วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

More than a Graduation Ceremony at SRU

Pratumtip Thongcharoen
and Kewalin Angkananon
Edited by Lomeda Montgomery

Fortunately, this year we also have another important ceremony: it is a Graduation Ceremony at Suratthani Rajabhat University (SRU). This ceremony will be held between 27 and 29 October, 2011. We are all excited that SRU and Suratthani Province will be the host for this exciting event.  We are ready to welcome guests and ready to be good hosts. Let’s count down together!


What does graduation mean?
Graduation is the action of receiving an academic degree and/or the ceremony that is sometimes associated with that accomplishment. The date of graduation is often called degree day. The graduation itself is called commencement, convocation or invocation. For many of us, Graduation is the happiest of times; it is not only graduates who feel happy, but it is also a day of celebration and accomplishment for their families. The ceremony brings many emotions--smiling, laughing and even crying, and all come from happiness.
The Crown Prince Wachiralongkorn, on behalf of His Majesty the King, will preside over the graduation ceremony of five Southern Rajabhat Universities. There will be 3,481 graduates from Suratthani Rajabhat University who will receive degrees on the first day; 1,951 graduates from Nakhon Si Thammarat Rajabhat University and 2,394 graduates from Phuket Rajabhat University will be honored on the following day. The last day, there will be 2,640 graduates and 2,021 graduates from Songkla Rajabhat University and Yala Rajabhat University, respectively. The total number of graduates is 12,487 (12,092 bachelors, 392 masters and 3 doctorates).
In economic terms, many enterprises are going to benefit from these ceremonies, such as hotels, shops, restaurants and all manner of tourism in Suratthani Province. Furthermore, I have interviewed past graduates and found that they spent around 15-20 thousand baht per graduate for the celebration; overall this is no less than 300 million baht. Wow! That’s lots of money!

Ultimately, the most important part of the graduation ceremony is to celebrate the years of hard work the graduates have put in; they should enjoy the fruits of their labor.  We can join in this celebration of success by setting aside a nice outfit for the special occasion and welcome them as good citizens like ourselves. This is so much more than a Graduation Ceremony at SRU; it is a chance for us, as role models, to welcome new citizens into our society.  So, enjoy their success and your own contributions!

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ก่อนที่สัตว์สายเลือดไทยจะสูญพันธุ์

ประทุมทิพย์ ทองเจริญ
มติชนรายวัน 26 ตุลาคม 2552

ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในกลุ่มนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องราวการทารุณกรรมสัตว์ ได้เห็นภาพสัตว์บาดเจ็บที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ล้วนทำให้จิตใจหดหู่ และอดคิดไม่ได้ว่า แม้แต่คนยังรักชีวิต สัตว์ก็คงรักชีวิตของมันเช่นกัน แต่มันไม่มีปากเสียง 

บางคนมองเห็นปัญหาแต่ก็เพิกเฉย คนในสังคมกำลังดูดายเสมือนหนึ่งปัญหาข่มขืน ปัญหาฆ่ากันตาย  คนในสังคมกำลังทำอะไรอยู่ เหตุใดจึงไม่ร่วมกันแก้ปัญหาเหล่านี้ หลายคนให้ความสำคัญแต่เฉพาะปัญหาปากท้อง (เศรษฐกิจ) แต่หารู้ไม่ว่าปัญหาสังคมก็มีความรุนแรงไม่แพ้กัน รวมถึงสังคมของสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราด้วย สมัยเรียนประถมศึกษาครูเคยตั้งคำถามว่า หากโลกนี้ไม่มีพืชนักเรียนทราบหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ สิ่งมีชีวิตในโลกทุกชนิดจะตายหมด เป็นไปตามกฎห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากพืชถือเป็นผู้ผลิต ที่เป็นทั้งอาหาร ผลิตน้ำออกมาในกระบวนการสังเคราะห์แสง รวมถึงคายก๊าซออกซิเจนออกมาให้เราได้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไป  นักเรียนในชั้นจึงถามต่อไปว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีสัตว์จะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ คนก็จะยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความยากลำบาก เพราะปัจจุบันคนเราต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ในการดำรงชีวิต แล้วก็มีคนถามต่อไปอีกว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีคน พืชและสัตว์จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่  คำตอบคือ สองสิ่งนี้จะอยู่ได้อย่างสบาย ดังนั้น ทั้งพืช และสัตว์จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และถือว่ามีบุญคุณต่อคนทั้งโลกอย่างมหาศาล และคนจะขาดสองสิ่งนี้มิได้เลย
         คำถามต่อไปคือ ปัจจุบัน เราได้ปฏิบัติตนกับสองสิ่งนี้อย่างไร คำตอบคนในสังคมคงทราบดี ต้นไม้ในประเทศไทยถูกลักลอบตัดจนหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่กล้าที่จะรายงานตัวเลขที่แท้จริงออกมาเพราะเกรงว่าผู้คนในสังคมจะตกใจ แต่ถ้าดูจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแล้ว เราจะพบว่าพื้นที่สีเขียวของเราหายไปกว่า 80% ของประเทศ ที่เหลือเป็นภูเขาหัวโล้น ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่ก็ให้สัมปทานภูเขาให้เอกชนระเบิดภูเขานำดิน หิน ทรายไปทำประโยชน์ได้โดยจ่ายค่าตอบแทนแก่รัฐ จะว่าไปแล้วภูเขาเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของต้นไม้ ป่าไม้ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารน้อยใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งผลิตอาหารและยารักษาโรคให้คนอีกด้วย
เมื่อไม่มีที่อยู่ สัตว์ป่าจึงเร่ร่อนออกมาหากินในพื้นที่ราบ ตามหมู่บ้านคน ถูกจับไปฆ่าแกงเป็นว่าเล่น หรือไม่หากเผลอไผลไปลักขโมยพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน  สัตว์เคราะห์ร้ายจึงถูกลวดหนามไฟฟ้าช็อร์ตจนตาย หรือไม่ก็นอนตายในสภาพน้ำลายฟูมปากเพราะกินพืชผลที่ใส่ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีเข้าไป 
มีสัตว์หลายประเภทที่ถูกทารุณกรรมหลากหลายรูปแบบจากคน จะว่าไปแล้วในสังคมของเรามือมนุษย์แฝงอยู่ด้วย คนกลุ่มนี้จะมีลักษณะนิสัยโหดร้าย ป่าเถื่อน ชอบรังแกสัตว์ ขาดความเมตตา บางครั้งอาจถึงขั้นเข่นฆ่ามนุษย์กันเองด้วยซ้ำ  ตัวอย่างเช่น ช้าง ที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกับบรรดาสัตว์อื่นของไทย เช่น การใช้มีดสับที่ศีรษะ พาไปเดินเร่ร่อนขอทานข้างถนน หรือนำไปแสดงโชว์ผาดโผนลักษณะผิดธรรมชาติ เป็นต้น

เคยมีคนถามให้ได้ยินว่า รัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงช้างหรืออย่างไร จึงปล่อยให้สัตว์คู่บ้านคู่เมืองต้องตกระกำลำบาก อดหลายมื้อ นานๆ จึงจะได้กินสักครั้ง เคยมีคนไปสัมภาษณ์ควาญช้างที่นำช้างออกมาขอทานตามเมืองใหญ่ซึ่งออกอากาศทางรายการโทรทัศน์ เจ้าของช้างตอบว่าพวกเขาไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูมัน เพราะช้างตัวโตกินอาหารจำนวนมาก บางคนได้รับช้างเป็นมรดกจากบรรพบุรุษจึงรู้สึกผูกพัน ไม่อยากขาย อยากเก็บไว้เป็นสมบัติติดตัวจนกว่าจะตาย จึงพามันมาขอทานเสี่ยงตายบนท้องถนนดีกว่าอดตายทั้งคนทั้งช้าง ปัญหานี้จะทำอย่างไร ประเทศไทยมีเงินงบประมาณรายจ่ายนับแสนล้าน ไม่มีเงินที่จะเจียดมาดูแลสัตว์สายเลือดไทยแท้ๆ แต่โบราณหรืออย่างไร
        กรณี วัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณกับคนไทยมาช้านาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ชาวนาใช้แรงงานในการทำนาปลูกข้าวให้คนไทยและคนทั่วโลกได้กินข้าวไทยแต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวนานำรถไถ หรือที่เรียกว่าควายเหล็กเข้ามาแทนที่  วัวควายซึ่งเคยมีหน้าที่ในการช่วยชาวนาทำนาก็ต้องว่างงาน ถ้าเพียงแต่ชาวนาเจ้าของมันจะใช้ใจสัมผัสถึงหัวอกของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ คงไม่ทิ้งๆ ขว้างๆ มันอย่างทุกวันนี้ เช่น ปล่อยตามยถากรรม พาไปผูกตากแดดทั้งวัน ชาวนาบางคน เมื่อเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์จึงตัดสินใจขายให้โรงฆ่าสัตว์ในที่สุด อย่างที่สุภาษิตไทยโบราณกล่าวไว้ไม่มีผิดว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" อย่างกรณีต่างประเทศที่พวกเขาใช้รถไถนามิได้ใช้วัวควายในการทำนา พวกเขาจึงนำมันมากินเนื้อได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่กรณีของคนไทยต่างกัน เพราะวิถีชีวิตชาวนาไทยผูกพันกับวัวควายมาช้านาน  เราจึงมิควรกระทำกับสัตว์ที่มีบุญคุณกับเราในลักษณะนี้


อีกตัวอย่างที่ได้ยินบ่อย คือ บรรดาคนที่ชอบเปิบพิสดารก็เช่นกัน ล้วนส่งเสริมการทารุณกรรมสัตว์ทั้งสิ้น เช่น เปิบสมองลิง (ทั้งเป็น)กินแมว กินหมา กินตะกวดและสัตว์ป่าต่างๆ ยิ่งหายาก ยิ่งมีราคาแพง รวมถึงเป็นกระตุ้นต่อมความอยากของอมนุษย์กลุ่มนี้ ซึ่งหลายรายต้องเสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อโรคอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากกินของแปลกเมนูเปิบพิสดาร อย่างที่เขาเรียกว่า "กรรมตามสนอง"
กรณีของปลา ที่ใครต่อใครรู้ดีว่าเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคน เป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ ก็มิวายที่จะถูกนำมาเป็นเมนูเปิบพิสดารด้วยการตั้งกระทะใส่น้ำมันให้ท่วมจนเดือด แล้วค่อยๆ บรรจงหย่อนท่อนหางของปลาที่ถึงคราวเคราะห์ (แบบจะตายก็ไม่ได้ตายดี)ลงไปในกระทะนั้น สุดท้ายจะตายแหล่มิตายแหล่ สุกเพียงครึ่งท่อนล่าง (หาง) ท่อนบน (ส่วนหัว) อ้าปากร้องอย่างทุรนทุราย จนเป็นที่มาของชื่อเมนูเปิบพิสดารนี้ว่า "ปลาไชโย" หรือแม้แต่ฉลามที่เป็นจ้าวแห่งทะเลก็มิวายที่คนจะตัดครีบและสังเวยชีวิตมันด้วยการนำมาทำเป็นอาหารเหลาไม่เว้นกระทั่งหมา หรือสุนัข ที่เป็นเพื่อนเล่นกับเรา บางครั้งเป็นยาม หรือเป็นหน่วยกู้ภัยช่วยชีวิตยามเจ้าของมีอันตราย บางคนยังทำกับมันได้ลงคอ  ตัวอย่างเช่น หลายหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ามักจะมีการจับบรรดาสัตว์ต่างๆ ที่พอจะกินได้นำมาปรุงอาหารหลากหลายเมนูด้วยกัน  แต่จะมีใครคิดบ้างว่า หมาที่เลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านจะนำมาซึ่งรายได้เล็กน้อยให้กับเจ้าของด้วยการนำมันมาแลกกับถังน้ำ/กะละมัง ที่มีราคาเพียงใบละ 10-20 บาท 
คำถาม..เราตอบแทนเพื่อนรัก ผู้ซื่อสัตย์กับเราด้วยวิธีการแบบนี้หรือ จนกลายเป็นว่าถ้าบ้านไหนมีลูกหมาก็จะไม่แบ่งให้เพื่อนบ้านเอาไปเลี้ยงแต่จะเก็บไว้รอการกลับมาของรถรับซื้อหมาแลกถังน้ำที่จะวนเวียนมาแทบทุก 1-2 เดือน
กรณี หมีหมา และหมีควาย (ไม่รวมหมีแพนดา) ซึ่งเป็นสัตว์ป่า ถ้าใครพบว่ามันทำร้ายคนด้วยกันก็จะพิพากษาโทษของมันด้วยการฆ่าเพียงสถานเดียวเท่านั้น บ่อยครั้งที่ได้ยินมาว่ามันถูกกระหน่ำยิงด้วยปืนและสารพัดอาวุธที่จะล้มมันลงได้ ทั้งๆ ที่มันมีเพียงแค่สี่ตีนเปล่าเท่านั้น สัตว์เหล่านี้ไม่มีโอกาสได้ อุทธรณ์ ฎีกา หรือยกฟ้องเลย พวกมันจะถูกศาลเตี้ย (จากคน) เป็นผู้พิพากษาโทษด้วยการสังหารโหดมันในทันที เช่น ใช้ปืนสั้น/ปืนยาวกระหน่ำยิง ลูกดอกอาบยาพิษ เหล็กหลาวทิ่มแทง ไม้ทุบตี ก้อนหินขว้างใส่ เป็นต้น  สุดท้ายเมื่อสื่อมวลชนไปเจอก็จะเสนอภาพข่าวที่ออกมาให้เห็น คือ ภาพหมีหมา/หมีควายนอนตายอย่างอนาถ ไม่มีใครทำศพให้ มีแต่คนด่าและสาปแช่งด้วยข้อหาฆ่าคนตาย (อาจด้วยเจตนา หรือไม่เจตนา) ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ เพราะปกติเราจะทราบดีว่าสัตว์ทำไปโดยสัญชาตญาณป้องกันตัว และฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ไม่เคยมีเหตุผลอื่น เช่น หึงหวง ชู้สาว ปมแค้นส่วนตัว หรือชิงทรัพย์ อย่างกรณีของคน
ทุกวันนี้ บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ในไทย (รวมถึงคนไทยบางคน) คงอดอิจฉาครอบครัวแพนดาไม่ได้เพราะมีแต่คนสนใจ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จนแอบคิดไม่ได้ว่าสัตว์สายเลือดพันธุ์ไทยแท้อย่างช้างไทย วัว ควาย ไทย ถ้าเลือกเกิดได้มันคงอธิษฐานขอให้เกิดเป็นหมีแพนดาด้วยเถิด...โอมเพี้ยง....

อีกเหตุผลหนึ่ง สัตว์ต่างชาติไม่ได้ทำผิดอะไรหรอกเพียงแค่ปกติวิสัยของคนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีจำนวนน้อย หายาก อย่างแพนดาและครอบครัวที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของไทยช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขามาในฐานะ "สัตวทูต" เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง "ไทย-จีน" ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวไทย เพราะมันน่ารัก มีคนแต่งเพลงให้ รัฐบาลลงทุนเพื่อปรับสถานที่ให้เหมาะกับวิถีชีวิตที่มันจะอยู่อาศัยในไทยได้ สื่อมวลชนให้ความสนใจมันมาก โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่หลินฮุ้ยตั้งท้อง จน "แพนดาน้อยหลินปิง" ออกมาลืมตาดูโลก  เรียกได้ว่าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ โทรทัศน์ทุกช่อง เว็บไซต์ทุกที่ต่างลงข่าวความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวแพนดาครอบครัวนี้ทุกวี่วัน จนเด็กหลายคนสงสัย บ้างก็สับสนคิดว่า "แพนดา" คือสัตว์ประจำชาติไทยไปแล้วด้วยซ้ำ
สมัยเรียนระดับประถมศึกษา คุณครูมักสอนให้รู้จักสัตว์ชนิดต่างๆ และถามนักเรียนว่าใครรู้จักและเคยเห็นสัตว์เหล่านี้ตัวจริงบ้างช่วยอธิบายลักษณะ รูปร่างหน้าตาและเสียงร้องของมันให้เพื่อนๆ ฟังหน่อย เพื่อนในห้องบางคนที่เคยเห็นต่างยกมือตอบด้วยความตื่นเต้น แต่เมื่อมาถึงสัตว์สูญพันธุ์ หรือสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ คุณครูกลับอึ้งไปและบอกว่าสัตว์เหล่านี้ปัจจุบันมีเพียงชื่อ และรูปภาพให้ดูเท่านั้น ของจริงหายาก บางชนิดก็ไม่มีหลงเหลือในโลกอีกแล้ว เด็กๆ ฟังแล้วรู้สึกสลดใจ ครูก็เศร้าไปกับเด็กด้วย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อมันสูญพันธุ์ไปแล้ว จะมีก็แต่อนุรักษ์สัตว์ที่มีอยู่ในขณะนี้ให้พวกมันอยู่กับเราไปอีกนาน
เคยมีคนถามว่าเคยมีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสัตว์อย่างจริงจังบ้างหรือไม่ โดยระบุเป็นข้อๆ ไปเลยว่าห้าม 1 2 3 และ 4 ถ้าทำจะได้รับโทษหนักแบบนี้....เรากำลังปล่อยปละละเลยกฎหมายพื้นฐานไปหรือเปล่า หรือกฎหมายบ้านเราครอบคลุมเฉพาะคนเท่านั้น สัตว์ก็ปล่อยไปตามยถากรรม จะถูกคนย่ำยี ทารุณ ทุบตี ฆ่าหรือทรมานจนตายอย่างไรไม่สนใจ เพราะไม่มีปากเสียง...หรือเพราะมันลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งไม่ได้
...ใครที่ได้ยินได้ฟังเรื่องจริงที่ว่านี้อดสังเวชใจมิได้ต่อชะตากรรมที่สัตว์น้อยใหญ่ในบ้านเมืองเราต้องเผชิญ มิต่างอะไรกับการต้องอยู่ในสมรภูมิรบ เพราะไม่รู้ว่าวันดีคืนดีเจ้าของที่มันรักกระทั่งมันอาจยอมตายแทนได้จะนำมันไปแลกกับอะไร หรือมันมีค่าเท่ากับของใช้ในบ้านอะไรได้บ้าง..
นอกจากนี้ สัตว์ที่คนกินเป็นอาหารก็อดหวั่นวิตกถึงชะตากรรมของมันไม่แพ้กัน เมื่อมีไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู แอนแทรก (วัวบ้า) เป็นต้น ซึ่งทางป้องกันที่คนนำมาใช้คือ การ "ฆ่าหมู่" ด้วยวิธีการต่างๆ เนื่องจากสัตว์ที่ติดเชื้อมีจำนวนมาก ยากแก่การควบคุมโรค ที่สำคัญยังเป็นอาหารของคนจนเกรงว่าอาจติดจากคนสู่คน หรือกลายพันธุ์ สุดท้ายจุดจบของบรรดาสัตว์เหล่านี้ คือ "การฝังทั้งเป็น" หลายคนอดนึกไม่ได้ว่าถ้าเป็นกับคนจำนวนมากๆ จะใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับสัตว์เหล่านี้หรือไม่....

ปัญหานี้ควรใช้ "ความเมตตา" ในการแก้ไข เมตตาต่อสัตว์โลกที่ตกทุกข์ได้ยาก คิดเสียว่ามันเกิดมาเป็นสัตว์ให้คนโขกสับ ใช้งาน หรือกินเป็นอาหาร ก็ทุกข์มากพอแล้ว อย่าไปทรมานด้วยวิธีการทารุณหลากหลายรูปแบบอีกเลย ที่สำคัญ อย่าให้การรักสัตว์อยู่แต่ในแวดวงของนางงามเท่านั้น คุณก็รักสัตว์ได้ด้วยการให้ความเมตตากับมัน  สัพเพ   สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิดอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย...และไม่ดูดายหากพบเห็นผู้ทารุณกรรมสัตว์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที สังคมจะน่าอยู่ขึ้นถ้าทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน...

วัยรุ่นไทยกับความเอาใจใส่ในกิจการสาธารณะ

ครูผู้สร้างคน...ให้เป็น “ฅน”



โดย อ.ประทุมทิพย์  ทองเจริญ
      หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดคำว่า “คน” จึงไม่เขียนด้วย“ฅ” แต่กลับใช้ “ค” แทน ทั้งๆที่เมื่อก่อนเราเคยมีพยัญชนะตัวนี้ใช้ และถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงอยากให้เขียนคำนี้ด้วยพยัญชนะ “ฅ”มากกว่า ผู้เขียนเคยถามผู้รู้หลายคนก็ได้คำตอบนานาจิตตัง หรือการสร้าง “คน”ให้เป็น“ฅน”จะเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่จะเข้าใจ…
        ระยะเวลากว่า 4 ปี ที่ผู้เขียนได้ประกอบอาชีพนี้ ทำให้รู้ว่าการสร้างคนให้เป็นคนยากเย็นแสนเข็นจริงๆ จนทำให้เข้าใจหัวอกของคนที่คิดสำนวนไทยที่ว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” ก็คราวนี้เอง  เพราะนอกจากความรักในอาชีพที่ตนทำแล้ว ยังต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ  มีจรรยาบรรณ  และยังต้องเอาใจเขา(นักศึกษา)มาใส่ใจเรา(อาจารย์) ด้วยเช่นกัน เพราะ “ลูกศิษย์” คือ ผู้เป็นทั้ง“ลูก” และ “ศิษย์” จึงต้องสอนด้วยความรักและความเข้าใจ  ที่สำคัญการเป็นครูอาจารย์จะเป็นตลอดชีวิต เป็นแล้วเป็นเลย ไม่สามารถลาออกจากความเป็นครูอาจารย์จากใจของศิษย์ได้
      ครูคนแรกและครูตลอดชีวิต คือ พ่อ แม่ ท่านจึงเป็นผู้มีพระคุณยิ่งต่อลูกๆ เพราะท่านยังทำหน้าที่เป็นครูของลูกอีกด้วย พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมกล่าวถึงบุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศทั้ง 6ที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะ ปุรัตถิมทิศ หรือ ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน และทักขิณทิศ หรือ ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชาคุณ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่ามีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ควรแก่การนำมาเป็นแบบอย่าง คือ พระสารีบุตร  ซึ่งขณะนอนหลับพระสารีบุตรก็ยังหันหน้าไปทางทิศเบื้องขวาเพื่อแสดงความเคารพและสำนึกในบุญคุณของครูอาจารย์ด้วย   
           คำว่า “ครู” กับ “อาจารย์” มีความหมายคล้ายกัน คือ ผู้อบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่ศิษย์  ซึ่ง”ครู” มักใช้เรียกผู้สอนในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ส่วน “อาจารย์” มักใช้เรียกผู้สอนตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป  แต่ปัจจุบันเรามักพบว่ามีการใช้ 2 คำนี้ในสถาบันการศึกษาปะปนกันไปทุกระดับ  บางครั้งอาจได้ยินหลายคนเรียกรวมกันว่า “ครูอาจารย์” ก็มี  ซึ่งอาจารย์จำนวนไม่น้อยชอบให้ใครต่อใครเรียกตนเองว่า “ครู” เพราะฟังแล้วอบอุ่นและดูเป็นกันเองกว่า  ภาษาจีนเรียกครูว่า “หล่าวซือ”  ส่วนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ จะใช้คำเรียกที่ต่างกัน  เช่น Instructor  Teacher  Lecturer  และ Professor  เป็นต้น
      นักเรียนนักศึกษาหลายคนเคยบ่นให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง(ทั้งต่อหน้าและลับหลัง)ว่าครูอาจารย์มักให้การบ้าน และสั่งงานเยอะ ทำส่งกันมือเป็นระวิง  อยากมี 20 มือเหมือนทศกัณฑ์  อยากมีตัวช่วย  อยากมีมือขยันมาช่วยขยี้(เหมือนผงซักฟอกที่โฆษณา)  อยากเปลี่ยนคำถาม    และมี 3 ตัวช่วยอย่างรายการคุณไตรภพ  สุดท้ายก็ไม่มีใครมาช่วย นอกจาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ หรือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
         ผู้เขียนจึงนำประเด็นนี้ไปพูดคุยในชั้นเรียน และให้ข้อคิดกับนักศึกษาว่า นักศึกษา 1 คน  ทำการบ้าน / งานส่งอาจารย์ไม่กี่ชิ้น ต่ออาจารย์ 1 คน  ขณะที่อาจารย์ 1 คน ต้องอ่าน / ตรวจงานที่สั่งให้นักศึกษาทำทั้งชั้น  ทุกเล่ม ทุกงาน  ทุกชิ้น บางคนลายมืออ่านยากมาก ขนาดนำไปส่องกลางแดดแล้วยังแกะลายมือไม่ออก  ก็ต้องพยายามอ่านและให้คะแนน ด้วยข้อสมมติฐานเบื้องต้นจากการอ่านลายมือที่นักศึกษาเขียนมาว่า “ถูกต้องไว้ก่อน”  เหมือนกับที่ผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีความจะต้องพึงระลึกว่าตราบใดที่ยังหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง  ให้มองว่า “จำเลย”  คือผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนเสมอ...ดังนั้น ไม้บรรทัดของครูอาจารย์หลายคนที่ไว้ใช้สั่งสอน และตีลูกศิษย์ยังนำมาใช้เพื่อสร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมให้เกิดในหัวใจลูกศิษย์ของตนด้วย
         สอนเสร็จก็มิใช่เสร็จแล้วเสร็จเลย ยังมีงาน หรือ การบ้านที่ต้องตรวจอีกมากมาย  ถ้ามีนักศึกษาหลายคนก็ต้องหอบหิ้วกันพะรุงพะรังจนเป็นที่มาของคำพูดที่นักเรียนระดับประถมศึกษาชอบพูดแซวครูว่า “ถือถุง  พุงป่อง  น่องทู่  ครูไทย”  ด้วยเหตุนี้กลางคืนจึงไม่ได้หลับได้นอน  ต้องตรวจงาน/การบ้านให้เสร็จ  ยิ่งช่วงไหนเวลากระชั้นเข้ามามากๆ  ครูหลายคนจึงต้องพึ่งเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง ลิโพ  M-100  M-150  ตลอดจนมีฉลามหลายตัวมา บุกถึงบ้านกันเลยทีเดียว  ถ้าไม่ไหวจริงๆอาจารย์บางคนก็จะตะโกนออกมาดังๆว่า “สู้โว้ย!” โดยยืมคำพูดของน้องไก่ และน้องอร นักยกน้ำหนักมาเรียกขวัญและกำลังใจให้บังเกิดขึ้นอีกทาง  สุดท้าย ถ้าทำทุกอย่างแล้ว ไม่สามารถช่วยได้ จึงต้องฟุบหลับคากองหนังสือ/การบ้านให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย...
        งานการสอนจึงไม่ได้เสร็จสิ้นเพียงแค่ในชั้นเรียน  แต่ยังต่อเนื่องถึงเวลาพัก และเวลาส่วนตัวที่ครูอาจารย์ต้องสละให้กับงานของศิษย์อีกด้วย  เราจึงพบเห็นครูอาจารย์หลายท่าน ขณะที่กินข้าว ก็ดูโทรทัศน์ไปด้วย  พร้อมกับตรวจงานนักศึกษา  และช่วยสอนการบ้านลูกของตนไปด้วยพร้อมๆกัน  จนอาจกล่าวได้ว่า งานการสอนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครูอาจารย์มากกว่า 8 ชั่วโมงของเวลาทำงาน  โดยที่ไม่เคยได้รับโอทีจากใคร...เมื่อมีความรู้ใหม่ๆครูก็ต้องทดลองแบบลองผิดลองถูกให้รู้แจ้งก่อนจะนำไปสอนนักศึกษา จนเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ผิดเป็นครู”เพื่อให้ผู้เรียนได้ความรู้ที่ถูกต้องกลับไป หลายคนจึงเปรียบเทียบครูอาจารย์ว่าเป็นพ่อแม่คนที่สอง ที่ศิษย์ควรให้ความเคารพและสำนึกในพระคุณครูด้วยความกตัญญูกตเวที
ปัจจุบัน การเรียนการสอนแนวใหม่ หันมาให้ความสนใจ “ครูตู้” มากยิ่งขึ้น เช่น การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์   (E-learning) และ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)  ประเด็นนี้ ผู้เขียนลองถามนักศึกษาว่า “มีความคิดเห็นอย่างไรกับครูตู้”  ส่วนใหญ่ตอบว่าชอบเรียนกับครูอาจารย์ตัวจริงเสียงจริงมากกว่าเพราะได้ซักถาม และพูดคุยโต้ตอบได้ นอกจากนี้ พวกเขายังให้เหตุผลว่า การเรียนแบบครูตู้จะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้  ถ้าเรามีเวลา หรือจะเปิดฟังซ้ำอีกหลายรอบก็ย่อมได้  แต่ครูตัวจริงเสียงจริง ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย  ไม่มีการบรรยายซ้ำ  ต้องตามจด Lecture จากเพื่อนเอาเอง ที่สำคัญอ่านลายมือเพื่อนไม่ออกอีกต่างหาก ผู้เขียนมองว่า “ครูตู้”มีประโยชน์มาก กรณีเรียนทางไกล ซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์ และขาดแคลนครูผู้สอนที่เก่งและมีความชำนาญ  ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนจากครูตู้เนื้อหาของการเรียนอาจเหมือนกัน 

ดังนั้น ครูอาจารย์จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก และจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะทรัพยากรเหล่านี้ เคลื่อนที่ได้ และมักจะไปอยู่ในที่ที่พร้อมกว่าเสมอ  ดังที่หลายคนพูดแบบติดตลกว่า“ไปที่ชอบที่ชอบ”อนาคตสถาบันการศึกษาในบ้านเราคงต้องคิดหากลยุทธ์แย่งชิงตัวครูอาจารย์ที่มีคุณสมบัติ เก่ง ดี มีคุณธรรม แบบที่เด็กรัก และรักเด็ก  และคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะรักษาคนแบบนี้ไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ...ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ ครูอาจารย์สมัยใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนนอกห้องเรียนมากขึ้น เช่น การพาไปทัศนศึกษาเรือนจำ การพาไปลงพื้นที่ในชุมชนที่ขายสินค้า OTOP  การที่นักเรียนได้ไปดูสัตว์และแมลงของจริงในป่า เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้  จะเป็นส่วนเติมเต็มและเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้เรียนมากขึ้น  ซึ่งบ่อยครั้งจะพบว่าพวกเขาได้ความรู้ที่นอกเหนือจากตำรา ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงได้


ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยมักคาดหวังให้เยาวชนเก่งทางวิชาการมากกว่าเก่งด้านอื่น ซึ่งจากคำบอกเล่าของอาจารย์ที่เคยไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นจะส่งเสริมการเรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญโดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ (60 : 40) ตามลำดับ  ต่างกับบ้านเราที่ตัวเลขกลับกัน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น จนบางครั้งทำให้นักเรียนที่มีความชอบ และความถนัดที่ไม่ใช่เชิงวิชาการ  เช่น  เก่งพละ  เก่งนาฏศิลป์   เก่งศิลปะ  เก่งดนตรี อดน้อยใจครูและคนในสังคมรอบข้างมิได้ที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนที่เก่งทางวิชาการมากกว่า ซึ่งพวกเขายังคิดต่อไปอีกว่าเก่งแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง  และยังมองว่าคนเก่งวิชาการบางคนซึ่งเป็นที่รักของครูอาจารย์มักเอาเปรียบเพื่อนในห้อง  และเห็นแก่ตัว เมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะใช้ความเก่งกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตนเอง  โดยไม่คำนึงถึงสังคมและส่วนรวมเลยก็มี


ประเด็นนี้ผู้เขียนมองว่าควรสอนให้คนเก่งในสิ่งที่พวกเขารัก ชอบ และถนัด  ตราบใดที่คนยังชอบใช้รถคนละยี่ห้อ คนละรุ่น เราคงไม่สามารถบังคับใจเด็กให้ชอบหรือเก่งทางวิชาการอย่างที่คนส่วนใหญ่คาดหวังได้ทั้งหมด  แต่ควรส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความเสมอภาคกัน เราจึงมีคนไทยที่เก่งระดับโลกอย่าง ธงชัย ใจดี  ประหยัด  มากแสง จาพนม และคนไทยอีกหลายคนที่สร้างชื่อเสียงระดับโลก มากมาย ซึ่งครูอาจารย์ก็คือผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เหมือนแมวมองที่จะช่วยสนับสนุน และชี้แนวทางให้เด็กเหล่านี้ไปถูกทิศ ถูกทางในสิ่งที่เขาอยากเป็น และใช้เรือลำน้อยทยอยส่งศิษย์เหล่านี้ไปสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย  ส่วนหนทางข้างหน้าที่อยู่บนฝั่งจะเป็นอย่างไร  ศิษย์จะต้องนำความรู้ที่ได้จากครูอาจารย์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิต และหน้าที่การงานด้วยตนเอง  โดยมีครูอาจารย์คอยชื่นชมในความสำเร็จของศิษย์เสมอ..
.
           แม้ว่าขากลับครูอาจารย์จะต้องพายเรือกลับมาคนเดียวและอาจต้องเผชิญอุปสรรคแต่เพียงลำพัง แต่ครูอาจารย์ก็ยินดีที่จะพายเรือกลับไปรับลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและท้อแต่อย่างใด ...เพราะมันคืออาชีพที่เขารักและภาคภูมิใจ ที่ได้สร้าง “คน” ให้เป็น“ฅน”