ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
หนังสือด้วยรักบันดาล
นิทานสีขาวเป็นอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (เกิดเมื่อ 6 พ.ย.2483 ปัจจุบันอายุ 73ปี) ผู้มากด้วยความรู้ ความสามารถ ก่อนหน้านี้
คนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มักรู้จักท่านในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานโดดเด่น
คือ การออกแบบและควบคุมการร่อนลงของโครงการอวกาศไวกิ้ง 2 ลำ
ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (The
National Aeronautics and Space Administration: NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อได้ทำความรู้จักท่านเพิ่มเติมจากการอ่านประวัติของท่าน
พบว่า ดร.อาจอง ยังมีประสบการณ์และมุมมองด้านอื่นๆที่น่าสนใจและชวนให้ติดตามอีกมากมาย
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
เป็นคนหนึ่งที่เรียนดีมาก ปริญญาตรีเกียรตินิยมและปริญญาโทจาก Cambridge
University ประเทศอังกฤษ
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก 2012/2013 โดย QS World University Rankings ปัจจุบัน Cambridge University
ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของโลก เป็นรองจาก
Massachusetts Institute of Technology
(MIT) ซึ่งครองแชมป์มาหลายสมัย
แม้จะไม่ติดต่อกันก็ตาม) ช่วงหลัง
ดร.อาจอง หันมาเอาดีทางด้านการสอนและการปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับเยาวชนในสถาบันการศึกษา
ซึ่งท่านสำเร็จการศึกษาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน
จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนสัตยาไส
โรงเรียนที่มีปณิธานเพื่อให้เด็กไทยมีความรู้คู่ความสุข ด้วยท่านเล็งเห็นว่า
“ความสุข” สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและโลกมากมาย รวมถึงการเสริมสร้าง
“แรงบันดาลใจ” และ “จินตนาการ” ของเด็กๆอีกด้วย
อย่างที่ใครๆก็ทราบดีว่า “ความสุข” เป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา
แต่การได้มาซึ่งความสุขอย่างแท้จริงนั้น มีที่มาต่างกัน
สำหรับบางคนความสุขอาจจะมาเร็วไปเร็ว นานๆมาสักครั้ง
แต่บางคนความสุขอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกวันจนคนรอบข้างอิจฉาในความสดชื่น
แจ่มใสและเบิกบานของเขาเลยทีเดียว ดังที่นักวิชาการและผู้รู้หลายท่านเคยกล่าวไว้ในผลงานของพวกเขาและยืนยันว่า
“ความสุขอยู่รอบตัวเรา ไม่ได้อยู่ไกลเกินที่จะเอื้อมถึง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดหู
เปิดตา และเปิดใจยอมรับให้มันเข้ามาในชีวิตของเราหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด”
และหนึ่งในวิธีการสร้างความสุขง่ายๆ ที่ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือ
การได้อ่านนิทานดีๆ อย่างเรื่อง “ด้วยรักบันดาล…นิทานสีขาว” อาจนำมาซึ่งความสุขที่ใครหลายคนกำลังรอคอย…
เคล็ดที่ไม่ลับสำหรับนักอ่านมือใหม่
ปกติคนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือมักจะไม่ชอบอ่านคำนำ
และคำนิยม รวมถึงไม่ค่อยได้สนใจประวัติผู้เขียน แต่ความจริงแล้ว
ส่วนประกอบเหล่านี้มีคุณค่ามากเพราะจะทำให้ผู้อ่านได้ทราบที่มาที่ไป
แรงบันดาลใจของผู้เขียนในการทำผลงานชิ้นนั้นๆ ตลอดจนนักอ่าน(กิตติมศักดิ์)ทั้งหลาย
ที่ได้รู้จักและอ่านงานของผู้เขียนว่าพวกเขามีความคิดเห็นและมุมมองต่อหนังสือเล่มนั้นอย่างไร
ประเด็นไหนที่ผู้อ่าน(อย่างเราๆ)ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ที่สำคัญ
หากผู้อ่านได้อ่านองค์ประกอบเหล่านี้จะยิ่งทำให้เข้าใจในงานเขียนชิ้นนั้นได้อย่างซาบซึ้งและดื่มด่ำกับอรรถรสของหนังสือมากขึ้น ทั้งนี้ เคล็ดไม่ลับดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับการอ่านหนังสือวิชาการได้เช่นกัน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
หวังว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้และเล่มต่อๆไป องค์ประกอบส่วนนี้จะไม่ถูกมองข้ามจากผู้อ่านดังเช่นที่ผ่านมา…
หนังสือเล่มนี้ เป็นการคัดมาเฉพาะตอนเด่นๆ
จากหนังสือชุด “ด้วยรักบันดาล…นิทานสีขาว
เล่ม 1-4” แต่ละตอนประกอบด้วยเนื้อหาที่กระชับ ประมาณ 4-6 หน้า พร้อมภาพประกอบสี่สีสวยงาม
และตอนท้ายของทุกเรื่องมีข้อคิดดีๆ จากผู้เล่าเรื่อง( ดร.อาจอง)
ฝากไว้ด้วย สำหรับตอนที่นำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้
คือ “ภูเขาดินปั้น” (หน้า 117-124) เป็นหนึ่งใน 16 ตอน ที่ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวมีความประทับใจและภูมิใจนำเสนอต่อผู้อ่าน
ทั้งนักอ่านมือเก่า และมือใหม่ ที่อยู่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบและติดใจการอ่านนิทานมาตั้งแต่วัยเยาว์
นี่คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังสือประเภท “นิทาน” ใจความของตอนนี้ สรุปได้ว่า…
ณ
เมืองหนึ่ง มีพระราชาที่เฝ้ารอคอยการมาเกิดของรัชทายาททุกขณะ แต่ก็ไม่มีวี่แวว
กระทั่งมีคนเสนอว่าให้ทำตามโบราณราชประเพณี คือ
เผาเด็กชายทั้งเป็นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าเผื่อว่าจะประทานโอรสเพื่อมาเป็นรัชทายาท
ในที่สุดกษัตริย์ก็ตัดสินใจเลือกวิธีนี้ทั้งๆที่ไม่อยากทำ จึงได้ป่าวประกาศไปทั่วเมืองว่าใครมีบุตรชายที่จะมาถวายให้เข้าพิธีนี้จะมอบเงินรางวัลและทรัพย์สินมีค่าเพื่อเป็นการตอบแทนอย่างงาม
ชาวบ้านไม่มีใครส่งลูกไปเพราะต่างก็รักลูกของตน แต่มีครอบครัวหนึ่งที่ยากจนข้นแค้น
มีลูกชาย 3 คน พ่อจึงตัดสินใจว่าจะส่งลูกชายของตนคนใดคนหนึ่งไปให้กษัตริย์เพื่อทำให้ชีวิตตนดีขึ้น
พ่อเลือกที่จะเก็บลูกชายคนโตไว้เพราะสามารถช่วยงานหนักอย่างงานในไร่ในฟาร์มได้แล้ว
ส่วนแม่เลือกที่จะเก็บลูกคนเล็กที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ ดังนั้น
ลูกคนกลางจึงถูกเลือกที่จะนำไปมอบให้กษัตริย์เพื่อทำพิธีดังกล่าว
ขณะรอเวลาเพื่อทำพิธี
ทหารเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็กชายวัย 12 ขวบที่ถูกคุมขังในคุก พวกเขาประหลาดใจที่เด็กชายไม่กลัวที่จะถูกเผาทั้งเป็นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ตรงกันข้ามกลับใจเย็น สุขุม ไม่สะทกสะท้าน ตีโพยตีพาย หรือ ร้องขอชีวิตแต่อย่างใด
ดังนั้น ทหารจึงไปกราบทูลพระราชาถึงความผิดแปลกนี้ พระราชาสงสัยและไม่เชื่อว่าจะมีคนแบบนี้อยู่จริง
จึงไปเยี่ยมเด็กชายในที่คุมขัง เมื่อไปถึงพระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็นเด็กคนนี้บรรจงสร้าง
“ภูเขาดินปั้น” ขึ้นมา 3 กอง
แต่เมื่อพระองค์มายืนตรงหน้าเด็กชายก็พลันทุบภูเขาดินปั้นลูกแรกต่อหน้าพระพักตร์
ทำเอาพระราชาตะลึงเล็กน้อย ตามมาด้วยการทุบทำลายภูเขาดินปั้นลูกที่ 2
พอมาถึงลูกที่ 3 พระองค์จึงถามเด็กชายว่า แล้วลูกนี้เจ้าจะไม่ทุบมันด้วยหรือ
เหตุใดจึงทำลายแค่ 2 ลูกแรก เด็กชายกราบทูลพระราชาอย่างใจเย็นว่า
ภูเขาลูกแรกเสมือนความรักของพ่อแม่ที่แม้จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด
แต่เมื่อพวกเขาตัดสินใจส่งข้ามาให้เผชิญกับความตายก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่เหลือเยื่อใยแห่งความรักและความปรารถนาดีต่อข้าพระองค์อีกต่อไป
ความสัมพันธ์นี้จึงขาดลงนับตั้งแต่วันนั้น
ส่วนภูเขาลูกที่ 2 คือ พระองค์ ผู้เป็นกษัตริย์ แต่ไม่รักและห่วงใยประชาชน
สั่งฆ่าได้แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง
ซึ่งเปรียบเสมือนลูกของพระองค์ ดังนั้น ข้าจึงไม่ศรัทธาในตัวพระองค์อีกต่อไป ข้าจึงตัดสินใจทำลายมันเสีย…
ส่วนภูเขาลูกที่ 3 ข้าจะเก็บมันไว้
เพราะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ข้ายังเหลืออยู่ นั่นก็คือ “ความดีงาม” ที่ข้าได้เพียรพยายามและรักษามันมาตลอด
12 ปี ข้ายังคงศรัทธาในความดีและเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ข้ารอดพ้นจากอันตรายและความตายในครั้งนี้
ข้าจึงไม่ทุบทำลายมันเสีย เมื่อฟังเด็กน้อยพูดจบลง
พระองค์ทรุดเข่าลงนั่งต่อหน้าเด็กชายคนนี้ และบอกกับเด็กชายว่า “…จริงสินะ ข้ามัวนึกถึงแต่ตัวเอง
ข้าไม่น่าทำพิธีนี้ตั้งแต่แรก ข้ากำลังจะฆ่าประชาชนที่เสมือนลูกของข้าด้วยตัวของข้าเอง
เจ้าเป็นเด็กแท้ๆ
กลับคิดได้และมีสติปัญญาอันหลักแหลมเป็นเลิศเหนือกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ข้าเคยพบเห็นมา...เอาล่ะ! ข้าจะไม่จับเจ้าไปบวงสรวงแล้ว…เพราะตอนนี้ข้ามีรัชทายาทแล้ว
ข้าจะรับเจ้าเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งเจ้าเป็นรัชทายาทให้ครองบัลลังก์และดูแลทุกข์สุขของประชาชนต่อไป”
เกือบทุกครั้งที่นิทานทุกเรื่องจบลงผู้ฟังมักได้ยินวรรคทองของผู้เล่าเรื่องที่ว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” ถือเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเล่านิทานที่คุ้นหูคนฟังมาช้านาน
นิทานเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้เล่าเรื่องได้แฝงข้อคิดที่สำคัญกอรปกับข้อคิดที่ได้จากผู้อ่าน
(ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทความนี้) ทำให้ได้ข้อคิด 2 ประการสำคัญ คือ 1) ส่วนใหญ่ผู้เป็นพ่อแม่จะรักลูกคนแรก
และคนสุดท้องมาก ขณะที่ลูกคนกลางมักจะไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่อย่างที่ควรจะเป็น โดยมากลูกคนกลางจะมีนิสัยคล้ายพี่คนโต
คือ เอาการเอางาน มีความเข้มแข็ง และไม่เอาแต่ใจเหมือนลูกคนสุดท้อง
ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่พึ่งพิงของพี่ๆน้องๆและพ่อแม่ได้ เพราะไม่ถูกตามใจจนเสียคน
แต่ลึกๆแล้วเขาก็อาจจะแฝงด้วยความน้อยใจต่อผู้ปกครอง การเลี้ยงดูบุตรหลานจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก
ที่จะทำให้เด็กๆทุกคนได้รับความรักและความเอาใจใส่อย่างเท่าเทียมกัน
ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาสิ่งนี้มากขึ้น 2)
สติและปัญญา บวกกับความดีงามจะสามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากเหตุการณ์คับขันได้
จงเชื่อมั่นและ "ศรัทธาในความดี"
อย่างที่ชาว มรส.
เชื่อมั่นและยึดถือสิ่งนี้มาโดยตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น