วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

น้องใหม่...ที่ใครๆ ก็อยากรับ

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
มติชนรายวัน 29 มิถุนายน 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11068

ทุกภาคการศึกษาแรกของแต่ละปีการศึกษา จะมีบรรดาน้องใหม่ (ที่ไม่แน่ใจว่าร้ายบริสุทธิ์หรือไม่) ทยอยตบเท้ากันเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ (ทั้งที่ตนเองใฝ่ฝัน ผู้ปกครองใฝ่ฝัน และที่ไม่ได้ใฝ่ฝัน) ซึ่งเป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ...ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ ไม่เพียงแต่น้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น น้องใหม่ที่อื่นๆ เช่น ที่ทำงาน ที่บ้าน (ลูก/หลานคนใหม่) ก็มีคนให้ความสำคัญ (ภาษาบ้านเราเรียกว่า "เห่อ") ไม่แพ้กัน
หลายคนเรียกนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ว่า "Freshy" ความจริงแล้วภาษาอังกฤษมิได้ใช้คำนี้ ดังนั้น เพื่อความกระจ่างผู้เขียนจึงสอบถามจากเพื่อนต่างชาติซึ่งได้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้คำเรียกนักศึกษาแต่ละชั้นปี ดังนี้
น.ศ.ชั้นปีที่ 1 "Freshman" หรือ “First Year Student”
น.ศ.ชั้นปีที่ 2 "Sophomore"
น.ศ.ชั้นปีที่ 3 "Junior"
น.ศ.ชั้นปีที่ 4 "Senior"
มาถึงตรงนี้นักศึกษาบางคนที่เรียนแบบใช้โควต้าเวลาอย่างคุ้มค่า 5-8 ปี ก็อยากมีชื่อเรียกเท่ๆ กับเขาบ้างแต่น่าเสียดายที่มิได้มีการบัญญัติศัพท์ของรุ่นพี่กลุ่มนี้เอาไว้
การรับน้องใหม่เป็นประเพณีอันดีงามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รุ่นพี่-รุ่นน้องได้ทำความรู้จัก/สนิทสนม ซึ่งอาจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ในอนาคต เนื่องจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวนไม่น้อยมาจากต่างที่ต่างถิ่น บางคนมาแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่รู้จักใครมาก่อนจึงอาจเกิดปัญหาในการปรับตัวช่วงแรกๆ ได้ หากมีรุ่นพี่ที่ดีคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือยามน้องมีปัญหาก็จะสามารถบรรเทาความทุกข์ร้อนของน้องใหม่ไปได้บ้าง
หรือบางสาขา/บางคณะ จะมีระบบ "พี่รหัส-น้องรหัส" (เลข 3 ตัวท้ายของรหัสนักศึกษาที่เหมือนกัน) รุ่นพี่บางคนรักและห่วงใยน้องมากเป็นพิเศษถึงกับโอนมรดก (หนังสือ/Sheets) ให้น้องรหัสต่อๆ กันมาแบบทายาทอสูรก็มี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของประเพณีการรับน้องเกิดขึ้นซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Welcome first year students"
เว็บไซต์นักเรียนนายร้อยตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงระบบรับน้อง หรือ S-O-T-U-S ที่ใช้ในปัจจุบันว่าเกิดขึ้นจากระบบอาวุโสในโรงเรียนนายร้อย Sand Hurst (โรงเรียนกินนอนของอังกฤษ) ซึ่งฝึกคนเพื่อไปปกครองอาณานิคมต่างๆ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประมาณปี 1850 (158 ปีมาแล้ว) ต่อมาโรงเรียนทหารของสหรัฐอเมริกาจึงนำมาพัฒนาเป็นระบบโซตัสที่เข้มข้นขึ้น จนระบบดังกล่าวได้แพร่หลายไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้ประเทศไทย
โซตัส (SOTUS) มาจากตัวอักษรนำ 5 คำในภาษาอังกฤษ คือ ระบบหนึ่งของการฝึกนักศึกษา พบในสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาบางแห่ง ปกติแล้วจะนำมาใช้ในช่วงการจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการฝึกวิชาชีพ เช่น คณะวิศวะ สถาปัตย์ และเทคโน (บรรดาเด็กช่างทั้งหลาย) เป็นต้น  ซึ่งวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี ได้อธิบายความหมายของอักษรทั้ง 5 ตัว ไว้ดังนี้
S ------> Seniority การเคารพผู้อาวุโส
O ------> Order การปฏิบัติตามระเบียบวินัย
T ------> Tradition การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี
U ------> Unity การเป็นหนึ่งเดียว
S ------> Spirit การฝึกจิตใจ
วิธีการรับน้องในปัจจุบันมักเลียนแบบหรือนำระบบโซตัสมาใช้ ซึ่งความเข้มข้นของแต่ละแห่งจะแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม และโอกาสที่จะเอื้ออำนวย จะเห็นได้ว่านับวันพฤติกรรมการรับน้องจะยิ่งพิสดารมากขึ้น เช่น เอากล้วยให้น้องคาบและกินต่อๆ กันจนถึงคนสุดท้าย (5 คนขึ้นไป) เอาแมงลัก+กะปิ+น้ำแดง ผสมให้น้องดื่มจากนั้นละเลงบนศีรษะน้องอย่างสะใจ ให้ดื่มน้ำสปิริต (เลือด+โค้ก+ปัสสาวะ+...) ยิ่งกว่านั้นยังบังคับให้ดื่มเหล้า/แก้ผ้าวิ่งลงทะเล เอาส้อมจี้ไฟนาบที่ตัวรุ่นน้อง ตลอดจนวิธีการ "ทิ้งดิ่ง" (มัดมือและเท้าให้น้องยืนบนเก้าอี้แล้วดิ่งลงสู่พื้น) จนน้องจุกไปตามๆ กัน เป็นต้น
วิธีการรับน้องเหล่านี้นำมาซึ่งความสูญเสียหลายประการ เช่น สภาพจิตใจ สภาพร่างกาย หรือแม้แต่ถึงขั้นสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อกันเลยก็มี (ดูแล้วยิ่งกว่าการออกรบในศึกสงครามไทย-พม่าสมัยอดีตเสียอีก)
การกระทำดังกล่าวของรุ่นพี่ทำให้หลายคน (โดยเฉพาะรุ่นน้องที่ถูกต้อนรับแบบพิสดาร) อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร หรือทำเพื่อให้เกิดความสะใจ หรือจะเป็นช่วงเอาคืน คำถาม-คำตอบ (แบบเดาส่ง) เหล่านี้วนเวียนในสมองของรุ่นน้องที่ถูกต้องรับอย่างสาหัส...(บอกได้เลยว่าผู้เขียนก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกัน คงต้องรบกวนคนอ่านช่วยหาคำตอบนี้ร่วมกัน...)
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการรับน้องแบบแปลกๆ หรือการทารุณน้องคงจะไม่เกิดขึ้น เพียงแต่รุ่นพี่ใช้หลักพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) หรือจะเป็นการ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ลองนึกดูว่าถ้าเราโดนแบบนี้บ้างจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้กำลังสะท้อนสภาพสังคมไทยให้เห็นโดยที่เราไม่รู้ตัว ในเมื่อระดับปัญญาชนยังแสดงพฤติกรรมอันน่าดูถูกได้ถึงเพียงนี้ อนาคตประเทศชาติของเราจะเป็นอย่างไร...คงต้องฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนไปคิดเป็นการบ้านอย่างจริงจังเสียทีว่า...เราจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น