ายจะต้องนำมาวางแผน คิดวิเคราะห์ เพื่อหาทางรับมือและแนวทางจัดการปัญหานี้ในระยะยาว รวมถึงการดำรงตนด้วยความ“ไม่ประมาท” ตามปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่สำคัญ
ไม่ว่าวันที่ 21 เดือน 12 ปี ค.ศ.2012 โลกจะแตกตามคำทำนายหรือไม่
เราก็ควรทำวันนี้และวันพรุ่งนี้ให้ดีที่สุด เพราะนับจากนี้ภัยพิบัติอาจมาเยือนเราได้หลากหลายรูปแบบและบ่อยครั้งขึ้น
แต่จะเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร ไม่มีใครล่วงรู้ได้ จนกว่ามันจะมาเยือนเรา…และชาวโลกอีกครั้ง
วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556
ทุนโครงการแลกเปลี่ยนนศ.ไทย-อาเซียน ปีงบประมาณ 2557 (ไม่เกิน 4 เดือน) หมดเขต 28 มีนาคม 2557
ทุนโครงการแลกเปลี่ยนนศ.อาเซียน ปีงบ 2557 (หมดเขต 28 มีนาคม 2557)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
-สมัครได้ทั้ง ป.ตรี และ บัณฑิตศึกษา
-สำหรับป.ตรีต้องลงทะเบียนเรียน และเทียบโอนหน่วยกิตกลับมายังต้นสังกัดด้วย
-กรณีระดับบัณฑิตศึกษาต้องผ่านการสอบโครงร่าง (Proposal Examination) และได้รับการอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์จากบัณฑิตฯ แล้ว
-มีผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL, IELTS, CU-TEP, TU-GET
-ใบรับรองสุขภาพ
-ใบสมัคร (3-4 หน้า) ให้อ.ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ลงนามรับรองหน้าสุดท้าย
-รายงานผลการศึกษาล่าสุด (Grade Report)
-ระยะเวลาที่สมัครไปทำดุษฎีนิพนธ์ที่นั่น (ทำเรื่องของเราเอง ไม่ต้องทำเรื่องอื่น) ระหว่าง 1-4 เดือน
-ต้องได้ Offer Letter จาก U.ต่างประเทศที่จะไป เพื่อนำมาแนบในใบสมัคร (หนังสือแบบทางการ)
การโต้ตอบทาง email ใช้ไม่ได้ (ถ้าใครมี Connection อยู่แล้วสบายมากค่ะ จะได้เร็ว)
-ทุนนี้ครอบคลุมเกือบทุกอย่าง ยกเว้น ค่าลงทะเบียน / ค่าธรรมเนียม (ถ้าเราจะไปก็ควรติดต่อให้ U.ต่างประเทศเขายกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ มีบาง U. OK เพราะมองเป็นอาเซียน แต่อีกหลาย U. ยังมองเป็นธุรกิจ เรายังต้องจ่ายค่ะ)
-สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สกอ.ระบุไว้ คือ 800 USD ยกเว้นสิงคโปร์ 1,600 USD
-มีหนังสือนำจากคณะฯ ผ่านไปยังมหาวิทยาลัย เพื่อคัดเลือกรายชื่อจากคณะต่างๆ ปีงบประมาณ 2557 กำหนดให้เสนอชื่อนักศึกษา 5 คนต่อสถาบัน (ปีก่อนๆ 10คน/สถาบัน)
-ผู้สมัครจะต้องส่งเอกสารไปให้งานวิเทศฯของคณะฯ และส่งผ่านไปยังวิเทศฯกลาง เสนอให้อธิการบดี หรือ ผู้มีอำนาจลงนามทำหนังสือเสนอไปยังสกอ.
-ทุนโดยรวมแล้วจะได้ประมาณ 150,000 บาท/คน สกอ.จะโอนให้ทางต้นสังกัดเป็นเงินก้อนเดียวและให้ไปจัดสรรตามจำนวนที่ระบุในเอกสาร ซึ่งทางสกอ.จะคำนวณค่าใช้จ่ายเผื่อไปให้แล้วค่ะ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจมีเงินเหลือก็ทำเรื่องคืนเงินให้สกอ.ผ่านทางต้นสังกัด
-ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมโครงการ นักศึกษาจะต้องเคลียร์ค่าใช้จ่ายพร้อมหลักฐานการใช้จ่ายเงิน (ใบเสร็จต่างๆ) กับต้นสังกัดภายใน 15 วันตามแบบฟอร์มของ สกอ. ตามด้วยรายงานการเข้าร่วมโครงการฯ ตามแบบฟอร์มเสนอไปยังสกอ.ภายใน 30 วัน
ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดเข้าไปดูที่ http://www.inter.mua.go.th/main2/article.php?id=404
วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556
วิกฤติพลังงาน...วิกฤติชาติ
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
หมายเหตุ : โครงการสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม "กังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"
ตั้งอยู่ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ฟังข่าวเกี่ยวกับการขาดแคลน "พลังงาน" ช่วงหน้าร้อนว่าเราต้องพึ่งพาพม่าอย่างมาก อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคตหากเรามีกรณีพิพาทกับพ ม่าแล้วเขาใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์บ างอย่างเราจะอาจจะเสียเปรียบได้ เพราะในอดีตไทยกับพม่ามีการทำสง ครามกันบ่อยครั้ง แม้จะนานมาแล้วหลายร้อยปี แต่รอยร้าวนี้ยังคงมีอยู่ในใจขอ งคนทั้งสองประเทศ ซึ่งพบว่ากรณีพิพาทเรื่อง "ดินแดน" กำลังจะวนกลับมาอีกครั้ง อาทิ "จีน VS ญี่ปุ่น" และ "ญี่ปุ่น VS เกาหลี" ที่พิพาทเรื่องเกาะสำคัญซึ่งต่า งฝ่ายก็อ้างสิทธิ์ว่าเป็นของตน รวมถึงกรณีประสาทพระวิหารระหว่า งไทยกับเขมรแม้ช่วงนี้ข่าวคร่าว จะซาๆไปบ้างแต่แผลและรอยร้าวยัง มีอยู่ การพูดคุยเจรจาใดๆก็ยังไม่สนิทใ จ แม้กระทั่งความพยายามของโจรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีแบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างกระแสรายวันแต่จากวันที่เกิดเหตุจนวันนี้เกือบ 10 ปีมาแล้วที่ความสงบยังไม่บังเกิด ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงอยู่กันแบบอกสั่นขวัญหาย บ้างก็ทิ้งบ้านเกิดอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นเลยก็มี...มาถึงตรงนี้ประเมินดูแล้ว ประเทศไทยมีความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศทางเลยทีเดียว...เราจะไปต่อได้อย่างไร การเปิดประตูสู่อาเซียนอย่างเต็มตัวใน ค.ศ.2015 (หลังจากที่อาเซียนเปิดมาแล้ว 45 ปี) จะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์และผสานรอยร้าวต่างๆได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร คงต้องเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรเอาใจใส่เพราะประเทศไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพลเมืองไทย สัญชาติไทยทุกคน
ประเด็นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ"ความมั่นคง" ทั้งเรื่อง "ดินแดน" "พลังงาน" และ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" การหยุดจ่ายพลังงานให้ไทยของพม่ าครั้งนี้บางคนวิเคราะห์ว่าอาจมีอะไรแอบแฝงหรือไม่อย่างไร ต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่แน่นอนก็คือ เกิดผลกระทบต่อกำลังผลิตของโรงง านอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในบ้านเรา จำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการถูกปรับเงิ นหากไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดเว ลาที่ได้ทำสัญญากับบริษัทคู่ค้า ได้...สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อ ๆกันเป็นลูกโซ่เพราะฉะนันการตัด สินใจทำอะไรของผู้มีอำนาจในการต ัดสินใจควรพิจารณาให้รอบคอบ มองรอบด้าน และคิดแบบซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญควรคิดและตัดสินใจบนฐาน ของผลประโยชน์ประเทศและส่วนรวมเ ป็นสำคัญ...
หากโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากๆ อนาคตบริษัทแม่อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า กอรปกับมาตรการป้องกันเรื่องอุทกภัยที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่สะสมมากเข้าก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันข้างหน้าซึ่งควรเตรียมรับมือให้ดี นอกจากนี้ ถ้าไฟดับเป็นเวลานานๆติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจเป็นช่องทางของผู้ก่อการร้ายในการปฏิบัติการอะไรบางอย่างได้สะดวกขึ้น เช่น การก่อวินาศกรรมสถานที่สำคัญ เป็นต้น
แนวทางแก้ไข ณ ตอนนี้ คือ ตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังจะตามมาและเร่งหามาตรการ "พลังงานสำรอง" และ "พลังงานทดแทน" โดยเร็วเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว สิ่งเหล่านี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียอีก...
วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556
Japan...ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย 4
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ต่อจากตอนที่แล้ว…เรื่องเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
เมื่อถึงวันที่จะต้องเดินทางกลับ คนที่พักอาศัยในโรงแรม (ชินจูกุ วอชิงตัน โฮเตล)
จะต้องทำการคืนห้องพัก (Checkout)
ซึ่งที่นี่มีความพิเศษตรงที่ผู้พักสามารถคืนคีย์การ์ด
(บัตรซึ่งเป็นทั้งกุญแจห้องและสำหรับใช้เสียบเพื่อให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในห้องทำงาน) ได้ในตู้คืนบัตรซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้เอทีเอ็ม
(ATM : Automatic Teller Machine)
ที่สำคัญ
สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่าง คือ ญี่ปุ่นมีฐานคิดที่ว่า “เทคโนโลยี” กับ “สิ่งแวดล้อม” จะต้องไปด้วยกัน เป็นมิตรต่อกัน อย่างที่เล่าไปแล้วเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานของคนญี่ปุ่น
อาทิ การดื่มน้ำขวดเล็กแทนขวดใหญ่ นอกจากนี้ มัคคุเทศก์ยังบอกกับคณะศึกษาดูงานว่าสถานที่ราชการและองค์กรต่างๆของญี่ปุ่นจะตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไว้ที่
๒๘-๓๐ องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ๓๐ องศาเซลเซียส
เพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งจากการได้ไปเยือนสถานที่ศึกษาดูงานทั้ง ๓ แห่ง (JICA
/ MEXT/ GRIPS) ทำให้คณะศึกษาดูงานคณะนี้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
วิทยากรชาวญี่ปุ่นในหลายที่สังเกตเห็นพวกเรานั่งฟังไปเหงื่อตกกันไป
เลยเชื้อเชิญให้ทำตัวตามสบายและถอดสูทได้ไม่ว่ากันเพราะวิทยากรก็ไม่ได้ใส่สูทมาเช่นกัน
มาถึงเรื่องราวของการศึกษาดูงาน
ณ หน่วยงานราชการและองค์กรที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ ช่วงเช้าคณะศึกษาดูงานได้เดินทางไปที่ JICA (The Japan International Cooperation Agency) โดยมี Mr. Umemiya Naoki, Ph.D. Deputy Director มาต้อนรับและบรรยายพิเศษแก่คณะศึกษาดูงาน
ส่วนช่วงบ่ายเดินทางไปศึกษาดูงานที่ MEXT (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology) ที่นี่มี Dr. Osamu
Aruga และ Kuniaki
Sato ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลแก่คณะศึกษาดูงาน ส่วนวันสุดท้าย วันที่ ๑๙ กันยายน
๒๕๕๕ ช่วงเช้า พวกเราเดินทางไปศึกษาดูงานที่ GRIPS (National Graduate Institute for Policy Studies)
โดยมี Prof.Masahiro Horie, Vice
President (รองอธิการบดี)
มาต้อนรับและให้ข้อมูลกับเรา การมาศึกษาดูงานครั้งนี้ได้ข้อมูลและความรู้เชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับคณะศึกษาดูงานเป็นอย่างมาก
รวมถึงได้เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษกลับมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเนื้อหาสาระที่ได้จากการไปศึกษาดูงานแต่ละแห่งมีมากมาย
ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอกรวบรวมคร่าวๆ มีประมาณ ๑๕๐ หน้า ซึ่งจะได้จัดทำเป็นรายงานสรุปการศึกษาดูงานแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้เขียนจึงขอเล่าเฉพาะบางส่วนเท่าที่เวลาและพื้นที่ของบทความจะอำนวย
อาทิ การเข้าไปติดต่อสถานที่ราชการ หรือ หน่วยงานต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น
ผู้ที่มาติดต่อจะต้องรออยู่ด้านล่าง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่
หรือไม่ก็พนักงานรักษาความปลอดภัยคุ้มกันอย่างแน่นหนา มิให้คนภายนอกเข้า-ออกอาคารได้ตามใจชอบ ต้องรอจนกว่าคนที่เราติดต่อจะลงมาต้อนรับ นอกจากนี้
มัคคุเทศก์ยังเล่าว่าญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการถามคำถามเชิงวิชาการว่า
ผู้ถามจะต้องถามแบบอ้อมๆ โดยการเกริ่นนำบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องมาก่อน ตอนท้ายจึงจะเข้าสู่ประเด็นคำถามที่ต้องการจะถาม
เพราะการถามแบบตรงๆจะถือเป็นการเสียมารยาทมากๆ ซึ่งในเวทีวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสเข้าร่วมก็พบว่ามีลักษณะสอดคล้องกัน
ทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่ตอนที่
๑- ๔ คือ ภาพรวมของประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสมาโดยตรงจากการไปย่ำแดนอาทิตย์อุทัยภายในเวลา
๓ วันเท่านั้น หากมีโอกาสได้ไปเยือนที่นั่นอีกครั้งคงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังมากกว่านี้
หรือ หากชาวมรส.ท่านใดที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นบ้างแล้วอยากจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับนอกเหนือจากที่ผู้เขียนได้เล่ามาก็จะเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในโอกาสต่อไป
หลังจากนี้
ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอก ยังมีงานชิ้นใหญ่ (Master
Piece / Magnum Opus) ที่จะต้องสะสางอีก อาทิ
การนำเสนองานวิจัย ๒ ชิ้น ในรายวิชาการศึกษาอิสระสำหรับนักนโยบาย (สมนก ๕๗๑)
สอนโดย อาจารย์ ดร.โชคชัย สุธาเวศ และรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ
(สมนก ๕๖๖) สอนโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รวมถึงการสอบปลายภาคแบบทำที่บ้าน
(Take home) ในรายวิชาประเด็นนโยบายสาธารณะเชิงวิพากษ์ (สมนก
๕๖๕) สอนโดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ ชุณหคล้าย
และ อ.ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ แต่ที่ผู้เขียนและเพื่อนๆนักศึกษาปริญญาเอกคนอื่นๆหนักใจมากที่สุดคือ การสอบประมวลความรอบรู้ หรือ “QE” (Qualifying
Examination) ซึ่งจะมีการสอบในวันที่ ๓๐-๓๑
ตุลาคม ๒๕๕๕ นี้ ตามมาด้วยการสอบปากเปล่า
(Oral Examination) ทั้งภาคทฤษฎีและสอบเนื้อหาสาระที่นำเสนอในโครงร่างดุษฎีนิพนธ์
(Dissertation Proposal)
ทั้งนี้ ภายหลังกลับจากศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น
ผู้เขียนลองประมวลการเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าตลอดเวลา ๓ ภาคการศึกษา (ปีการศึกษา
๒๕๕๔-๒๕๕๕) ผู้เขียนและนักศึกษาปริญญาเอกที่นี่ได้เข้าร่วมกิจกรรมไปแล้วกว่า
๒๕ กิจกรรมด้วยกัน ซึ่งแต่ละกิจกรรมล้วนออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้
และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาของหลักสูตรฯ นี้ได้เป็นอย่างดี
มาถึงตรงนี้
ก็ถึงเวลาที่จะต้องอำลา ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา
ยิ่งเป็นเดือนกันยายนด้วยแล้ว ทำให้ผู้เขียนอดใจหายไม่ได้
เพราะเป็นเดือนแห่งการเกษียณอายุราชการของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพรักคนแล้วคนเล่า
ปีแล้วปีเล่า
การเดินทางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อมีเริ่มต้นก็ย่อมมีสิ้นสุด สำหรับวัฒนธรรมการลาจากกันของคนญี่ปุ่น
ส่วนใหญ่เจ้าบ้าน หรือ คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ (Host) จะเดินมาส่งพร้อมกับโบกไม้โบกมือจนลับตา
ก่อนจะขึ้นรถก็มีการโค้งแล้วโค้งอีกไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้ง ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับพวกเราว่าบางครั้งโค้งกันไปมากระทั่งหัวชนกันจึงได้เวลาแยกย้ายกันไป
เป็นต้น ซึ่งคำพูดที่ได้ยินพร้อมท่าทางการโค้งคำนับอย่างนอบน้อมก็คือ “ありがとう ごさいます/ อาริกาโตะ โกไซมัส” หมายถึง “ขอบคุณ” นั่นเอง
ส่วนคำพูดสำหรับ“การจากลา” คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นกับคำว่า “さようなら/ ซาโยนาระ”
แต่ความจริงแล้วคำนี้ใช้สำหรับการจากลาแบบชาตินี้จะไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก เช่น ลาตาย ลาไปทำศึกสงคราม หรือ
การจากลาของหนุ่มสาวที่ไม่มีวันจะหวนมาคืนดีกัน ดังนั้น
คำพูดที่ใช้สำหรับลาจากกันที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้ คือ คำว่า “またあいましょう = มาตะไอมาโช่ “แล้วพบกันใหม่” “แล้วเจอกันนะ”
จะเป็นการบอกลาที่สุภาพและเป็นในเชิงบวกมากกว่า
ทั้งหมดนี้ คือโปรแกรมการศึกษาดูงานดีๆ ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต
และรายวิชาการศึกษาดูงานด้านนโยบายสาธารณะ สอนโดย รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ จัดให้กับ “ว่าที่ดุษฎีบัณฑิต”
เพื่อเติมเต็มความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ทางวิชาการในต่างแดนให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทางหลักสูตรฯ
ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)