วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

JICA องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่ใครๆก็รู้จัก


ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
 
The Japan International Cooperation Agency (JICA)  เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น  ซึ่งมุ่งเน้นภารกิจในการพัฒนามนุษยชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน ด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ และความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรต่างๆทั่วโลก (ยุโรป  เอเชีย  ตะวันออกกลาง  แอฟริกา โอเชียเนีย  ลาตินอเมริกา) ซึ่งที่เน้นเป็นพิเศษ ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA : Southeast Asia) และกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) ทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกใหม่ในอาเซียน หรือ CLMV (Cambodia / Laos / Myanmar / Vietnam) โดยเฉพาะการสนับสนุนในหลากหลายสาขาทางด้านวิศวกรรม (Engineering) ได้แก่ วิศวกรรมเคมี (Chemical) วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environment) วิศวกรรมการผลิต (Manufacturing) วัสดุวิศวกรรม (Material) วิศวกรรมโยธา (Civil) วิศวกรรมไฟฟ้า (Electric & Electronic) วิศวกรรมข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) วิศวกรรมเครื่องกลและอากาศยาน และวิศวกรรมธรณี (geological) ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของภูมิภาค คือ AUN (ASEAN University Network)  และ SEED-Net  (Southeast Asia Engineering Education Development Network)  ร่วมกับมหาวิทยาลัยในอาเซียน 19 แห่ง และมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น 11 แห่ง ซึ่งในอนาคตการพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของกลุ่มประเทศที่กล่าวมา คือ การพัฒนาโปรแกรมปริญญาโทและปริญญาเอกให้มีความเป็นสากลในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

จากการศึกษาดูงานที่ JICA ในครั้งนี้  ทำให้คณะนักศึกษาได้รับข้อคิดที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยดังนี้

1)  สำหรับประเทศไทยควรมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างองค์กร เนื่องจากในทางปฏิบัติพบว่าบริบทของสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นการทำงานแบบแยกส่วน ขาดการประสานงานเชื่อมโยงที่ดีระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน  อาทิ การขุดเจาะถนนเพื่อวางท่อของเทศบาล การประปา  การไฟฟ้า เพื่อทำโครงการอะไรบางอย่าง บนถนนสายเดียวกัน แต่ทำกันคนละครั้ง ภายในเวลาใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าใช้งบประมาณคนละหน่วยงาน  ซึ่งในสายตาของประชาชน ต้องการให้มีการพูดคุยกันของหน่วยงาน วางแผนร่วมกัน เป็นการประหยัดงบประมาณ ประหยัดเวลา และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ดังนั้น การมีองค์กรกลางซึ่งทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรจึงเป็นความคิดที่ดีในการพัฒนาและต่อยอดการทำงานในภาพใหญ่ระดับประเทศ  ภูมิภาค และระดับโลกให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

2) ทำให้เกิดแนวคิดต่อการนำประเด็นมาสู่การพัฒนานโยบายทางด้านการศึกษาของประเทศไทย  กล่าวคือ ในการสร้างสังคมฐานความรู้ให้เกิดขึ้นสำหรับการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ  สิ่งที่ต้องทำ คือ  กระทรวงศึกษาธิการของไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนต่อการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  และเทคโนโลยีร่วมกัน  โดยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนบุคลาการทางวิชาการ  ชี้แนะประเด็นที่มีความจำเป็นต่อการทำวิจัยร่วมกันในลักษณะเครือข่ายทางวิชาการ

ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย

ย่ำแดนอาทิตย์อุทัย
ประทุมทิพย์ ทองเจริญ / สรุป
 
 
1.ความทันสมัยและเทคโนโลยี  ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก ภายหลังจากที่สูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นแทบจะไม่เหลืออะไรเลย นอกจากมันสมองและสองมือที่พวกเขาเหลืออยู่ กระทั่งได้พัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ สู่สายตาชาวโลก รวมถึงพัฒนามาตรฐานและระบบประกันคุณภาพของสินค้าและบริการให้เป็นที่น่าเชื่อถือภายใต้คำว่า “Made in Japan  เทคโนโลยีสารสนเทศที่ว่านี้มีตั้งแต่การใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ห้องน้ำ  ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ญี่ปุ่นนำไปช่วยเหลือเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง Olympic London 2012 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมถึงเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ เป็นต้น

 2 บุคลิกของคนญี่ปุ่น  คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีความขยัน ซื่อสัตย์ อดทนสูง มีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต มีความรับผิดชอบ รักเกียรติยศและศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลและประเทศอย่างมาก  หรือ อาจเรียกว่ามีเลือดของความเป็นชาตินิยมสูง ด้วยสภาวการณ์ที่แข่งขันสูงในญี่ปุ่นจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียดแฝง สะสมวันแล้ววันเล่ากระทั่งต้องหาวิธีการระบายออก เช่น การร้องเพลงคาราโอเกะ เกมส์ขว้างแก้ว จาน ชาม หรือแม้กระทั่งการคิดสั้นฆ่าตัวตาย  ซึ่งมัคคุเทศก์บอกกับคณะศึกษาดูงานว่าบุคลิกของคนญี่ปุ่นมี 2 ด้าน “ภายใน-ภายนอก” หรือ “อุระ โอโมเตะ” กล่าวคือ คนภายนอกมองคนญี่ปุ่นว่ามีความสดใส ร่าเริง สนุกสนานและมีความสุขกับการใช้ชีวิตและการทำงาน แต่ภายในซึ่งคนญี่ปุ่นทราบดีว่าแฝงไปด้วยความเครียด กดดัน ในสภาวะของการแข่งขันและค่าครองชีพสูง เป็นต้น ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ไม่ขาวก็ดำ ไม่มีใครหรือสิ่งใดในโลกสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากญี่ปุ่นแก้ไข หรือ เยียวยาตรงนี้ได้  คนญี่ปุ่นจะเป็นพลเมืองที่วิเศษมาก

3 วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  จากการได้ไปเยือนที่ญี่ปุ่น พบว่าคนญี่ปุ่นมีความตระหนักในเรื่องการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามเพื่อคนในชาติและชาวโลกที่มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมอันสะท้อนอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น รวมถึงการรักษาธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังเกตได้จากการที่คนญี่ปุ่นจะเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส เพื่อประหยัดพลังงาน และการนิยมดื่มน้ำขวดเล็กเพื่อให้ดื่มหมดภายในครั้งเดียว (ป้องกันการดื่มทิ้งๆ ขว้างๆ) ตลอดจนการขุดเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขาโดยใช้วิธีการขุดเจาะแทนการระเบิดให้แยกออกจากกัน เป็นต้น เหล่านี้ หากมองจากคนภายนอกจะพบว่าญี่ปุ่นได้ผสานวัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเข้ากันอย่างลงตัว พร้อมๆกับการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยที่มิได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด  

4 ความเอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของพลเมือง  ตลอดการศึกษาดูงาน 3 วัน พบว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีความเอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศของเขาอย่างมาก  ทั้งเรื่องอาหารการกินที่ปลอดภัยจากสารพิษ การทำถนนหนทางที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย  การทำกำแพงสูง 2-3 เมตรให้มีลักษณะโค้งออกมาเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกเข้าไปในตัวอาคาร  ตลอดจนน้ำประปาดื่มได้ และส้วมสาธารณะที่สะอาดและทันสมัย เป็นต้น เหล่านี้ สะท้อนถึงความเอาใจใส่ต่อพลเมืองที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้รวมทั้งความเท่าเทียมและเสมอภาคด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการทั้งคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติในราคาเดียวกัน  ไม่มีการแบ่งแยก เป็นต้น

5 การรักษาความปลอดภัยในองค์กร  จากการศึกษาดูงาน พบว่าการรักษาความปลอดภัยในการติดต่อกับหน่วยงานของญี่ปุ่นมีสูงมาก เห็นได้ชัดเจนจากติดต่อประสานเพื่อการศึกษาดูงานในหน่วยงานของญี่ปุ่นทั้ง 3 แห่ง ได้แก่  JICA (The Japan International Cooperation Agency) MEXT (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology)  และ GRIPS (National Graduate Institute for Policy Studies)  พบว่า บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาติดต่อ  ไม่สามารถเดินเข้าไปในหน่วยงานดังกล่าวได้โดยพลกาล  ต้องรออยู่บริเวณที่นั่งรอ  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เราติดต่อประสานมาต้อนรับและพาคณะศึกษาดูงานขึ้นไปตามภารกิจที่ได้ติดต่อล่วงหน้า   ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทยแล้ว ในบ้านเรายังขาดความตระหนักในเรื่องนี้  เปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้านอกออกในได้สะดวก  และเข้า-ออกภายในหน่วยงานได้ง่าย เช่น คนขายประกัน  เจ้าหน้าที่ธนาคารที่มาขายบัตรเครดิต หรือแม้แต่กลุ่มมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวเข้ามาเพื่อลักเล็กขโมยน้อย โจรกรรม หรือ ก่ออาชญากรรม เป็นต้น  ดังนั้น ประเด็นนี้จึงควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่างในบ้านเราเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่พนักงานและองค์กรมากขึ้น

6. การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะต่างที่ ต่างถิ่น และต่างวัฒนธรรม ทำให้คณะนักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากในหนังสือ ตำรา ซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) แต่การได้มาศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งจะได้รับข้อมูลแบบปฐมภูมิ (Primary Data) ได้เห็น ได้สัมผัส จากของจริง สอดคล้องกับการศึกษาทางเลือก และสำนวนไทยที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น  ซึ่งการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาควรสนับสนุนการศึกษาดูงานนอกสถานที่ทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศมากขึ้น เพื่อเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น