วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

JICA องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่ใครๆก็รู้จัก


ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
 
The Japan International Cooperation Agency (JICA)  เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น  ซึ่งมุ่งเน้นภารกิจในการพัฒนามนุษยชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ และความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรต่างๆทั่วโลก (ยุโรป  เอเชีย  ตะวันออกกลาง  แอฟริกา โอเชียเนีย  ลาตินอเมริกา) ซึ่งที่เน้นเป็นพิเศษ ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA : Southeast Asia) และกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกใหม่ในอาเซียน หรือ CLMV (Cambodia / Laos / Myanmar / Vietnam) โดยเฉพาะการสนับสนุนในหลากหลายสาขาทางด้านวิศวกรรม (Engineering) ได้แก่ วิศวกรรมเคมี (Chemical) วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environment) วิศวกรรมการผลิต (Manufacturing) วัสดุวิศวกรรม (Material) วิศวกรรมโยธา (Civil) วิศวกรรมไฟฟ้า (Electric & Electronic) วิศวกรรมข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) วิศวกรรมเครื่องกลและอากาศยาน และวิศวกรรมธรณี (geological) ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของภูมิภาค คือ AUN (ASEAN University Network)  และ SEED-Net  (Southeast Asia Engineering Education Development Network)  ร่วมกับมหาวิทยาลัยในอาเซียน 19 แห่ง และมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น 11 แห่ง ซึ่งในอนาคตการพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของกลุ่มประเทศที่กล่าวมา คือ การพัฒนาโปรแกรมปริญญาโทและปริญญาเอกให้มีความเป็นสากลในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

จากการศึกษาดูงานที่ JICA ในครั้งนี้  ทำให้คณะนักศึกษาได้รับข้อคิดที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยดังนี้

1)  สำหรับประเทศไทยควรมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างองค์กร เนื่องจากในทางปฏิบัติพบว่าบริบทของสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นการทำงานแบบแยกส่วน ขาดการประสานงานเชื่อมโยงที่ดีระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน  อาทิ การขุดเจาะถนนเพื่อวางท่อของเทศบาล การประปา  การไฟฟ้า เพื่อทำโครงการอะไรบางอย่าง บนถนนสายเดียวกัน แต่ทำกันคนละครั้ง ภายในเวลาใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าใช้งบประมาณคนละหน่วยงาน  ซึ่งในสายตาของประชาชน ต้องการให้มีการพูดคุยกันของหน่วยงาน วางแผนร่วมกัน เป็นการประหยัดงบประมาณ ประหยัดเวลา และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ดังนั้น การมีองค์กรกลางซึ่งทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรจึงเป็นความคิดที่ดีในการพัฒนาและต่อยอดการทำงานในภาพใหญ่ระดับประเทศ  ภูมิภาค และระดับโลกให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

2) ทำให้เกิดแนวคิดต่อการนำประเด็นมาสู่การพัฒนานโยบายทางด้านการศึกษาของประเทศไทย  กล่าวคือ ในการสร้างสังคมฐานความรู้ให้เกิดขึ้นสำหรับการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ  สิ่งที่ต้องทำ คือ  กระทรวงศึกษาธิการของไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  และเทคโนโลยีร่วมกัน  โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนบุคลาการทางวิชาการ  ชี้แนะประเด็นที่มีความจำเป็นต่อการทำวิจัยร่วมกันในลักษณะเครือข่ายทางวิชาการ

3 ความคิดเห็น:

  1. ตอนนี้จะติดตามทุน หรือการไปศึกษาดูงานของ JICA ได้ที่ไหนบ้างคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เรื่องทุนของ JICA ส่วนใหญ่จะให้มาทางสถาบันค่ะ เช่น สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยี และภัยพิบัติ เพราะเขามีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้หลายคน ส่วนการไปศึกษาดูงานจะต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงาน JICA โดยระบุว่าเป็นใคร สังกัดหน่วยงานไหน จะไปศึกษาเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ไปกี่วัน เป็นต้นค่ะ ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เวบไซต์นะคะ http://www.jica.go.jp/english/

      ลบ
  2. เรื่องทุนของ JICA ส่วนใหญ่จะให้มาทางสถาบันค่ะ เช่น สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยี และภัยพิบัติ เพราะเขามีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้หลายคน ส่วนการไปศึกษาดูงานจะต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงาน JICA โดยระบุว่าเป็นใคร สังกัดหน่วยงานไหน จะไปศึกษาเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ไปกี่วัน เป็นต้นค่ะ ลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เวบไซต์นะคะ http://www.jica.go.jp/english/

    ตอบลบ