บทคัดย่อ
ทุกวันนี้ ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี (IT) มีความสำคัญกับคนทั่วโลกมากขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน การศึกษา และการทำงาน โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งที่ผ่านมาเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาได้ถูกนำมาเผยแพร่ในห้องสมุดเป็นครั้งแรกกว่า 50 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศไทยนำมาใช้ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2483 จากนั้นได้พัฒนารูปแบบเรื่อยมา กระทั่งได้นำอิเลคทรอนิกส์ (e) เข้ามาใช้อย่างจริงจัง จนกลายมาเป็นนโยบาย e-Education ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน (พ.ศ.2555-2558) โดยมี CAI WBI และ E-learning เป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ขับเคลื่อนนโยบาย บทความนี้ได้นำตัวแบบหลายกระแส (Multiple Streams) ของ John Kingdon (ค.ศ.1984 และ 1995) มาทำการวิเคราะห์นโยบายเพื่อหาความสัมพันธ์ของบริบทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ 3 กระแสหลัก คือ กระแสปัญหา (Problem Stream) กระแสนโยบาย (Policy Stream) และกระแสทางการเมือง (Political Stream)
วัตถุประสงค์ของการวิจัยมี 3 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาความเป็นมาและบริบทที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย e-Education 2) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของบริบทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย e-Education กับตัวแบบหลายกระแส (Multiple Streams) 3) เพื่อหาแนวทางและข้อเสนอแนะการประเมินผลนโยบาย e-Education ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ
ผลการศึกษาพบว่า 1) กระแสปัญหา - สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคไร้พรมแดนที่กลายมาเป็นสังคมฐานความรู้ (KBS) และเศรษฐกิจฐานความรู้ (KBE) 2) กระแสนโยบาย - สัมพันธ์กับกฎหมาย แผน และนโยบายก่อนหน้านี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ฉบับที่ 10 และฉบับที่ 11 (ฉบับปัจจุบัน) รวมถึงกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT 2010) กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT 2020) และนโยบายการศึกษาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 3) กระแสทางการเมือง - สัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์ที่ให้ความสำคัญกับ IT มากขึ้น โดยเฉพาะการสานต่อนโยบาย IT สมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สำหรับแนวทางการประเมินผลนโยบายทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ มีการเสนอว่าควรใช้ระบบประเมินและให้ข้อเสนอแนะผ่านโฮมเพจในเวบไซต์ของสถานศึกษาและของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนจัดกิจกรรมสร้างสรรค์และการประกวดของเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านระบบ e-Education รวมถึงการสำรวจสถิติการเข้าไปใช้เครื่องมือทั้ง 3 อย่าง (CAI WBI และ E-learning) ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประมวลผลและสังเคราะห์ในเชิงลึกต่อไป
คำสำคัญ : e-Education/ ตัวแบบหลายกระแส/ สารสนเทศทางการศึกษา
*อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี,
นักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
** รองศาสตราจารย์ ดร, ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อาจารย์ที่ปรึกษา
** รองศาสตราจารย์ ดร, ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อาจารย์ที่ปรึกษา