วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ปั้นดิน...ให้เป็นดาว

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ


 
ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ปิดแบบสนิทเสียทีเดียว เพราะตามกำหนดการของภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๔  จะเริ่มปิดภาคการศึกษานี้ ตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ระดับปริญญาตรีจะยึดตามเกณฑ์นี้ แต่สำหรับปริญญาโทและปริญญาเอกจะขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนและภาระงานของนักศึกษาที่ยังคั่งค้างเป็นสำคัญ  อย่างที่เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อนๆว่าการเรียนในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ไม่ธรรมดา เพราะหลังจากที่สอบปลายภาคแล้วเสร็จ (ทั้งแบบสอบในห้องและการนำข้อสอบกลับมาทำที่บ้าน หรือ ที่เรียกกันว่า “Take home”) ผู้เขียนและเพื่อนๆ ก็ยังมีบทความอีก ๓ ชิ้น ประกอบด้วยบทความในรายวิชาการกําหนดนโยบายสาธารณะจากปัญหาเขตเมืองและชุมชน  จำนวน ๒ ชิ้น และบทความในรายวิชานโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อีก ๑ ชิ้น ซึ่งผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอกจะต้องสะสางให้แล้วเสร็จตลอดช่วงเดือนเมษายน เดือนที่ใครๆบ่นนักหนาว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด
ขณะที่เกรดของรายวิชาทั้ง ๒ ภาคการศึกษา (๖ รายวิชา) เพิ่งจะออกมาให้ยลโฉมเพียง ๒ ตัว เท่านั้น เพราะเกรดบางรายวิชาจะขึ้นอยู่กับการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับชาติดังที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว ล่าสุด บทความเรื่อง “ทรัพยากรมนุษย์พันธุ์แท้” ของผู้เขียนได้รับการตอบรับให้ลงตีพิมพ์ในวารสารสงขลานครินทร์ (วารสารระดับชาติ) ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๓ (ก.ค - ก.ย ๒๕๕๕) ซึ่งเกรดในรายวิชาการจัดการทุนมนุษย์ภาครัฐ เมื่อภาคการศึกษาที่ ๑ /๒๕๕๔ ก็คงจะได้ปรากฏในเร็ววันนี้ ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนใช้เวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น ๑๐ เดือนเต็มๆ (ส..๒๕๕๔-..๒๕๕๕) ทราบข่าวนี้แล้ว ทำให้ผู้เขียนหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ซึ่ง รศ.ดร.ศิริพร แย้มนิล ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าว ให้กำลังใจพวกเราว่าการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับชาตินั้น เป็นเรื่องที่ว่ายากแล้ว แต่สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกที่จะต้องทำดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ และเขียนบทความภาษาอังกฤษไปนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติและตีพิมพ์ในวารสารนานาชาตินั้นยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะนักศึกษาบางรายต้องรอการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารเกือบ ๓ ปี ดังนั้น นักศึกษาจะต้องวางแผนและเตรียมการในเรื่องนี้อย่างรอบคอบและเป็นระบบจึงจะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในกำหนดเวลา ๕ ปี
นอกจากนี้ ผู้เขียนและเพื่อนๆ นักศึกษาปริญญาเอก จำนวน ๖ คน และนักศึกษาปริญญาโท ได้มีโอกาสร่วมนำเสนอบทความในการประชุมวิชาการบัณฑิตศึกษาระดับชาติและนานาชาติ เรื่อง การจัดการชุมชนและการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕  สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกนำทีมโดย รศ.ดร.สมบูรณ์      ศิริสรรหิรัญ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ผู้สอนในรายวิชานโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.   วริยา ชินวรรโณ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณาจารย์อีก ๒ คน ได้แก่ อ.ดร.เทพรัตน์ พิมลเสถียร รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ และ ผศ.ดร.กมลพร สอนศรี ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและดูแลคณะนักศึกษาที่ไปนำเสนอผลงานในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไกล (กรุงเทพฯ-มหาสารคาม กว่า ๔๗๕ กิโลเมตร) การเดินทางสามารถไปได้ ๔ วิธีการ คือ โดยสารเครื่องบิน (๑ ชั่วโมง) รถไฟ (๙-๑๐ ชั่วโมง)  รถทัวร์ และรถยนต์ส่วนตัว (๗-๘ ชั่วโมง) ถ้าโดยสารเครื่องบินและรถไฟจะต้องไปลงที่ขอนแก่น จากนั้นค่อยต่อรถไปมหาสารคามอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ส่วนที่พักทางคณะผู้จัดงานแนะนำ โรงแรมตักศิลาและโรงแรมในเครือ (นิวพัฒนา และตักศิลาแกรนด์) ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงและคุณภาพได้มาตรฐาน สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดการเดินทาง (ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าลงทะเบียน และค่ารถโดยสารประจำทาง) ประมาณ ๕,๐๐๐ บาท - ๑๐,๐๐๐ บาท/คน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ “มมส.” มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ (ขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี เกือบ 2 เท่า) พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร  ต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม กระทั่งมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างเต็มตัว เมื่อ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๗ นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ ๒๒ ของประเทศไทย เปิดสอนระดับประถมและมัธยมศึกษาใน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ปีการศึกษา 2540) และยังได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไปยังวิทยาเขตนครพนมและศูนย์พัฒนาการศึกษาอุดรธานี โดยใช้การเรียนการสอนระบบทางไกลผ่านดาวเทียม  ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีสถานที่ตั้งอยู่ ๒ แห่ง คือ ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม (ม.เก่า) และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย (ม.ใหม่)  ซึ่งวิทยาลัยการเมืองการปกครองสถานที่จัดการประชุมตั้งอยู่บริเวณ ม.ใหม่ การเดินทางจากที่พัก (โรงแรมตักศิลาและโรงแรมในเครือ)ไปยังสถานที่จัดการประชุมประมาณ ๑๐ กิโลเมตร  ที่สำคัญมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีจุดเด่น  คือ  การได้รับการจัดอันดับให้เป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” อันดับที่ ๔ ของประเทศ และอันดับที่ ๑๒๖ ของโลก (จาก UI GreenMetric World University Ranking ๒๐๑๑)  สำหรับการจัดการเรียนการสอนในภาพรวมได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ ๗๒๗ ของโลก และลำดับที่ ๒๑ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (จาก www.webometrics.info) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติ และความร่มรื่นภายในบริเวณมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลก็เช่นกัน ทั้งนี้ คำที่บ่งบอกถึงความเป็นธรรมชาติและความร่มรื่นที่มักได้ยินมี ๒ คำ คือ คำว่า”Green” เช่น มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และคำว่า “eco” อย่างที่โฆษณารถยนต์และที่พักต่างๆ นิยมใช้คำว่า “eco-car” และ “eco-hotel” ซึ่ง “eco” ตัวนี้มาจากคำว่า “ecology” (นิเวศวิทยา / ระบบนิเวศน์) แต่หลายคนเข้าใจผิดว่าหมายถึงความประหยัด “economy ดังนั้น องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัย/สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกจึงได้กำหนดให้ความเป็นธรรมชาติและความร่มรื่นเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญของการจัดอันดับด้วย
การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๕๐๐ คน และทีมงาน (staffs) กว่า ๑๐๐ คน ประจำตามจุดต่างๆ สำหรับบทความของผู้นำเสนอจะได้รับการตีพิมพ์ทั้งบทคัดย่อ (Abstract) และบทความฉบับเต็ม (Proceeding) ในเอกสารแจกตามสูจิบัตรกว่า ๔๐ หน้า ซึ่งแสดงรายละเอียดต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ระบุสถาบันการศึกษาที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานทั้งสิ้น  ๑๑ สถาบัน  ได้แก่ ๑) คณะกรรมการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ๒) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๓) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๔) สถานกงสุลเวียดนาม ขอนแก่น  ๕) สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย ๖) University of the Philippines, Philippines ๗) National College of Public Administration and Governance University of the Philippines, Philippines ๘) Universiti Kebangsaan, Malaysia  ๙) Universitas Brawijaya, Indonesia ๑๐) Faculty of Law and Political Science, National University of Laos  และ ๑๑) Western University, Cambodia  ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมนอกจากจะเป็น อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาเอก และนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันเหล่านี้แล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศหลายสถาบันได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วย ผู้นำเสนอแบบปากเปล่า (oral presentation) ประมาณ ๘๐ คน และผู้นำเสนอแบบโปสเตอร์ จำนวน ๑๖ คน
ตามกำหนดการ ช่วงเช้าเป็นพิธีเปิด โดย รศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ในฐานะประธานจัดการประชุมฯ  กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีและผู้เข้าร่วมประชุมฯ  ตามด้วยการกล่าวเปิดของประธานในพิธีโดย ผศ.ดร. ศุภชัย  สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คนปัจจุบัน) จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษ (ภาษาอังกฤษ) โดย คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์  นายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย หัวข้อ “Community and Environmental Management for Sustainable Development in ASEAN”  ตามด้วยปาฐกถาพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนในหัวข้อที่แตกต่างกันโดยแยกบรรยายเป็นกลุ่มตามห้องต่างๆ ประมาณ 3-4  ห้อง ได้แก่ ศ.ดร.เกษม จันทรแก้ว อ.พราวพรรณราย มัลลิกะมาลย์  .ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี  รศ.ดร.โกวิทย์ กังสนันท์  คุณอำนวย ปะติเส  อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคุณปกรณ์ สัตยวณิช ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดํา (กปร.)
ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอแบบปากเปล่า (ทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ของผู้นำเสนอทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒๒ กลุ่ม แยกนำเสนอตามห้องต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งแต่ละห้องจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ (ห้องละ 3-4 คน) คอยซักถามและให้คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับการนำเสนอของผู้เขียนและเพื่อนนักศึกษาปริญญาเอก ถูกจัดให้นำเสนอ ณ ห้อง D-๒๐๒  และ D-๒๐๖ ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ระหว่าง ๑๔.๔๕-๑๖.๓๐ น. ซึ่งผู้เขียน เพื่อนนักศึกษาปริญญาเอก ๒ คน และนักศึกษาปริญญาโท ๑ คน นำเสนอ ณ ห้อง D-๒๐๒  โดยมี อ.ดร.เทพรัตน์ พิมลเสถียร ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ประสานงาน/อำนวยความสะดวกในการนำเสนอ (facilitator) และผู้วิพากษ์ (commentator) ของคณะนักศึกษาในห้องนี้ ขณะที่ห้อง D-๒๐๖ มี รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ เป็นผู้ทำหน้าที่นี้
เกณฑ์การนำเสนอ ณ ห้อง D-๒๐๒  คือ ๘ : : ๕ กล่าวคือ นำเสนอ ๘ นาที  ซักถาม ๒ นาที และ ตอบข้อซักถาม ๕ นาที ซึ่งตามกำหนดการผู้เขียนนำเสนอเป็นคนแรกในการนำเสนอแบบปากเปล่า (ภาษาไทย) เริ่มเวลา ๑๔.๔๕ น. ในหัวข้อ “e-Education : มิติใหม่ของการศึกษาในโลกไร้พรมแดน” ซึ่งความจริงแล้ว ผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานว่าให้เวลาการนำเสนอคนละประมาณ ๑๕ นาที รวมคำถามและการตอบข้อซักถามไม่เกินคนละ ๒๐ นาที ดังนั้น สำหรับการนำเสนอในห้อง D-๒๐๒ ผู้นำเสนอจึงต้องปรับลดเวลาการนำเสนอเสียใหม่ให้เหลือเพียงคนละไม่เกิน ๘ นาที ประเด็นนี้ จึงเป็นทั้งความท้าทาย ความตื่นเต้น และความกดดันเรื่องเวลา (Time Constraint) ของผู้นำเสนอในห้องนี้เป็นอย่างมาก  

จากการสังเกตและประสบการณ์การนำเสนอผลงานวิชาการในเวทีต่างๆของผู้เขียนพบว่า การนำเสนอมีหลายลักษณะ เช่น การนำเสนอที่มีลักษณะดุเด็ดเผ็ดร้อน สนุกสนาน เสมือนการโต้วาที  แม้ว่าคนฟังหลายคนจะชอบใจ แต่ในเวทีวิชาการกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรเพราะจะทำให้ผู้นำเสนอขาดความน่าเชื่อถือในเชิงวิชาการ ทำนองเดียวกับการนำเสนอที่ราบเรียบ เนิบนาบ “แบบแกงจืด” ก็ไม่ต่างอะไรกันกับลักษณะแรกเพราะคนฟังจะเกิดความรำคาญ ง่วงนอน และไม่สนใจที่จะฟัง ดังนั้น การนำเสนอที่ดีควรทำให้ทุกอย่างเกิดความพอดี หากเปรียบเทียบกับการปรุงอาหารก็คงเป็นรสกลมกล่อม ที่ส่วนผสมทุกอย่างลงตัวพอดี (หรือ “อูมามิ” ในภาษาญี่ปุ่น) บางคนบอกว่าเป็นรสชาติกลางๆ ที่คนส่วนใหญ่รับประทานได้  จึงจะเกิดประโยชน์และเหมาะสมที่สุด

สุดท้ายนี้  สำหรับผู้เขียนมองว่า การได้เดินทางไปร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในครั้งนี้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการให้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะนักศึกษา เพราะภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาบัณฑิต หรือ ดุษฎีบัณฑิต ล้วนต้องก้าวเข้าสู่เวทีวิชาการอย่างเต็มตัว ซึ่งอาจจะไปในฐานะผู้นำเสนอผลงาน หรือ ในฐานะผู้วิพากษ์ ดังนั้น ประสบการณ์ตรงจากการเข้าร่วมในเวทีระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ จึงทำให้นักศึกษารู้จักวางแผนการเดินทางและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนอ  ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ยังได้เครือข่ายทางวิชาการกับบรรดาอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาเอก และนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันในอนาคต  แน่นอนว่า ประสบการณ์ดีๆ แบบนี้หาฟังจากที่ไหนก็ไม่เท่าได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตนเอง  ที่สำคัญนักศึกษาแต่ละคนซึ่งมาจากต่างที่ต่างถิ่น เสมือน “ดิน” ต่างชนิดกัน บ้างก็เป็นดินร่วน  ดินเหนียว ดินทราย และดินปนทราย  ดินเหล่านี้นอกจากจะมีค่า pH (กรด-ด่าง)ที่ต่างกัน ยังเหมาะที่จะปลูกพืชต่างชนิดกันด้วย  ดังนั้น จึงเป็นความยากและความท้าทายของอาจารย์ผู้สอนว่าจะปั้น “ดิน” เหล่านี้ให้เป็น ”ดาว” เจิดจรัสบนเวทีวิชาการในแต่ละศาสตร์ แต่ละสาขาภายใต้บริบทที่ต่างกันได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น