ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ปกติช่วงเวลานี้
นักเรียนนักศึกษาทุกสถาบันกำลังคร่ำเคร่งกับการศึกษาเล่าเรียน แต่มาบัดนี้
เกิดภาวะไม่ปกติอันเนื่องมาจากมหาอุทกภัยที่หลายจังหวัดต้องเผชิญรวมถึงจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ผู้เขียนกำลังศึกษาก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ส่งผลให้สถาบันการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้เลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งบางแห่งเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาออกไปจนถึงต้นเดือนมกราคมปีหน้า (พ.ศ.2555) บางแห่งก็จัดให้มีการเรียนการสอนชดเชยในวันเสาร์-อาทิตย์
อุทกภัย (น้ำท่วม) ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Flood” เป็นอีกหนึ่งประเภทของ
“ภัยพิบัติ” (Disaster) ซึ่งประกอบด้วย ดิน(ธรณี) น้ำ (อุทก)
ลม(วาต) และไฟ (อัคคี)
มีการวิเคราะห์ว่า บรรดาภัยพิบัติทั้ง 4 ประเภท “อุทกภัย”
มีความรุนแรงน้อยที่สุด (จริงหรือไม่)
จะว่าไปแล้ว “น้ำท่วม” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้บ่อยครั้งกว่าภาคอื่นๆ
เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับทะเลทั้ง 2 ฝั่ง
(อันดามันและอ่าวไทย) จึงมีโอกาสได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม (ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้) ที่พัดผ่านมาเป็นประจำ
ส่วนภัยพิบัติอื่นๆที่เคยเกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย เช่น การเกิดมหาวาตภัย ณ แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2505) และเหตุการณ์แผ่นดินไหว
(TSUNAMI) บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อ พ.ศ. 2547 ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ก็ได้เกิดอุทกภัยและดินถล่มในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยมาแล้ว
เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งครั้งนั้นชาวมรส.ของเราหลายรายก็ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติดังกล่าวด้วย พวกเราจึงรู้ดีว่า “หัวอกของผู้ประสบอุทกภัย”นั้นเป็นอย่างไร
จากเหตุการณ์เช่นนี้คงเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่ดีของสถาบันการศึกษา
ครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา เพราะบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ ไม่มีในตำรา
ไม่เคยมีการนำมาพูดคุย หรือสอนในชั้นเรียนมาก่อน (เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากประสบการณ์ตรง)คาดการณ์ว่านับจากนี้ “การจัดการภัยพิบัติ”หรือ “Disaster
Management” จะมีการนำมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในบ้านเราทุกระดับชั้นมากขึ้น
เช่นเดียวกับหลายเหตุการณ์ที่เคยประสบกันมาแล้ว
ก่อนหน้านี้ มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง
เช่น 1)หลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดสอนหลังจากเหตุการณ์ซึนามิทางภาคใต้ของไทย
2) หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3) มูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม 4)ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น
ที่สำคัญไม่ว่าจะกี่ร้อยทฤษฎีของนักวิชาการไทย
(ความรู้ท่วมหัว) ก็ไม่เท่ากับการนำไปใช้ในทางปฏิบัติที่เห็นผลจริงด้วย (ต้องเอาตัวให้รอด)
ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือ การประสานงานที่ดี
และการยอมรับของแต่ละฝ่ายร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่ามหาอุทกภัยในครั้งนี้จะทำให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจที่จะจัดตั้งหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือจัดการภัยพิบัติร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ
ในแต่ละพื้นที่มากขึ้นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น
ที่น่าชื่นใจกว่านั้น คือครั้งเมื่อชาวสุราษฎร์ธานีประสบอุทกภัย เราได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือจากบรรดาผู้ใจบุญจากทั่วประเทศ
มาบัดนี้ เมื่อพี่น้องทางภาคเหนือและภาคกลางประสบอุทกภัย ชาวมรส.ก็ได้นำทีมเจ้าหน้าที่และตัวแทนนักศึกษาไปช่วยเหลือทั้งเงินบริจาคอาหารและน้ำดื่มราชพฤกษ์ รวมถึงน้ำใจจากอาจารย์พิมพ์แพร พุทธิชีวิน และเพื่อนๆที่ส่งมาไกลจากต่างแดน
(ประเทศอังกฤษ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน
ความช่วยเหลือคนละเล็กคนละน้อยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “เราคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน
จะฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”
นอกจากนี้ ยังมีกำลังใจจากเหล่าศิลปิน
ดารา นักร้องมากมายที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยโดยเฉพาะเพลงท่อนนี้ “ร่างกายอ่อนล้า
แต่ใจกล้าเดิน ฝันไม่ไกลเกิน ขอเพียงก้าวเดินด้วยความศรัทธา เชื่อในศักดิ์ศรี
มั่นในวิถีของคนกล้า วันนี้ข้ามเส้นชัยมา จะขอยิ้มทั้งน้ำตาให้สาใจ” กว่า 2
เดือนมาแล้ว ที่คนไทยได้ฟังเพลงนี้ประกอบการนำเสนอข่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้
และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ออกอากาศทางช่อง 3 จนทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงหัวอกของผู้ประสบอุทกภัยอย่าง
“เข้าถึง” แบบจับจิตจับใจ อย่างที่ภาษาการแสดงเรียกว่า “อิน” (In) ไปกับเนื้อหาสาระที่ปรากฏในข่าว จะต่างกันก็ตรงที่ความรู้สึกที่แสดงออกมากับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นของจริง(ที่ไม่อิงนิยาย)
บทเพลงนี้ มีชื่อว่า “สมศักดิ์ศรีวิถีคนกล้า”
ขับร้องโดย สมศักดิ์ เหมรัญ กีตาร์มือเดียว รองชนะเลิศอันดับ 1 จากรายการ Thailand’s
Got Talent ครั้งที่ 1 ปัจจุบันเขาได้รับโอกาสให้เป็นศิลปินในค่าย
“โชนี่ มิวสิค” แม้ว่าหลายคนจะปรามาสว่าอัลบั้มแรกของชายแขนเดียว
หน้าตาธรรมดา ไม่มีส่วนคล้ายเกาหลีแม้แต่น้อย และมิได้มาจากตระกูลใหญ่โตร่ำรวย (ไฮโซ)
จะไปได้สักกี่น้ำ แต่จนถึงวันนี้ สมศักดิ์
เหมรัญ ก็ได้พิสูจน์ให้คนไทยทั้งประเทศประจักษ์แล้วว่า
ตราบใดที่ยังมีความหวัง ด้วยหนึ่งแขน สองขา และ “หัวใจนักสู้” ของเขา ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วย “กำลังใจ” และ “ความศรัทธา”
สามารถถ่ายทอดออกมาให้คนฟังมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไปได้
นอกจากนี้
หากย้อนอดีตประมาณ 40 ปีที่แล้ว สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ยังหนุ่มสาว
มีเพลง“น้ำท่วม” ที่หลายคนยังจำกันได้ มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า
“น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมี แต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา
น้ำตาหลั่งคลอสายชล…” ผลงานเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ เพลงนี้ได้รับความนิยมมากในช่วงปี
พ.ศ.2512-2513 กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคนนำมาร้องให้ได้ยินบ่อยครั้ง
(โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม)
จึงถือได้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงอมตะอีกหนึ่งเพลงที่ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงใจของใครหลายคน
(โดยเฉพาะผู้ประสบอุทกภัย) ซึ่งสาเหตุที่ศรคีรีร้องเพลงนี้ได้ไพเราะจับใจคนฟัง เนื่องจากบ้านของเขาที่ประจวบคีรีขันธ์ก็ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน
จากที่กล่าวมา
จะเห็นได้ว่า บทเพลง บทกลอน ถ้อยคำ และข้อความดีๆ ที่เราส่งไปให้ผู้ประสบภัยในขณะที่พวกเขากำลังเดือดร้อน
สามารถเยียวยาจิตใจได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม
โดยเฉพาะบทเพลงซึ่งมีทั้งท่วงทำนอง เนื้อร้อง
อารมณ์และความรู้สึกของศิลปินสอดแทรกไปด้วยนั้น มีอิทธิพลมากต่อคนฟังเพราะคนปกติทั่วไปชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว
ดังพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 (จากต้นฉบับของ วิลเลี่ยม เช็กสเปียร์) ที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์…”
จากเนื้อเพลง “น้ำท่วม” กอรปกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ คงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า
“น้ำท่วม” สาหัสกว่า “ฝนแล้ง” เพราะก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย
เช่น ชีวิตของผู้คนและสัตว์ รวมถึงทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้
บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะกิจการที่ลงทุนไปได้รับความเสียหาย (ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน) บางคนเกิดความเครียด และคิดฆ่าตัวตาย นอกจากนี้
ยังมี “แก๊งค์แมวน้ำ”หัวขโมยที่ตระเวณขนทรัพย์สินของผู้ประสบภัย รวมถึงความขัดแย้งของผู้ประสบภัยสองฝั่งถนน (ฝั่งน้ำลดกับฝั่งน้ำล้น)
และความขัดแย้งของผู้ประสบภัยกับเจ้าหน้าที่รัฐ
บางพฤติกรรมทำให้นักวิจารณ์อดไม่ได้ที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ว่าคนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย
มีความอดทน มีน้ำใจให้กัน รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม และเชื่อฟังผู้นำ
รวมๆอาจเรียกว่ามี “สปิริต” (Spirit) ขณะที่ผู้ประสบภัยในบ้านเราจำนวนไม่น้อยแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา ประเด็นนี้จึงเป็นงานของผู้นำประเทศ ครูอาจารย์
ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องของไทย
ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างและปลูกฝังนิสัยใจคอและพฤติกรรมที่ดีเหล่านี้ให้บังเกิดแก่เยาวชนไทยในวันข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติลักษณะนี้คงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู
(ซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน) ตลอดจนให้การเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ประสบภัย นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในระยะสั้นอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า
6 เดือน จึงจะดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วเสร็จ หลังจากนั้น
ก็จะต้องมีแผนปฏิบัติการที่จะมารองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น
เหตุการณ์ “มหาอุทกภัย”
ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทุกฝ่ายจะต้องนำมาวางแผน คิดวิเคราะห์ เพื่อหาทางรับมือและแนวทางจัดการปัญหานี้ในระยะยาว รวมถึงการดำรงตนด้วยความ“ไม่ประมาท” ตามปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่สำคัญ
ไม่ว่าวันที่ 21 เดือน 12 ปี ค.ศ.2012 โลกจะแตกตามคำทำนายหรือไม่
เราก็ควรทำวันนี้และวันพรุ่งนี้ให้ดีที่สุด เพราะนับจากนี้ภัยพิบัติอาจมาเยือนเราได้หลากหลายรูปแบบและบ่อยครั้งขึ้น
แต่จะเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร ไม่มีใครล่วงรู้ได้ จนกว่ามันจะมาเยือนเรา…และชาวโลกอีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น