ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
ขณะเรียน Coursework ที่ ม.มหิดล นศ.สอบถามอาจารย์เกี่ยวกับคุณวุฒิทางการศึกษาระดับปริญญาเอก ระหว่าง Ph.D vs Dr. อธิบายได้ 3 แบบ ดังนี้
(ที่มาของรูปภาพ โดย ประทุมทิพย์ ทองเจริญ)
แบบที่ 1: Make Dissertation only, No Coursework ได้ปริญญา Philosophy of......
สมัยก่อนป.เอกส่วนใหญ่ใช้ Ph.D เนื่องจากเรียนปรัชญาเสียส่วนใหญ่ และเน้นทำวิจัย ปริญญาของหลักสูตรประเภทนี้ จะใช้ชื่อ Philosophy of.......ตามด้วยสาขาวิชา ผู้ผ่านการสอบQE (Qualifying Examination) จะใช้ Ph.D candidate ตามด้วยชื่อของมหาวิทยาลัย ตัวย่อของปริญญาจะเป็น Ph.D........(Ph. ย่อจาก Philosophy D ย่อจาก Degree) นอกจากนี้ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงวิทยานิพนธ์แบบรวมๆในระดับบัณฑิตศึกษาส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "Thesis" แต่เมื่อต้องการเจาะจงว่าเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกก็จะใช้คำว่า "Dissertation"
ทั้งนี้ พบว่าสถาบันการศึกษาของยุโรปส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบนี้ ผู้ที่จะทำดุษฎีนิพนธ์ได้จะต้องเขียนบทความวิชาการไปลงในวารสารนานาชาติที่ได้รับการยอมรับในสาขานั้นๆ ก่อน ตามจำนวนบทความที่กำหนด จากนั้น ก็จะสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination:QE) ถ้าผ่านก็จะได้ Submitted เพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งก็จะนำบทความที่ได้ตีพิมพ์มาขยายเป็นบทๆ อย่างละเอียดลึ้กซึ้งในดุษฎีนิพนธ์ขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ เคยสอบถามนักศึกษาปริญญาเอกชาวไทย (อ.มนตรี สุขเลื่อง) ที่ได้ทุนของประเทศบรูไนท่านก็บอกว่าปริญญาเอกสาขาที่ท่านไปเรียนที่ประเทศบรูไนก็ใช้แบบนี้และจากที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่ USM มาเลเซียก็เป็นแบบ "research degree"
แบบที่ 2: Both Coursework and Dissertation (แต่น้ำหนักอยู่ที่ดุษฎีนิพนธ์) ได้ปริญญา Doctor of...
ต่อมาหลายสถาบันการศึกษามีเรียน Coursework เพิ่มเข้ามาเนื่องจากองค์ความรู้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society:KBS) นศ.ป.เอกหลายที่จึงถูกกำหนดให้เรียน Coursework ด้วย ซึ่งอย่างหลังนี้ ไม่เน้นเรียนเรื่องปรัชญามากนัก แต่จะไปเน้นที่เทคนิค วิธีการวิจัยและการนำไปปฏิบัติจริง ควบคู่กับการทำดุษฎีนิพนธ์ สัดส่วนcoursework กับ dissertation อยู่ที่ (40:60 หรือ 30:70) ดังนั้น ปริญญาประเภทนี้จะขึ้นต้นด้วย Doctor of..ตามด้วยชื่อสาขาวิชา ผู้สอบวัดคุณสมบัติ (QE) ผ่านจึงจะได้ใช้คำว่า Doctoral candidate ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจะใช้ตัวย่อว่า Dr.
เช่น หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต ม.มหิดล ภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า Doctor of Public Administration (Public Policy and Public Management) ตัวย่อ D.P.A ประเภทนี้จะเริ่มด้วยการเรียน Coursework ควบคู่กับการทำผลงานวิชาการ ในลักษณะแบบฝึกหัดของแต่ละรายวิชา ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยขนาดย่อม และบทความวิจัย จากนั้น ตีพิมพ์ และนำเสนอในเวทีวิชาการระดับชาติ เป็นต้น ตามด้วยการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการทำดุษฎีนิพนธ์ต่อไป และนำผลที่ได้จากดุษฎีนิพนธ์มาเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ หรือ นานาชาติ (ขึ้นกับเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง) ซึ่งที่ม.มหิดล กำหนดให้ดุษฎีบัณฑิตตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเท่านั้น เนื่องจากทำดุษฎีนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อได้หนังสือตอบรับ (อย่างเป็นทางการ)ให้ตีพิมพ์บทความจึงจะทำเรื่องขอสำเร็จการศึกษาได้...
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน ที่เนื้อหาสาระต่างๆข้ามศาสตร์ ข้ามสาขากันไปมาได้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์เชิงอภิมาน "Meta-analysis" และการบูรณาการ "Interdisciplinary" ที่คุ้นหูกันในแวดวงวิชาการในเมืองไทยนานพอสมควรแล้ว รวมถึงเป็นไปตามหลักการของการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า "Tri-angulation" ทั้ง 3 คำนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและสามารถนำมาใช้กับการวิจัยแบบผสมผสาน "Mixed Methods" ได้อย่างสอดคล้องกัน ซึ่งแต่ละตัวจะทำหน้าที่และบทบาทในการวิจัยที่แตกต่างกัน
แบบที่ 3: Both Coursework and Dissertation (น้ำหนักอยู่ที่ดุษฎีนิพนธ์) ได้ปริญญา Philosophy of...
ผู้เขียนกำลังสะท้อนให้เห็นว่า พัฒนาการของศาสตร์และวิธีวิทยาการวิจัยข้างต้นล้วนมีอิทธิพลต่อวงการการศึกษาและการวิจัยค่อนข้างมาก แม้กระทั่งการใช้ Ph.D กับ Dr. ก็ไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัวอย่างในอดีตอีกต่อไป
อย่างกรณีของสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่จะเรียน Coursework ควบคู่กับการทำ Dissertation แต่ปริญญาส่วนใหญ่ที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับ คือ Philosophy of..ตามด้วยชื่อสาขา ดังนั้น คำนำหน้าของผู้สำเร็จการศึกษาจึงใช้ Ph.D ซึ่งเงื่อนไขของการทำดุษฎีนิพนธ์ของประเภทนี้ อาจเขียนบทความก่อนทำดุษฎีนิพนธ์ (ตามแบบที่ 1) หรือ เขียนบทความภายหลังการทำดุษฎีนิพนธ์ (ตามแบบที่ 2) เป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแบบที่ 2 และ 3 เหมือนกันมาก ต่างกันตรงที่ปริญญาที่ได้รับ และคำนำหน้าเท่านั้นเอง ซึ่งแบบที่ 3 เสมือนลูกผสมระหว่างแบบที่ 1+2 ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าแบบที่ 3 จะมีความอิสระ และเน้นการบูรณาการมากขึ้น สุดท้าย ผู้เขียนมองว่าสิ่งที่สำคัญไปกว่าชื่อปริญญา หรือ คำว่า Ph.D หรือ Doctor คือ การทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อช่วยเหลือชุมชน สังคม ประเทศ และโลกของเรามากกว่าที่จะให้คุณค่าของสิ่งที่กล่าวมา...